นโยบายอาหารเชิงรุกรับ AEC เพื่อคนไทยสุขภาพดี ห่างไกลโรค

เมื่อพูดถึงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 คนทั่วไปมักจะให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีเรื่องราวอีกมากที่ควรคำนึงถึง และควรได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน และหนึ่งในนั้นก็คือ การพัฒนาให้สังคมไทยมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่ “อาหาร” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 ปัจจัยจำเป็นต่อการดำรงชีวิตมนุษย์

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการจัดงานประชุมประจำปีครั้งที่ 1เรื่อง “การจัดการปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: ประเทศไทยพร้อมหรือยัง” ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (ihpp) แผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (fhp) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายในงานมีนักวิชาการ นักโภชนาการชั้นนำจากนานาชาติ เข้าร่วมเสนอแนวทางการรับมือกับภาวะโภชนาการของประชากรอาเซียนที่น่าสนใจอย่างมาก

ลองมาฟังนักวิชาการที่เข้าประชุมเขาพูดถึงความสำคัญในเรื่องนี้กันดีกว่า

ดร.แอน มารี โธว์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพ และด้านการใช้นโยบายด้านภาษีและการค้า เพื่อพัฒนาการบริโภคในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและมีรายได้ปานกลาง มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นเขตการค้าเสรี แม้ว่าไทยจะมีความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุข แต่ก็ต้องทำงานเชิงรุกเพื่อพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป การกำหนดนโยบายจากทางภาครัฐเป็นกลไกที่สำคัญมาก

“นับจากปี 2530 เป็นต้นมา ผลสำรวจในกลุ่มประเทศที่เปิดให้มีเขตการค้าเสรี พบว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านอาหารในประเทศ มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้า ยกตัวอย่างประเทศซามัว ที่เคยมีการนำเข้าตูดไก่งวง แต่เมื่อรัฐบาลพบว่า ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศจึงได้ยกเลิกการนำเข้า การจัดการกับปัญหานี้ต้องดำเนินงานภายใต้การกำหนดนโยบายของรัฐที่รัดกุม เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นภายหลังเปิดเขตการค้าเสรี”

วิธีที่จะลดการนำเข้าอาหารที่ไม่ส่งผลดีกับสุขภาพนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

(1) เก็บภาษีการนำเข้าและการผลิตอาหารที่ไม่มีประโยชน์สูงขึ้น (2) ออกกฎห้ามขายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ (3) ผลิตอาหารสุขภาพเพื่อส่งออกโดยเน้นการผลิตเพื่อคนในประเทศ (4) จัดตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนเทคนิคในการพัฒนาคุณภาพของพืชผลที่ปลูก (5) พิจารณาถึงคุณค่าทางโภชนาการและสุขภาพในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (6) ออกกฎหมายการติดฉลากโภชนาการลงบนซองอาหารสำเร็จรูป และควรให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตอาหารที่มีประโยชน์ การเกษตรแบบดั้งเดิมเกษตรกรที่ปลูกผักและผลไม้ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางอาหาร

ดร.เดวิด สตัคเลอร์ นักวิชาการสาขา london school of hygiene & tropical medicine มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ร่วมวิจัยฯ มองว่า การก้าวเข้าสู่การเปิดเขตการค้าเสรี จะส่งผลให้เม็ดเงินในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ควรคำนึงนอกเหนือ

จากเรื่องของคุณภาพอาหารแล้ว จึงเป็นการป้องกันกลไกทางการตลาดที่จะเข้ามาท้าทายกระบวนการทำงานด้านสาธารณสุขของประเทศ

“กลไกการตลาดของบริษัทยาสูบยี่ห้อหนึ่งในกลุ่มประเทศตะวันตก มีความพยายามที่จะปกปิดข้อเท็จจริงของผลเสียที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ด้วยการหันไปทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องสุขภาพด้านอื่นๆ อาทิ โทษของการติดยาเสพติด หรือดื่มสุรา แม้ประเทศจะมีกฎหมายควบคุมด้านยาสูบ แต่ผลสำรวจจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีการลงมือทำกันอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันน้ำอัดลมบางยี่ห้อ ก็รุกการตลาดด้วยการเป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ ในสังคม เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างได้มากขึ้น”

ฟังความเห็นจากต่างชาติในเรื่องของน้ำอัดลมแล้ว ทำให้ต้องย้อนกลับมาดูสถานการณ์การดื่มน้ำอัดลมของประเทศไทยบ้างพบว่า มีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราผู้บริโภคน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และ 1 ใน 3 ของเด็กไทยกินขนมขบเคี้ยวทุกวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในปีที่แล้ว หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็น่าจะส่งผลเสียต่อระบบสุขภาพของประเทศ

ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับมาตรการภายในประเทศไทยแล้วว่า รัฐบาลจะเลือกป้องกันการไหลเข้ามาของอาหารขยะเหล่านั้นอย่างไร เพื่อป้องกันและส่งเสริมให้คนในประเทศมีสุขภาพดีขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี

Shares:
QR Code :
QR Code