นิยามความสุขของคนกรุง สุขภาพดี-มีน้ำใจ
สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความสุขของคนกรุงเทพ ทั้งชายและหญิง อายุ 20-45 ปี จำนวน 1,037 คน ในเขตธุรกิจสำคัญไปเมื่อตุลาคม–พฤศจิกายน 2555 พบว่า
ความสุขในภาพรวมของคนกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.37 จาก 5 เมื่อถามถึงนิยามชีวิตที่ดีและมีความสุขคืออะไร ร้อยละ 23 ระบุว่า คือการมีสุขภาพที่ดี ร้อยละ 18 คือการได้ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ ร้อยละ 14 ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ร้อยละ 12 ชีวิตสมดุล และร้อยละ 10 มั่นคง-ร่ำรวย
ส่วนปัจจัยที่ทำให้มีความสุขกับการทำงานนั้น ร้อยละ 22 ระบุว่ามาจากความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ร้อยละ 17 บอกเพราะเพื่อร่วมงานที่ดี และร้อยละ 17 เลือกตอบว่าเพราะมีเงินเดือนสูง
ขณะที่กิจกรรมยามว่างที่ทำให้มีความสุขที่สุด คือ การท่องเที่ยว ร้อยละ 14 ฟังเพลงและดูหนัง ถูกเลือกเท่ากันที่ร้อยละ 12 และการทำบุญ ร้อยละ 11 ด้านการสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ ร้อยละ 36 ระบุว่าต้องเห็นแก่ตัวน้อยลง ร้อยละ 32 ต้องพร้อมช่วยเหลือสังคมและผู้อื่นเสมอ
ถามว่าความสัมพันธ์แบบใดทำให้ชีวิตมีความสุข ร้อยละ 57 ตอบว่า ความสัมพันธ์ที่ยืนยาวแบบมีอนาคตร่วมกัน ขณะที่ร้อยละ 17 เชื่อว่าคือการอยู่เป็นโสด ส่วนร้อยละ 13 บอกว่าคบกันสบายๆ ไม่ต้องมีข้อผูกมัด
สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการเพื่อช่วยให้มีความสุขยิ่งขึ้น ร้อยละ 40 ชี้ว่าควรมีน้ำใจต่อกันและลดการเห็นแก่ตัว ร้อยละ 31 ให้อภัยกันและสามัคคีมากขึ้น ส่วนการแก้ไขปัญหาสังคมที่ทำให้ชีวิตมีความสุข ร้อยละ 32 เชื่อว่าต้องแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและค่าครองชีพให้ได้ ส่วนร้อยละ 16 ต้องแก้ปัญหาด้านการเมืองและคอร์รัปชัน
ทั้งนี้ยังสำรวจทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งส่งผลต่อชีวิตที่มีสุข โดยคนกรุงเทพฯ ยกให้โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มให้ชีวิตมีความสุขเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 32 ขณะที่โทรทัศน์และโน้ตบุ๊คเป็นอันดับรองลงมา ร้อยละ 24 และ 19 นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เชื่อว่า เทคโนโลยีที่จะช่วยให้มีความสุขมากขึ้น คือ มีสัญญาณไวไฟฟรีและแรง ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์