‘นโยบายผู้สูงอายุ’ จะไปทางใด?
ที่ผ่านมา “สกู๊ปหน้า 5” ติดตามสถานการณ์ “สังคม ผู้สูงอายุ” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มมีนักวิชาการบางรายออกมาเตือนถึงวิกฤติดังกล่าว ว่าปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุกว่า 9 ล้านคน พร้อมๆ กับอัตราการเกิดของประชากรรุ่นใหม่ลดลง จนต้องคิดถึงสวัสดิการผู้สูงอายุมากขึ้น ทั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ระบบต่างๆ ในเมืองที่เอื้อให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนการขยับตัวของภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการรับมือปัญหานี้
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกองค์กรหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการเพื่อผู้สูงอายุมาโดยตลอด อย่างเมื่อปลายปีที่แล้ว มีการจัดเสวนาเรื่อง “การขยายอายุการทำงาน : บทเรียน จากต่างประเทศและบริบทสำหรับสังคมไทย” ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กทม. เปรียบเทียบนโยบาย ผู้สูงอายุของ 5 ชาติ ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
ดร.สวรัย บุณยมานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ปภัศร ชัยวัฒน์ อาจารย์ภาคบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า สหราชอาณาจักรกำหนดวัยเกษียณตั้งแต่ปี 1949 (พ.ศ.2492) เพศชายอยู่ที่อายุ 65 ปี หญิงอยู่ที่ 60 ปี
แต่ในปี 2020 (พ.ศ.2563) มีนโยบายยืดวัยเกษียณสำหรับแรงงานหญิงออกไปอีก 5 ปี เป็น 65 ปี เท่าแรงงานชาย และในระยะยาว จะมีการยืดวัยเกษียณออกไปมากขึ้น โดยเพิ่มเป็นอายุ 66 ปี ในปี 2030 (พ.ศ.2573), อายุ 67 ปี ในปี 2040 (พ.ศ.2583) และอายุ 68 ปี ในปี 2050 (พ.ศ.2593)
ในสังคมสหราชอาณาจักร มีการถกเถียงเรื่องนโยบายเกษียณอายุอย่างมากมาย เช่นในกระทรวงแรงงาน ข้อโต้เถียงมุ่งเน้นไปยังความชอบธรรมของการเปลี่ยนแปลง และข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเพื่อยกระดับสุขภาพของประชาชนและความสงบของสังคม ข้อกังวลใจของแรงงานในด้านการจ้างงานเมื่อแรงงานไม่สามารถเกษียณอายุได้ จะสามารถทำงานในระบบงานต่อไปได้หรือไม่ หรือการลดน้อยลงของโอกาสได้งานทำของแรงงานรุ่นใหม่
นอกจากนี้ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กรณีไม่มีการศึกษาเวลาที่เหมาะสมในการขยายอายุเกษียณ การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อผู้สูงอายุ การเปลี่ยนทัศนคติในการว่าจ้างแรงงานสูงอายุ ความไม่เท่าเทียมของการมีอายุยืนยาวของแรงงาน (ระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชาย) และการจัดการทางด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม เป็นต้น
ถัดจากเกาะอังกฤษ นักวิชาการทั้งสองพาข้ามช่องแคบมายังประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แต่รัฐบาลยังคงปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ให้ในการเลือกตั้ง แม้จะได้คำเตือนจากสหภาพยุโรป (EU) ถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้น ทว่ารัฐบาลได้ให้เหตุผลถึงความยุติธรรมแก่แรงงานที่ทำงานมาเป็นเวลานาน และอาจมีการอาจมีการทบทวนถึงมาตรการ ปฏิรูปนโยบายอายุเกษียณบางส่วนของรัฐบาลชุดก่อน
ในฝรั่งเศส กฎหมายปี 1982 (พ.ศ.2525) กำหนดการเกษียณอายุที่ 65 ปี แต่ในปี 1989 (พ.ศ.2532) ลดลงเป็น 60 ปี เพราะมีกระแสต่อต้านจากประชาชน ยกเว้นหน่วยงานภาครัฐ สามารถจ้างได้ถึงอายุ 70 ปี ที่ต้องจับตามอง คือในฝรั่งเศสมีการเปลี่ยนแนวคิดในด้านนโยบายอายุเกษียณโดยตลอด
โดยจากผลการศึกษา พบว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวแปรต่อนโยบายการเกษียณของฝรั่งเศส คือการถูกใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมือง ดังจะเห็นได้จากการประกาศของประธานาธิบดี Francois Hollande ที่ได้ประกาศถึงการดำเนินการในการลดอายุเกษียณกลับมาที่ 60 ปี (รัฐบาลชุดก่อนหน้า กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 62 ปี)
จากทวีปยุโรป เรามาดูสิงคโปร์ เพื่อนร่วมประชาคมอาเซียนกันบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าเกาะเล็กๆ แห่งนี้วางระบบไว้ดีมาก โดยออกแบบระบบการเงินและสังคมให้คนในประเทศไว้ในรูปที่เรียกว่า กลไกหลักในระบบคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ได้แก่กองทุน Central Provident Fund (CPF) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1955 (พ.ศ.2498)
กองทุนดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่สมาชิกยามเกษียณอายุจากการทำงาน และเป็นการส่งเสริมการออมด้วยตนเองภาคบังคับ ปัจจุบันครอบคลุมไปถึงการรักษาพยาบาล การซื้อบ้าน และการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เดิมนั้นสมาชิกสามารถถอนเงินออมจากกองทุน CPF ได้ทั้งหมดเมื่ออายุ 55 ปี แต่ในปัจจุบัน สมาชิกจะสามารถถอนเงินออมได้ ก็ต่อเมื่อได้กันเงินขั้นต่ำจากกองทุน CPF (CPF Minimum Sum) ที่จะใช้เพื่อการเกษียณอายุตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
ข้อโดดเด่นของสิงคโปร์ คือการระบบสวัสดิการสังคมที่ เน้นพึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยเป็นการวางแผนอายุเกษียณของแรงงานมากกว่ารูปแบบรัฐสวัสดิการ ประชาชนจำเป็นต้องมีการวางแผนในช่วงอายุเกษียณ ทั้งในด้านรายได้และการดูแลสุขภาพ
ต่อกันที่เกาหลีใต้ ที่นี่ภาคเอกชนมีการเกษียณอายุที่ 55 ปี แต่กฎหมายที่เพิ่งออกในปี 2013 (พ.ศ.2556) เพิ่มเป็นเกษียณอายุที่ 60 ปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เริ่มปี 2016-2017 (พ.ศ.2559-2560) โดยแนวทางการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการการขยายอายุเกษียณ ประกอบไปด้วยการทำงานคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 4 คน ผู้แทนสหภาพแรงงาน 3 คน และ ผู้แทนภาคประชาสังคมอีก 5 คน ใช้เวลาในการศึกษา 1 ปี
มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ นำเอาความเห็นนี้ไปวิเคราะห์ และได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องมีการขยายการเกษียณอายุ ในวันที่ 28 เม.ย. 2013 รัฐสภาเกาหลีใต้ได้ผ่านกฎหมายกำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี สำหรับผู้ที่ทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยสำหรับเอกชนนั้น สถานประกอบการที่มีขนาดตั้งแต่ 300 คน ขึ้นไป จะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2016 ส่วนหน่วยงานที่เหลือจะต้องดำเนินการให้ครบในปีถัดไป
ปิดท้ายที่ประเทศญี่ปุ่น รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปบทเรียนการเกษียณอายุของญี่ปุ่น แรกเริ่มชาวญี่ปุ่นเกษียณอายุที่ 55 ปี เฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่และไม่มีกฎหมายบังคับ (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) แต่ปัจจุบันมีอายุเกษียณที่ 65 ปี บังคับโดยกฎหมายมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2013
ส่วนภาครัฐเริ่มต้นจาก การแสดงความจำนง ออกจากงานเองโดยความสมัครใจ (แต่ได้รับการแนะนำบอกกล่าวโดยผู้บังคับบัญชา) ปัจจุบัน อายุเกษียณ 60 ปี แต่บางสายงาน บางอาชีพอาจจะมีอายุเกษียณที่มากหรือน้อยกว่าก็ได้ตามความเหมาะสม
อ.วรเวศม์ อธิบายถึงโครงสร้างนโยบายผู้สูงอายุของญี่ปุ่นว่า ระบบบำนาญของญี่ปุ่นเป็นระบบ 3 ชั้น เพื่อรองรับงานเกษียณอายุอย่างเป็นระบบ คือ 1.ระบบบำนาญภาคสมัครใจของปัจเจกบุคคล บริษัทจัดให้เกือบทั้งหมดอยู่ในรูปแบบส่วนบุคคล มีระบบทั้งสำหรับลูกจ้างและผู้ไม่ใช่ลูกจ้าง 2.ระบบบำนาญตามกลุ่มอาชีพเฉพาะ เช่น ลูกจ้างเอกชน,ข้าราชการ, ครูเอกชน,จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามรายได้ เป็นเงินบำนาญตามรายได้ และ 3.ระบบบำนาญถ้วนหน้า ประชาชนทุกคนเป็นสมาชิก มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน โดยเงินบำนาญคงที่ต่อเดือนเริ่มรับอายุ 65 ปี
สำหรับประเทศไทย ในวงเสวนามีความเห็นร่วมกันว่า ประเทศไทยต้องมองตัวเองให้ชัดก่อน ว่าจะยึดโยงวิธีคิดแบบตะวันตกหรือตะวันออกในการดูแลผู้สูงอายุ หรือการมองให้ไกลกว่าตัวเลขผู้สูงอายุที่จะเสนอให้มีการขยายเวลาเกษียณเพราะแม้กระแสคนทั้งโลกจะมีอายุยืนยาว แต่ผู้สูงอายุทุกคนก็ต้องการหลักประกันการมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพเช่นเดียวกัน การวางแผนให้สังคมเห็นภาพ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ที่สำคัญที่สุด..คือจุดยืนและท่าทีของรัฐบาลที่ชัดเจนในการผลักดันเรื่องนี้ ว่าจะเดินไปในทิศทางใด ดังนั้นหากวันนี้ที่กระแสปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกำลังเบ่งบาน ก็น่าจะนำเรื่องของสังคมผู้สูงอายุเข้าไปร่วมพิจารณาด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า