นึกถึงยาสักนิด เมื่อคิดจะเดินทาง

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


นึกถึงยาสักนิด เมื่อคิดจะเดินทาง thaihealth


แฟ้มภาพ


ผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว ควรจะเตรียมตัวที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะถ้าไปในถิ่นที่ไม่มีหมอหรือหาหมอยาก การเตรียมตัวอย่างหนึ่งก็คือ หายาติดไม้ติดมือไปบ้าง


ไม่ว่าใครจะไปทางไหน โรคภัยไข้เจ็บก็มักจะแห่เข้ามาหา เพราะต่างที่ต่างถิ่น ผิดฟ้าฝนผิดอากาศ ผิดอาหารและน้ำ ฯลฯ ทำให้ความต้านทานของร่างกายลดลง ประกอบกับเชื้อโรคซึ่งชุกชุมในที่ต่าง ๆ เมื่อได้เจอคนแปลกหน้า ก็มักจะชอบเข้ามาทักทาย เพราะคนแปลกหน้ามักจะขาดภูมิต้านทานเชื้อ ซึ่งผิดกับคนในท้องถิ่นนั้น


ยาสำหรับการเดินทาง อาจจะแบ่งออกเป็น 3 จำพวก คือ


ก. ยาประจำตัว  คือ ยาที่ต้องใช้เป็นประจำสำหรับคน ๆ นั้น จะเป็นยาหอม ยาลม ยาดม หรือยาอื่นใดที่จำเป็นจะต้องใช้ โดยที่หมอที่ดูแลรักษาอยู่สั่งไว้ให้ โดยเฉพาะยาที่ได้รับการกำชับว่า ให้กินเป็นประจำ จะขาดหรืองด หรือแกล้งทำเป็นลืมไม่ได้ ยาจำพวกนี้จึงแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน แล้วแต่ว่าคน ๆ นั้น มีอาการและโรคประจำตัวอะไรบ้าง


ข. ยาทั่วไป  คือ ยาทั่ว ๆ ไป สำหรับแก้อาการ และแก้โรคภัยไข้เจ็บที่พบบ่อยในการเดินทาง ยาในจำพวกนี้ เช่น


  1. ยาแก้ปวด เช่น แก้ปวดหัว ปวดหลัง ปวดเมื่อย ปวดข้อ ปวดกระดูก เป็นต้น
  2. ยาลดไข้ เช่น เวลาเป็นไข้หวัด หนาว ๆ ร้อน ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว หรือเวลามีไข้สูงจนหนาวสั่น อาจใช้ยาลดไข้
  3. ยาแก้เมา คือ ยาที่ช่วยลดอาการหรือใช้ป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ (เมาคลื่น) เมาเครื่องบิน หรือเมาจากการเดินทางอื่น ๆ ยกเว้นเมาเหล้า
  4. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หรือสะอึก ติดต่อกันนาน ๆ และไม่หายด้วยวิธีแก้ไขตามธรรมดา เช่น ดื่มน้ำ กลั้นหายใจ หรืออื่น ๆ
  5. ยาแก้เครียด แก้กังวล หรือนอนไม่หลับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับคนบางคนที่แปลกสถานที่ แปลกถิ่น หรือเดินทางไปเพื่องานหรือธุรกิจต่าง ๆ
  6. ยาแก้ปวดท้อง อาการปวดท้องมีหลายประเภท การใช้ยาขึ้นอยู่กับอาการปวดท้องนั้นว่า เป็นชนิดใด
  7. ยาแก้ท้องเดิน โดยทั่วไป อาการท้องเดิน ท้องร่วง เป็นการป้องกันตัวเองของกระเพาะลำไส้ที่พยายามจะขับถ่ายสิ่งเป็นพิษ (เช่น อาหารเป็นพิษ เชื้อโรค) ออกจากร่างกาย ดังนั้น ถ้าไม่ถ่ายท้องมาก จนท้องเดินเป็นน้ำหลายครั้ง หรือมากจนร่างกายอ่อนเพลีย ก็มาควรจะต้องใช้ยาไปอุดการถ่ายไว้ มิฉะนั้นอาจทำให้ท้องอืดหรือไม่สบาย เพราะสิ่งที่เป็นพิษยังถูกเก็บไว้ในกระเพาะลำไส้ ในขณะท้องเดินมาก ให้หยุดกินอาหารทุกชนิดไว้ก่อน กินได้แต่น้ำชาจีนอ่อน ๆ น้ำข้าวใส่เกลือนิด ๆ และน้ำมะพร้าว พอท้องเป็นปกติแล้ว จึงลองกินอาหารอ่อน ๆ ถ้าไม่เป็นอะไร จึงเปลี่ยนเป็นอาหารปกติ
  8. ยาระบาย สำหรับคนที่ท้องผูก หรือถ่ายไม่ค่อยออก 
  9. ยาแก้แพ้ สำหรับแก้อาการคัน ลมพิษ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม 
  10. ยาแก้ไอ อาจใช้น้ำมะนาว น้ำเก๊กฮวย มะขามป้อม หรือลูกอมที่ซ่าเย็น เพื่อลดการระคายคอ แทนยาได้
  11. ยาใช้ภายนอก เช่น


  • ยาหยอดตา เพื่อแก้อาการตาอักเสบตาแดง
  • ยาทาแก้ผื่นคัน หรือแมลงสัตว์กัดต่อย อาจใช้ยาสมุนไพรในท้องถิ่น หรืออาจใช้ขี้ผึ้งทา
  • ยาทาแก้ปวดบวมเคล็ดยอก อาจใช้ความร้อน เช่น กระเป๋าน้ำร้อน ใบพลับพลึงย่างไฟจนอ่อน ประคบหรืออาจใช้ขี้ผึ้งแก้ปวดบวม ขี้ผึ้งน้ำมันระกำ หรือยาหม่อง
  • ยาดมแอมโมเนีย (เหล้าแอมโมเนียหอม) ใช้ดมแก้อาการเป็นลมวิงเวียน มืดหน้า หรือทาแก้พิษแมลงกัดต่อย ถูกพิษแมงกะพรุน หรือถูกพืชมีพิษ
  • ยาใส่แผล เช่น ยาแดง ทิงเจอร์ไอโอดีน  แอลกอฮอล์ ใช้เช็ดล้างหรือใส่แผลเพื่อฆ่าเชื้อโรค
  • ผ้าปิดแผล เช่น ผ้าพันแผล ผ้ากาวปิดแผล


ค. ยาพิเศษ คือ ยาที่ใช้สำหรับการป้องกันโรคบางชนิดที่มีชุกชุมในท้องถิ่นที่จะไป ที่สำคัญในบ้านเรา คือ


  1. ยาป้องกันโรคมาลาเรีย (ไข้ป่า ไข้จับสั่น) ซึ่งยังมีชุกชุมในป่าเขาละเนาไพรในประเทศไทย ผู้ที่จะไปเที่ยวป่า เที่ยวน้ำตก เที่ยวเขา (เช่น เขาใหญ่ ภูหลวง) จึงควรจะกินยาป้องกันโรคมาลาเรียด้วย
  2. ยาทาหรือยาพ่น (สเปรย์) ป้องกันแมลงหรือสัตว์กัดต่อย เช่น ป้องกันยุง ป้องกันทาก หรืออื่น ๆ หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป


หลายคนอาจคิดว่า นี่เราจะต้องยกร้านขายยาหรือตู้ยาติดตัวไปด้วยหรือนี่ ที่จริงแล้ว ยาที่ควรนำติดตัวไปคงมีไม่ถึง 10 อย่าง และราคาคงไม่เกินหนึ่งร้อยบาทรวมทั้งหมด ควรอ่านและเลือกดูเพราะคนที่ไม่เมารถเมาเรือ ก็ไม่จำเป็นต้องพกยาแก้เมาไป คนไม่เครียดไม่กังวลเวลาไปเที่ยว ก็ไม่จำเป็นต้องพกยาแก้เครียด แก้กังวลไป หรืออื่น ๆ เพราะฉะนั้น ยาที่จำเป็นสำหรับการเดินทางทั้งหมด เมื่อรวมกันแล้วคงใส่ไม่เต็มกระเป๋ากางเกงผู้ชาย หรือกระเป๋าถือผู้หญิง นอกจากจะเตรียมไปสำหรับคนหลาย ๆ คน หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาอยู่หลายชนิด

Shares:
QR Code :
QR Code