“นิทาน” เสริมทักษะชีวิตเพื่อน้องๆ เด็กพิเศษ

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว มักเป็นประโยคขึ้นต้นสำหรับการเริ่มเล่านิทานเรื่องใดก็ตาม และมักจะเป็นสิ่งจูงใจให้เหล่าเด็กน้อยสงบ พร้อมกับความตั้งอกตั้งใจ เตรียมพร้อมเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ หยิบยื่นให้…

สำหรับเด็กๆ แล้ว นิทานเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งความสนุกสนานที่ได้รับ ความรู้ และการส่งเสริมในเรื่องของศีลธรรม นิทานช่วยเรื่องพัฒนาการพื้นฐาน เด็กจะได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น หู ตา รวมถึงสมอง ขณะอ่านนิทานให้เจ้าตัวน้อยฟัง หากให้เด็กนั่งตัก เจ้าหนูก็จะได้รับความอบอุ่นจากสัมผัสไปด้วย ซึ่งการใช้นิทานนั้นเป็นรากฐานที่ดีต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ไม่เว้นแม้แต่เด็กแอลดี และเด็กออทิสติก ที่มีความต้องการพิเศษ

เมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิตจัดกิจกรรม Bangkok read for Health (อ่านยกกำลังสุข) “การอบรมปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการอ่านผ่านเรื่องเล่าทางสังคม (Social Story) นิทานวิเศษ…เพื่อเด็กพิเศษ” ณ ห้องประชุมวิชาการชิน โสภณพนิช สถาบันราชานุกูล

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ในเด็กปกติการกระตุ้นพัฒนาการด้วยสื่อต่างๆ ที่เหมาะสมตามวัย ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกที่เด็กจะสามารถเรียนรู้และตอบสนองได้ แต่สำหรับเด็กพิการซึ่งมีพัฒนาการและศักยภาพไม่เป็นไปตามวัยที่เหมาะสม มีความบกพร่องทั้งทางด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านจิตใจ และอารมณ์ ด้านสังคม รวมทั้งการไม่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ดังนั้นการช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อต่างๆ มาประกอบการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มความสนใจสำหรับเด็ก และจะช่วยง่ายต่อการถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมไปสู่รูปธรรมได้ดี

การจัดทำสื่อการอ่านครั้งนี้เป็นไปเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กออทิสติก โดยมุ่งหวังให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กสามารถนำสื่ออ่านไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เด็กสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับผู้อื่น รู้จักการแสดงมารยาทและทำกิจวัตรประจำวันที่ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงช่วยส่งเสริมความคิดเชิงบวกให้กับเด็กพิเศษได้ โดยแนวทางการทำสื่ออ่านได้ใช้หลักคิดเรื่องเล่าทางสังคม อธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และอาศัยทักษะและการแสดงพฤติกรรมตอบสนองที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“เด็กออทิสติกคือบุคคลซึ่งมีปัญหาด้านการสื่อสาร สังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น จะต้องแก้ไขเรื่องการสื่อสารก่อนจึงจะทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ได้ โดยขณะนี้ได้พัฒนาสื่อการอ่านทั้งหมด 7 เรื่อง มีทั้งฉบับสำหรับเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันของเด็กออทิสติก รวมถึงการสื่อสารเพื่อความเข้าใจในการใช้ชีวิต เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเข้าใจ” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านกล่าว

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เผยว่า ปัจจุบันพบเด็กสมาธิสั้น แอลดี เรียนรู้ช้า และเด็กออ ทิสติก ที่มีปัญหาพัฒนาการและปัญหาในการเรียนรู้จากสภาวะการทำงานของสมองผิดปกติถึง 12-13% ของประชากรเด็กทั้งหมด โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การมีประชากรเพิ่มขึ้น จึงพบเด็กที่มีปัญหาทางพัฒนาการมากขึ้น รวมถึงปัจจัยแวดล้อมทั้ง ‘มลพิษ’ และ ‘อาหาร’ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก

การสร้างสรรค์หนังสือสำหรับเด็กพิเศษต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก เพราะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพัฒนาเด็ก และการส่งเสริมพ่อแม่ให้สามารถพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบง่ายๆ ด้วยตนเองเป็น ก็จะช่วยเพิ่มความเข้าใจด้านภาษาและสมาธิให้กับเด็กพิเศษได้ ดังนั้นการจัดอบรมครั้งนี้เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปกครองในการช่วยเหลือและปรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กพิเศษ เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการสรรค์สร้างเทคนิคและวิธีพัฒนาการเรียนรู้อย่างถูกต้อง ลูกน้อยจะได้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุข

ด้าน นางนฏชมน นิลอ่อน คุณแม่ของน้องพลาย จากเครือข่ายนิทานสร้างได้ เล่าว่า สำหรับเด็กออทิสติกนั้น หนังสือนิทานเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ใช้ช่วยพัฒนาเด็กทั้งในด้านภาษา ความคิด อารมณ์และสังคมไปพร้อมๆ กัน

“เชื่อว่าปัจจัยสำคัญในการช่วยสร้างพัฒนาการของเด็กพิเศษคือ ความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ช่วยผลักดันให้ลูกน้อยได้พัฒนาตนเองต่อไป เพราะความรัก ความอบอุ่น คือพลังที่ดีที่สุด ไม่ว่าเด็กจะมีความพิเศษเป็นอย่างไร เขาก็ต้องการความรักไม่ต่างจากเด็กทั่วไปเช่นกัน” คุณแม่ของน้องพลายกล่าว

จะเห็นว่า “นิทาน” นับเป็นยาขนานเอกที่จะช่วยให้เด็กพิเศษได้เกิดการเรียนรู้ และสามารถจะพัฒนาตัวเองให้ออกไปใช้ชีวิตต่อไปได้ในสังคม และถึงแม้ “นิทาน” จะมีความสำคัญอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการเจริญเติบโตเหมาะสมตามวัยได้ดีที่สุด ก็คือการสัมผัสด้วยความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่

Shares:
QR Code :
QR Code