น่าห่วง! แม่วัยเด็กพุ่งสูงเกือบ 80,000 คน
สำรวจพบเด็กเครียด ติดคุก เพิ่มขึ้นเร่งรัฐบาลช่วยแก้ไข
โครงการ child watch เผยสถิติแม่วัยต่ำกว่า 19 ปี ทำคลอด พุ่งสูงเกือบ 80,000 คน เด็กติดคุก เพิ่มขึ้น 2,000 คน ด้านสถิติพบเด็กเครียด-นอนไม่หลับถึงร้อยละ 30 และไม่ชอบไปโรงเรียนใช้ชีวิตติดอยู่กับสื่ออย่างแยกไม่ออก เสนอรัฐหนุนกลไกระดับท้องถิ่นขับเคลื่อนเรื่องเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม
(25 ธ.ค.)ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดแถลง “10 สถานการณ์เด่นในรอบปี 2550-2551” จากการสำรวจของโครงการ child watch โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สสส. สำรวจพฤติกรรมเด็กและเยาวชนปี 2551 มีทั้งด้านร้ายและดี 10 สถานการณ์ เพื่อให้ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนัก รวมถึงให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ เปิดเผยว่า 10 สถานการณ์เด่นแบ่งเป็นสถานการณ์ด้านร้าย 5 เรื่องคือ ปัญหาแม่วัยรุ่น ปัญหาเด็กถูกส่งเข้าสถานพินิจ ปัญหาเด็กใช้ชีวิตกับสื่อมากเกินไป ปัญหาความเครียดในเด็ก และสุดท้ายปัญหาเด็กไทยไม่ชอบไปโรงเรียน ส่วนสถานการณ์ด้านดีอีก 5 เรื่อง คือเรื่องการสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับเด็ก การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชน การเริ่มโครงการบ้านหลังเรียน แนวโน้มการดื่มเหล้า-บุหรี่ในเยาวชนลดลง และยังพบอีกว่าเด็กที่ทานน้ำอัดลมมีแนวโน้มลดลง
สำหรับปัญหาแม่วัยรุ่น ในเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี พบว่ามาทำคลอดสูงขึ้น โดยในปี 2550 พบเพียง 68,385 คน แต่ในปี 2251 มีถึง 77,092 คน นอกจากนี้ในปี 2551 พบว่ามีเด็กถูกส่งเข้าสถานพินิจ ถึง 42,102 คน มากกว่าปี 2550 ถึง 2,000 คน และยังพบอีกว่าปัจจุบันเด็กใช้ชีวิตกับสื่อ 6-7 ชม.ต่อวัน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือซึ่งมีการใช้มากขึ้นโดยเฉลี่ยจาก 80 นาที เป็น 90 นาทีต่อวัน
“ในปี 2551 พบว่ามีเด็กเครียดจนปวดท้อง นอนไม่หลับเฉลี่ยถึงร้อยละ 30 ภาวะเครียดนี้จะสูงขึ้นตามระดับการศึกษา โดยนักศึกษาเครียดจากการเรียน การแข่งขัน ความรุนแรงร้อยละ 40 และสุดท้ายคือเด็กที่บอกว่าชอบไปโรงเรียน ก็ลดลงจากร้อยละ 43 เหลือร้อยละ 38 มีเด็กเพียงร้อยละ 26 ที่รู้สึกปลอดภัยมากเวลามาโรงเรียน และมีเพียงร้อยละ 27 ที่อ่านหนังสือเป็นงานอดิเรก” ดร.อมรวิชช์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ด้านดี โครงการ child watchและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในโครงการ “เมืองน่าอยู่สำหรับเด็ก” ทั้งนี้มี อปท. เข้าร่วมแล้วกว่า 240 แห่งใน 26 จังหวัด รวมถึงท้องถิ่นต่างๆ ได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนมากขึ้น โดยริเริ่มโครงการ “บ้านหลังเรียน” เพื่อลดปัญหาขาดกิจกรรมทำหลังเลิกเรียน ในช่วงเวลา 15.00-18.00 น.
“อีกเรื่องที่น่ายินดีคือแนวโน้มการเสพเหล้า-บุหรี่ของเยาวชนลดลง ทั้งนักดื่มหน้าใหม่และนักดื่มประจำ โดยเฉพาะนักเรียน ม.ต้น-ม.ปลายส่วนเรื่องบุหรี่พบว่านักสูบประจำมีจำนวนลดลง และเด็กที่เข้ารับการบำบัดยาเสพติดลดลงจาก 26,000 คนเป็น 23,000 คน แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ควรละเลยเพราะยังมีเด็กที่ต้องโทษเป็นผู้ค้าและผู้เสพสูงขึ้นจาก 10,279 คน เป็น 11,297 คน โดยพบเด็กร้อยละ 13 ยังเห็นการเสพยาเสพติดในสถานศึกษา และสุดท้ายจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของสสส. ทำให้เด็กที่ทานน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เป็นประจำมีแนวโน้มลดลง” ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าว
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพ มีสุขภาวะที่ดีทั้งในเรื่องครอบครัว การศึกษา สุขภาพอนามัย ความปลอดภัย และสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องสร้างกลไกที่ชัดเจน เช่น การมีกองทุนพัฒนาสื่อดีสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นกองทุนที่สนับสนุนให้ผลิตสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ให้ได้รู้เรื่องราวที่เหมาะสมกับวัย และนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชน หรือสร้างกองทุนพัฒนาสังคมที่บริหารจัดการอย่างคล่องตัว มีตัวชี้วัดผลงานความสำเร็จและการติดตามประเมินผลการทำงานอย่างเป็นระบบ
“ควรหนุนกลไกระดับท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ,องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ,เทศบาล ให้ขับเคลื่อนเรื่องเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น อาจขอความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดงบเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงการด้านเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งท้องถิ่นนี้มีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก เห็นได้จากงานที่ทางโครงการ child watch ได้ริเริ่มไว้แล้วใน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายร้อยแห่งทั่วประเทศ จึงอยากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาและสนับสนุนประเด็นเหล่านี้” ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย : นางสาวกรรณิการ์ เอมแสง team content www.thaihealth.or.th
update 16-01-52