“นิ่งเฉย=เพิ่มความรุนแรงในครอบครัว”
ชี้! “เหล้า” ปัจจัยกระตุ้น
ถึงแม้ตลอดทั้งปี 2551 ที่ผ่านมา ได้มีหลายหน่วยงานร่วมกันรณรงค์ให้สังคมไม่นิ่งเฉยเมื่อพบเจอความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่เริ่มเปิดตัวมาใหม่ ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นกฎหมายที่มีมาตรการป้องกัน เยียวยาผู้กระทำและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ไม่ให้เกิดซ้ำและทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็ยังพบว่าปัญหาความรุนแรงดังกล่าวนั้นไม่ได้ลดน้อยลดแต่อย่างใด
คงเป็นเพราะค่านิยมแบบดั้งเดิมของคนในสังคมไทย ที่ยังมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว และยังยึดติดกับทัศนคติที่ว่า ผัวเมียตีกันอย่าเข้าไปยุ่ง เดี๋ยวเขาก็ดีกัน แต่ภายหลังกลับพบว่าคนในครอบครัวนั้น ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไปเสียแล้ว โดยเฉพาะในหลายครอบครัวที่สามีคือ “เจ้าชีวิต” จะทำอะไรก็ไม่สนใจกฎหมาย แถมยังพูดว่า เมียไม่เชื่อฟัง เถียง จึงต้องตบตี หรือเมียผม ผมเสียเงินค่าสินสอด ผมจะทำอย่างไรก็ได้ ซึ่งแต่ละคำที่หยิบยกออกมานี้ล้วนออกมาจากคำบอกเล่าของ “เมีย” ที่มาปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี และทางมูลนิธิเพื่อนหญิงเองก็ได้รวบรวมเอาไว้หลากหลายรูปแบบ
“การนิ่งเฉยของสังคมเท่ากับการเพิ่มความรุนแรงในครอบครัว” จึงเป็นหนึ่งในหัวข้อการสนทนาที่หยิบยกเอาประเด็นที่เป็นคดีความร้อนๆ เกี่ยวกับเรื่องการกระทำความรุนแรงในครอบครัว จากอดีตจนถึงปัจจุบันมาถกให้เห็นถึงสิทธิและเสรีภาพของเด็กและสตรี ที่ถือว่ายังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะสังคมไทยยังคงเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และมองว่ามันเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ
การเสวนาในวันนี้เน้นหนักไปที่การหยิบเอากรณีศึกษาของ ด.ญ.ดุ๋ย (นามสมมติ) อายุ 12 ปี ซึ่งเป็นคดีความของเด็กที่ถูกบิดาทำร้ายร่างกายจนเด็กต้องหนีออกจากบ้าน โดย น.ส.ดรุณี มนัสวาณิช ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี จ.นนทบุรี เป็นผู้รับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวและนำมาบอกเล่าเป็นกรณีศึกษาว่า
“เคสนี้เป็นกรณีของเด็กหญิงที่หนีออกจากบ้าน เพราะถูกบิดาทำร้ายร่างกายโดยวิธีการทุบตีตามร่างกาย และเอาหม้อทุบที่ศีรษะ ในบางครั้งก็จะถูกลงโทษโดยวิธีกล้อนผมให้สั้นเหมือนเด็กผู้ชาย ทางเจ้าหน้าที่สืบค้นข้อมูลจนรู้ว่า บิดาของเด็กหญิงคนนี้เป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งเป็นถึงระดับเสนาธิการฯ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่เด็กถูกทำร้ายร่าง ด.ญ.ดุ๋ยถูกส่งไปอยู่ที่มูลนิธิสวนแก้วเป็นเวลา 1 คืน วันรุ่งขึ้นทางศูนย์ฯ ได้ส่งเรื่องไปที่ สน.บางบัวทอง แต่เจ้าหน้าที่ต้องการให้ไกล่เกลี่ย เพราะเกรงกลัวอิทธิพลพ่อขอเด็ก”
“คดีนี้ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร เพราะพ่อของเด็กไม่ยอมให้ดำเนินคดีความ ทั้งๆ ที่ศาลพยายามไต่สวน แต่เขาก็ยื่นหนังสือคัดค้านอยู่เรื่อยมา โดยเขาให้การว่า นี่คือวิสัยของทหารที่เวลาลูกทำผิดก็ต้องลงโทษลูกในลักษณะนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เขาต้องการนำตัวลูกกลับบ้าน พร้อมทั้งมีการข่มขู่เจ้าหน้าที่อยู่เป็นระยะๆ ว่า หากไม่ให้ลูกคืนกับเขา เขาจะไม่รับประกันความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของเราลนลานกันมาก เพราะพ่อของเด็กได้โทร.มาหาที่ศูนย์ฯ บอกว่าจะเข้ามาเยี่ยมลูกสาว ซึ่งเป็นทางผ่านที่เขาจะนำกำลังพลไปออกรบที่ภาคตะวันออกอยู่พอดี ปรากฏว่าเขามาจริง และนำทหารมา 1 คันรถ พร้อมอาวุธสงครามครบมือ” ผอ.กล่าวต่อว่า “บอกตรงๆ ว่าเจอเคสแบบนี้แล้วเครียดมาก เราเอาคดีนี้เข้าที่ประชุมหลายครั้งและยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะพ่อของเด็กเขาปิดประตูทุกด้าน ไม่ยอมฟังใครแม้กระทั่งศาล”
พ.ต.ท.หญิง จรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์ พนักงานสอบสวนหญิง กล่าวถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ว่า “มีคดีความร้องทุกข์เกี่ยวกับเรื่องการกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งถือว่า พ.ร.บ. นี้มีความละเอียดอ่อนมากๆ และพนักงานสืบสวนถือเป็นปราการด่านแรกที่จะต้องรับเรื่องราวร้องทุกข์ ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้อย่างชัดเจน แล้วค่อยๆ กระจายความรู้ไปยังเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ ต่อไป ซึ่งเมื่อเจอคดีความที่เป็นคดีหนักๆ แบบนี้คงต้องอาศัยทีมเวิร์กเป็นส่วนสำคัญ”
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยสถิติความรุนแรงตลอดทั้งปี 2551 จากการรับคำปรึกษาของศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง พบว่าจากผู้มาขอคำปรึกษา 594 ราย ต้องการฟ้องหย่าจำนวน 118 ราย โดยฝ่ายที่ต้องการหย่าเป็นผู้หญิงสูงถึงร้อยละ 91 สำหรับสถิติคดีอาญากรณีความรุนแรงในครอบครัว พบว่า จากผู้ที่มาขอรับคำปรึกษา 115 คน พบลักษณะการถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายมากที่สุดร้อยละ 43 รองลงมา คือ ข่มขืน กระทำชำเรา และพยายามฆ่า โดยมีเหล้าเป็นปัจจัยกระตุ้นถึงร้อยละ 31
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update 06-05-52