นโยบายรถโดยสารสาธารณะ
ทำได้ทันที สัญจรปลอดภัย ถนนไม่ติดขัด(1)
“เหตุที่ต้องสนใจเรื่องระบบรถโดยสารสาธารณะก็เพราะว่ามักมีข่าวคราวอุบัติเหตุของรถเหล่านี้ไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ ซึ่งชนวนที่ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมบ่อยครั้งก็เป็นเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่ว่าความพร้อมของรถโดยสารคนขับฯลฯ” แรงดลใจของ น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่นหนึ่งในคณะวิจัยเรื่องนโยบายสาธารณะ เรื่องรถโดยสารสาธารณะแถลงไขทันทีเมื่อถูกถามถึงสาเหตุที่ได้มาทำวิจัยเรื่องนี้
แน่นอนว่าเมื่อในอดีตจำนวนยานพาหนะยังไม่มากมายขนาดนี้ แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวไกล มนุษย์ต้องการความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น ยานพาหนะทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากข้อมูลที่สนับสนุนนโยบายรถโดยสารสาธารณะของ น.พ.วิทยา ขณะนี้มีถนนเพียง 60 เซนติเมตรต่อคน เพราะมีจักรยานยนต์จดทะเบียนเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านคันซึ่งสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากไต้หวัน นอกจากนี้ไทยต้องจ่ายค่านำเข้าน้ำมันวันละเกือบ 1 พันล้านบาท
คนไทยที่ตายจากอุบัติเหตุจราจร 80% ขับขี่มอเตอร์ไซค์ปีละ 1 หมื่นคน สภาพปัญหาจราจรที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมีผลถึงต้นทุนการขนส่งสินค้าและบริการที่ต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อมีการใช้เครื่องยนต์ มีการเผาใหม้ ย่อมก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อมตลอดจนการเกิดอุบัติภัยทางการจราจรและผลเสียต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ข้อมูงในงานวิจัยดังกล่าวยังอ้างไปถึงรถโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุ 4 พันคันต่อปี และมีแนวโน้มเกิดขึ้นมากขึ้นเสียชีวิตหลายพันคน อุบัติเหตุแต่ละครั้งคิดมูลค่าความสูญเสียเฉลี่ยกว่า 2 ล้านบาท หรือรวมประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี ด้วยเหตุเช่นนี้เองทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังคงไม่มั่นใจในการเดินทางด้วยรถโดยสารสารธารณะ เพราะประชาชนที่ต้องนั่งรถโดยสารในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ มีเพียง 14% เชื่อว่ารถโดยสารสาธารณะปลอดภัย
เฉพาะในปี 2550 มีข่าวสะเทือนขวัญ อุบัติเหตุหมู่ที่เกิดจากรถโดยสารหลายครั้ง เช่น รถคณะครูคว่ำที่ ดอยสะเก็ดตาย 17 ศพ รถโดยสารประสานงานเสียชีวิต 12 ศพ ที่จ.นครราชสีมา รถโดยสารสายยโสธรไฟไหม้ ตาย 30 ศพ ยังไม่รวมรถเมล์ใน กทม.ที่มีข่าวอุบัติเหตุรายเดือน แต่เมื่อเทียบกับขนส่งมวลชนด้วยเครื่องบินแล้วในปีนี้มีเครื่องบินตกเพียง 8 ครั้ง แต่เกิดกับเครื่องบินโดยสารเพียงครั้งเดียว กรณีวันทูโกที่เพิ่งผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 91 ราย ส่วนที่เหลือ 7 ครั้ง เป็นการบินของทหาร ตำรวจ เกษตรกร มีผู้เสียชีวิตรวม 13 ศพ เมื่อเทียบกับคนไทยที่ต้องตายบนท้องถนนวันละ 33 คน
ทั่วโลกพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากการโดยสารเครื่องบิน 1 ศพ ต่อผู้โดยสาร 52.6 ล้านคน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากการโดยสารรถยนต์ 1 ศพ ต่อผู้โดยสาร 7.6 ล้านคน ซึ่งเครื่องบินถือว่าปลอดภัยกว่า 6.9 เท่า
นอกจากนั้น ยังไม่มีหลักประกันว่ารถโดยสารได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจริงเพราะจากผลการศึกษาพบว่ารถที่มีคุณภาพ จริงๆ ตกมาตรฐานถึง 10 คันแต่เมื่อเข้ารับการตรวจ ณ หน่วยตรวจที่ราชการรับรอง พบว่า 9 ใน 10 สามารถผ่านการตรวจได้ ในส่วนของผู้ขับขี่ที่ทุกวันนี้ 50% ของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะที่เป็นผู้กุมชุตาชีวิตของผู้โดยสารมากมายจนระดับการศึกษาชั้นประถมศึกษา มีรายได้ต่ำและหัดขับรถกันเองไม่เพียงเท่านั้นสิ่งที่น่าอดสูคือหนึ่งในสามของพนักงานขับรถต้องขับติดต่อกันมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน เหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับการขาดมาตรฐานของบริษัทผู้รับสัมปทาน และการตรวจสอบมาตรฐานของราชการ ฯลฯ ที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น
ในฐานะผู้บริโภคทำได้เพียง “จำทน จำยอม” ฝากชีวิตพึ่งพารถโดยสารสาธารณะที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และไม่มีหน่วยงานใดปกป้องสิทธิด้านความปลอดภัยอย่างฝืนเสียมิได้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 26-08-51