น่าอยู่ด้วยเกษตรอินทรีย์ ที่ชุมชน”บ้านเกาะ”
"โครงการเกษตรอินทรีย์ ลดใช้สารเคมี เพื่อชีวีปลอดภัยและยั่งยืน" จ.สุรินทร์ ใช้แนวคิดชุมชนน่าอยู่สู่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่ภาคอีสาน พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
จากแนวคิด "ชุมชนน่าอยู่" สู่ "เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่ภาคอีสาน" จนได้เป็น 362 ชุมชนต้นแบบ ที่ผลิบานความสำเร็จอยู่ใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสัปดาห์ที่แล้ว
ถึงคราวพาลงพื้นที่ เพื่อพิสูจน์ว่าองค์ความรู้ในเรื่องการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นที่ตั้ง ร่วมกับ "กลไก 8 ก." ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และพัฒนาเป็น "สภาผู้นำชุมชน" หัวใจหลักในการยกระดับความเข้มแข็งให้หมู่บ้าน นั้นทำได้จริง
โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ "โครงการเกษตรอินทรีย์ ลดใช้สารเคมี เพื่อชีวีปลอดภัยและยั่งยืน" ของชาวบ้านบ้านเกาะ หมู่ 3 ต.แจนแวน อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์
กว่า 190 ครัวเรือน ในชุมชนบ้านเกาะประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นเกษตรกร แต่เดิมทุกบ้านนิยมใช้สารเคมีมากน้อยต่างกันไปในการทำการเกษตร ทั้งในนาข้าว ไร่อ้อย แปลงผัก แม้แต่ครัวเรือนที่ปลูกผักไว้รับประทานเองและจำหน่ายในหมู่บ้านกว่า 10 หลัง ก็ยังใช้ปุ๋ยเคมีและฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ส่งผลให้คนในชุมชนและผู้บริโภคได้รับสารพิษเข้าร่างกายอย่างต่อเนื่อง สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และเมื่อทำการตรวจเลือดคนในหมู่บ้าน พบว่าร้อยละ 70 มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในกระแสเลือด ขณะเดียวกันเหล่าเกษตรกรก็ต้องเสียเงินจำนวนไม่น้อย ตกครัวเรือนละ 3,000-30,000 บาทต่อปี และหากคิดเป็นทั้งหมู่บ้านก็น่าตกใจว่าในปี พ.ศ. 2554 ชาวบ้านเกาะจ่ายเงินมากถึง 1,680,268 บาท เพื่อซื้อสารเคมีมาทำการเกษตรหวังให้ผลผลิตงอกงาม ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายตามมา
กระทั่ง สงวน ศิริทวี เกษตรกรตัวอย่างที่หันมาสนใจทำการเกษตรแบบอินทรีย์ พ่วงอีกตำแหน่งคือประธานสมาชิกสภาผู้นำชุมชนบ้านเกาะ ได้นำแนวคิดชุมชนน่าอยู่เน้นเรื่องอาหารปลอดภัย มานำเสนอเป็นทางเลือกให้คนในหมู่บ้านเมื่อต้นปี 2557 ระยะเวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี การดำเนินงานอย่างเข้มแข็งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัดมากมาย
"ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการที่ผมทดลองด้วยตัวเองก่อน ด้วยการปลูกข้าวปลอดสารเคมีจำนวน 12 ไร่ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งก็ได้ผลดีเพราะปุ๋ยที่ใช้เป็นมูลสัตว์แปลงที่ใช้สารเคมีเราได้กำไรมากกว่าหลายเท่าตัว เพราะมีต้นทุนที่น้อยกว่า คิดเป็นเงินที่รวมต้นทุนทุกอย่างแล้วเพียง 4 บาทกว่า ๆ ต่อกิโลกรัม แต่กลับขายได้ราคาสูงกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม หรือตันละ 20,000 กว่าบาท หากผ่านมาตรฐาน มกท. ขณะที่ข้าวอัดสารเคมีจะมีต้นทุนสูงถึงกิโลกรัมละ 9-11 บาทหรือตันละ 9,000-10,000 บาท แต่ขายได้ไม่เกิน
12,000 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่วนตัวได้กำไรจากการทำนาข้าว 1 ครั้งต่อปี เป็นจำนวนเงินกว่า 3 แสนบาท ฉะนั้น เมื่อเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาข้าวผันผวน เราไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย นอกจากร่างกายจะได้รับสารพิษน้อยลงแล้ว ความเป็นอยู่ของเรายังดีขึ้นด้วย" เกษตรกรตัวอย่างแห่งเมืองสุรินทร์ กล่าว หลังจากนำองค์ความรู้เรื่องนาข้าวอินทรีย์ของพี่สงวน มาขยายผลในโครงการชุมชนน่าอยู่ปัจจุบันมีชาวชุมชนบ้านเกาะได้เดินตามรอยจนประสบผลสำเร็จเพิ่มอีก 14 ราย หากคิดเป็นระดับอำเภอมีทั้งหมด 34 ราย จนทุกวันนี้บ้านเกาะกลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาวิถีการทำเกษตรแบบยั่งยืนและปลอดสารพิษ โดยในแต่ละปีมีผู้เข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่า 400 คน
ไม่ใช่แค่ต้นแบบในเรื่องเกษตรอินทรีย์ แต่ทรัพยากรที่มีมากโดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ที่ชาวบ้านยังดำรงความบริสุทธิ์ไว้ตามแบบฉบับคนส่วยอย่างครบถ้วน ชุมชนบ้านเกาะจึงได้รับการยกย่องจากจังหวัดให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ก็ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชนจากเม็ดเงินของนักท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์โอท็อปที่ชาวบ้านนำมาวางขาย
แต่หากสรุปถึงผลการพัฒนาจากโครงการชุมชนโดยละเอียด บ้านเกาะมีจุดเด่นที่น่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ด้วยกลไกสภาผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง 35 คน ก่อให้เกิดกลุ่มต่าง ๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นถึง 14 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองอย่างพอเพียง ที่สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนจาการซื้อปุ๋ยและสารเคมีได้สูงถึง 380,000 บาท กลุ่มทำนา กลุ่มพลังงานทางเลือก กลุ่มดูแลสุภาพด้วยตนเอง เกิดบุคคลต้นแบบด้านการเกษตรอินทรีย์ มีการเชื่อมประสานกับองค์กรภายนอก เช่น สาธารณสุข พัฒนาชุมชน กศน. อบต. เกษตรอำเภอ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายอีกขั้นที่ชาวบ้านเกาะวางไว้ คือการขยายให้ ต.แจนแวน เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งหมดภายใน 4 ปี
ด้าน ส่งเสริม นิยมเหมาะ หัวหน้าสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แจนแวน กล่าวเสริมว่า ไม่ใช่แค่การส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ ทางตำบลยังได้รณรงค์ให้บ้านเกาะเป็นพื้นที่ปลอดเหล้าตามนโยบายของ สสส. ซึ่งทำมาได้ 3 ปีแล้วจนกลายเป็นตำบลนำร่องในเรื่องนี้ เพราะในอดีตการดื่มเหล้าในงานเทศกาลทุกเทศกาลถือเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ ค่าเหล้าตกต่องาน ๆ หนึ่ง บางครั้งสูงถึง 40,000-50,000 บาท แต่ชาวบ้านมีรายได้น้อย และนักดื่มหน้าใหม่ก็อายุน้อยลงเรื่อย เพียง 14-15 ปีก็ดื่มเหล้ากันแล้ว
"เราเริ่มจากขอความร่วมมือให้เป็นงานบุญปลอดเหล้า โดยเป็นมติจากสภาผู้นำชุมชน แล้วใช้ศาสนาเป็นตัวเชื่อม ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ปริมาณการดี่มเหล้าของคนในพื้นที่อยู่ในระดับพอใช้ ทั้งนี้ กิจกรรมที่เราจะทำกันต่อไปก็คือ โครงการหน่วยพัฒนาชุมชน โดยมีภาคีเครือข่ายของ สสส. ร่วมมือ กับ รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอ จัดหาอาสาสมัครในหมู่บ้านชุมชนละ 17 คน ช่วยดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือปรับพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงให้มีการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น" ส่งเสริม ระบุ
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะอาทิตย์หน้าจะพาไปรู้จักอีกชุมชนน่าอยู่ "บ้านคูขาด" ต.หนองแวง อ.หนองแวง จ.สุรินทร์ ไปดูกันว่าชาวบ้านที่นั่น เขาอยู่กันอย่างเป็นสุขได้อย่างไร บนถิ่นข้าวเหนียวที่ไร้ความอุดมสมบูรณ์.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์