นิทานสร้างสรรค์ จากคนใน ‘เรือนจำ’ กระโดดข้าม’กำแพง’

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


นิทานสร้างสรรค์ จากคนใน 'เรือนจำ' กระโดดข้าม'กำแพง'  thaihealth


แฟ้มภาพ


ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำของ "เรือนจำ" สำหรับใครหลายคนน่าจะเกี่ยวข้องกับคดีความ เรื่องโหดร้าย บทลงโทษ และสิ่งไม่น่าอภิรมย์ทั้งหมดทั้งมวล น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เบื้องหลังกำแพงสูงยังมีความอ่อนโยน นุ่มนวล สะเทือนอารมณ์ กำลังผลิบาน เติบโตอยู่ในใจของเหล่า "นักเรียนพิเศษ"


"โครงการนิทานสร้างสุข" คือโครงการที่จัดการเรียนการสอนแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำกลางบางขวางจำนวน 53 คน ซึ่งดำเนินการสอนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน พ.ศ.2556 ในการผลิตหนังสือ นิทานภาพสำหรับเด็ก โดยมีคุณครูนักวาดนักเขียน รวมถึงครูบรรณาธิการชื่อดังคอยให้ความรู้ อาทิ ครูเกริก ยุ้นพันธ์, ครูชีวัน วิสาสะ, ครูระพีพรรณ พัฒนาเวช ฯลฯ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานคือ โครงการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, เรือนจำกลางบางขวาง กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. โดยมีเครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมเป็นองค์กรประสานงาน


ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี ที่ "นักเรียนพิเศษ" ได้เรียนรู้การผลิตนิทานภาพจากคุณครูเหล่านั้น วันนี้แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.ได้อ่านและคัดสรรต้นฉบับจำนวน 30 เรื่องที่มีความโดดเด่น นำเข้าสู่กระบวนการบรรณาธิการ เพื่อพัฒนาและจัดทำเป็น "ชุดหนังสือเดินทางสร้างสุขเพื่อเด็กปฐมวัย" จำนวน 6 เล่มประกอบด้วย กา, นกเพื่อนมด, 'เสือน้อย' น่ารัก, พ่อนกในป่าใหญ่, วาดรูปกับพ่อ และ หนูดีใจมากเลย ผลงานชิ้นโบแดงที่สะดุดตา สะกิดใจของกรรมการผู้คัดเลือก


นิทานสร้างสรรค์ จากคนใน 'เรือนจำ' กระโดดข้าม'กำแพง'  thaihealth


ใครๆ ก็เขียนนิทานได้…จริงหรือ?


"ทุกคนคิดว่าหนังสือเด็กเป็นเรื่องง่าย แต่ถึงเวลาเขียนแล้วจะรู้สึก" คำกล่าวของ ครูโม่ง-ชีวัน วิสาสะ เจ้าของผลงานนิทาน "อีเล้งเค้งโค้ง" อันโด่งดัง เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังในชั่วเวลาหนึ่ง ก่อนครูจะขยายความต่อ


"เราจะถอยความรู้สึกผู้ใหญ่กลับไปสู่ความเป็นเด็กได้อย่างไร เพราะเด็กไม่สามารถเขียนหนังสือสำหรับเด็กได้ ด้วยประสบการณ์ไม่พอ เรารู้สึกแบบเด็กกับการเขียนหนังสือเด็ก มันควบคู่กัน เราต้องอาศัยความเป็นผู้ใหญ่"


แต่ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่กลับไปสู่ความรู้สึกแบบเด็กอีกครั้ง เรื่องการเรียนการสอนจึงต้องใช้กระบวนการที่เป็นพื้นฐานคือ หัวใจการเรียนรู้ทางภาษาและหัวใจนักปราชญ์ กลไกของการฟัง คิด ตั้งคำถาม และเขียน


"ฟังครูอ่านหนังสือ คิดตาม คิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามกับตัวหนังสือ คิดว่าเราจะเขียนอะไร จากนั้นถึงเขียนขึ้นมา" และกระบวนการฟัง พูด อ่าน เขียน โดย "นักเรียนพิเศษ" ฟังเพื่อนๆ อ่านหนังสือ ซึ่งจะเกิดทั้งการฟัง การอ่าน และการพูดโต้ตอบกัน โดยถือว่าหนังสือเสมือนครูที่เข้ามาสอน เราไม่ได้มีครูเพียง 6-7 คนเท่านั้น


ด้าน ครูแต้ว-ระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการหนังสืออิสระ ช่วยเสริมว่า ช่วงเวลาเรียนที่สำคัญ อีกช่วงหนึ่งคือช่วงที่ให้นักเรียนอ่านหนังสือนิทาน เราให้เขาอ่านหนังสือนิทานเยอะมาก


"บางคนคิดว่าการเขียนนิทานง่ายมากๆ มีแค่ประโยคเดียวฉันก็ทำได้ แต่มันไม่ซาบซึ้ง ไม่ลึกซึ้ง" เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่เด็กๆ เขียนไม่ได้ เพราะมีความลุ่มลึกแฝงอยู่


พลังแห่ง 'นิทาน'


นอกจากความเชื่อส่วนตัวของ อรสม สุทธิสาคร ผู้อำนวยการโครงการนิทานสร้างสุข ที่เชื่อว่าผู้ใหญ่ทุกคนมีความเป็นเด็กน้อยอยู่ในตัวแล้ว อรสมยังเชื่ออีกว่า คนเราทุกวัยสามารถอ่านนิทานเด็กได้ โดยเฉพาะนิทานภาพสำหรับเด็ก


"ทุกครั้งที่ได้อ่านนิทานภาพสำหรับเด็กจะมีความสุข เพราะมันพาเราย้อนไปสู่วัยเด็ก และยังช่วยดึงความรู้สึกนุ่มนวล อบอุ่นในใจเราออกมา เลยมีความเชื่อในพลังของนิทาน"


เธอจึงเห็นว่า นิทานภาพสำหรับเด็กน่าจะเป็นกิจกรรมหนึ่งสำหรับ "นักเรียนพิเศษ" ที่จะช่วยดึงส่วนที่ลึกที่สุดของความนุ่มนวลและวัยเยาว์ออกมา


ครูโม่งเองยังคิดเห็นในทำนองเดียวกับอรสม โดยว่า "ผมมั่นใจ และมีความเชื่อว่าทุกคนมีความเป็นเด็ก แต่อะไรล่ะที่จะเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกเหล่านั้น"


พร้อมกับเปิดใจถึงความรู้สึกแรก หลังจากรู้ว่าต้องมาสอน "นักเรียนพิเศษ" ที่เรือนจำกลางบางขวางว่า เป็นโอกาสที่จะได้ทำงานที่ท้าทาย เพราะเป็นสถานการณ์พิเศษ พอเข้ามาก็เจออะไรที่พิเศษจริงๆ แต่ไม่คิดว่าเป็นเรื่องยาก


"สำหรับครูชีวันไม่มีอะไรเป็นเรื่องยาก แม้โจทย์ยากแค่ไหนก็ต้องหาทางผ่านไปให้ได้ มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ยอมรับได้"


ส่วนครูแต้วบอกว่า ก่อนเข้ามาสอนได้ทำหลักสูตรไว้ก่อน วางแผนมาแล้วว่าจะสอนด้วยวิธีแบบไหน ต้องแบ่งอย่างไร และปลายทางจะได้อะไรบ้าง


"ช่วงระหว่างเรียนรู้ ทุกคนตั้งใจ คอยถามอยู่ตลอดเวลา เป็นนักเรียนที่พิเศษมากจริงๆ ผลงานออกมาแล้วเราภูมิใจและชื่นใจมากๆ สิ่งที่ดีที่สุดคือ นักเรียนทุกคน ตั้งใจเรียนมาก มากกว่านักเรียนข้างนอกด้วยซ้ำ"


ตัวครูแต้วเองยังสอนนักศึกษาและผู้อื่นที่สนใจนิทานด้วย แต่ไม่มีกลุ่มไหนที่สนใจเรียนมากเท่า "นักเรียนพิเศษ" กลุ่มนี้


นิทานสร้างสรรค์ จากคนใน 'เรือนจำ' กระโดดข้าม'กำแพง'  thaihealth


หนู…ดีใจมากเลย


"พ่อกับแม่พาหนูและน้องไปเยี่ยมตายาย หนูดีใจมากเลย ยายผูกชิงช้าให้พวกเรา ตาทำว่าวให้เล่น หนูดีใจมากเลย ในสวน มีผีเสื้อหลายตัว บินตอมดอกไม้หลายสี หนูดีใจมากเลย ตอนเช้า เราตักบาตรหน้าบ้าน พระให้พรด้วย หนูดีใจมากเลย…" บางส่วนจากนิทานเรื่อง "หนูดีใจมากเลย" ของ อนันต์ เตมีศักดิ์ อายุ 65 ปี ผู้ต้องขังจากแดนประหาร ต้องโทษคดียาเสพติด แต่ได้รับการลดโทษมาอย่างต่อเนื่อง จำคุกมาแล้วกว่า 16 ปี


อนันต์เล่าว่า แรงบันดาลใจที่เขียนนิทานภาพเล่มนี้มาจากวัยเด็ก ที่เราอาจขาดบางสิ่งบางอย่างไป เมื่อผู้ใหญ่ให้อะไรเรา เช่น ขนม หรือเงินเพียง 1 สลึง เราก็ดีใจแล้ว


"ไม่เคยมีปู่ เลยไม่เคยเห็นหน้าปู่ แต่คิดว่าความผูกพันระหว่าง ปู่กับหลานแน่นแฟ้นยิ่งกว่าปู่กับพ่อ ทำนองว่า รักลูกพอประมาณ รักหลานยิ่งกว่า"


ส่วนการลงท้ายประโยคด้วย "หนูดีใจมากเลย" ครูโม่งได้ อธิบายว่า การลงท้ายซ้ำกันแบบนี้ เนื่องจากเวลาสื่อสารกับเด็ก บางครั้งประโยคเริ่มต้นหรือถ้อยคำเริ่มต้น เด็กจำไม่ได้ อะไรที่มีความสำคัญเราจะไปเน้นตรงท้ายประโยค


ฉะนั้น ความสำคัญของเล่มนี้คือ ให้เด็กเรียนรู้ประสบการณ์ ทั้งหลาย ไม่ว่าประสบการณ์อะไรที่เด็กๆ ได้รับจากผู้ใหญ่จะทำให้เด็กรู้สึกว่า "หนูดีใจมากเลย" อนันต์ยอมรับแบบไร้อาการขวยเขินว่า เพราะตัวเองอายุมากแล้ว คิดแต่ว่าจะเขียนนิทานได้หรือไม่ รู้สึกตื่นเต้นพอสมควร อีกทั้งอยู่ในพื้นที่จำกัด มีกฎเกณฑ์และระเบียบจำกัด ต้องแข่งกับเวลา แข่งกับ ตัวเอง จึงใช้เวลานานกว่าจะเขียนเรื่องนี้เสร็จ


"พอเห็นงานตัวเองเป็นรูปเล่มแล้วภูมิใจที่สุด แต่ยังมีภาค 2 ต่อจากนี้ อยากให้ได้ดูภาค 2 อีก" แมวน้อย ชอบอาบน้ำ


ด้านผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตจากคดียาเสพติด เช่นเดียวกับอนันต์ แต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นด้วยการ ได้รับพระราชทานอภัยโทษมาแล้วกว่า 6 ครั้ง เขาคือ สมมาตร ระเวกโฉม เจ้าของผลงาน 'เสือน้อย' น่ารัก ที่ยังต้องรับโทษอีกยาวนานกว่า 20 ปี


สมมาตรบอกอย่างอายๆ ว่า รู้สึกแปลกๆ ที่ได้ร่วมโครงการนิทานสร้างสุข เพราะแต่ละคนเป็นนักโทษคดีใหญ่ ทั้งยังเป็นนักโทษแดนประหารทั้งหมด


"มันซอฟต์ความรู้สึก ซอฟต์อายุลงไปเลย ถึงแม้จะไม่มีต้นทุน การเล่านิทานมาก่อน เป็นเรื่องยากที่จะสื่อออกมาได้ แต่คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้"


"เสือน้อย" คือชื่อแมวที่สมมาตรเป็นผู้ทำคลอดเองกับมือ โดยโจทย์การเขียนนิทาน ครูบอกว่าจะเป็นอะไรก็ได้ที่สื่อถึงเด็ก ด้วยความผูกพันกับเจ้าเสือน้อย และการสังเกตพฤติกรรมแมวของสมมาตร เขาจึงรู้ว่าสัญชาตญาณแมวคือกลัวน้ำ และไม่ค่อยทำอะไร นอกจากกิน นอน เล่น


"ทำให้นึกถึงเด็กๆ ที่กิน นอน เล่น แต่โดยสัญชาตญาณของแมว คือกลัวน้ำ ไม่ชอบอาบน้ำ เช่นเดียวกับเด็กที่ไม่ชอบอาบน้ำ ผมเลยสื่อให้เข้ากับแมวที่ไม่ชอบอาบน้ำ แต่เจ้าเสือน้อยชอบอาบน้ำมาก"


เพื่อสื่อให้เด็กๆ รู้ว่า แม้แต่แมวที่กลัวน้ำ ยังชอบอาบน้ำได้เลยสมมาตรยังเล่าอีกว่า ตั้งแต่ได้เรียนกับครูหลายๆ ท่าน เขาพยายามให้ทุกคนแสดงออก จนทำให้เรากล้าแสดงออกมากขึ้น ทำให้พวกเราเข้าใจกันและกันว่าต้องดูแลตัวเองกันแล้ว มีอะไรต้องแบ่งปันกัน


"ขอบคุณท่านผู้บังคับบัญชาทุกท่าน ทุกส่วน ทุกฝ่าย โดยเฉพาะคณะครูและวิทยากรทุกท่านที่นำโครงการดีๆ มาให้ ขอกราบขอบพระคุณที่เปิดโอกาสให้พวกเรา (ร้องไห้) ได้มีที่ยืนอยู่ในสังคม" เป็นคำขอบคุณจากใจจริงที่มาพร้อมคราบน้ำตา


นิทานสร้างสรรค์ จากคนใน 'เรือนจำ' กระโดดข้าม'กำแพง'  thaihealth


'วาดรูปกับพ่อ' นิทานที่ลูกยังไม่ได้อ่าน


"ต้องดึงความรู้สึกในวัยเด็กขึ้นมา"คำสารภาพจาก สาธิต หลิ่มจาง อีกหนึ่งผู้ต้องขังจากแดนประหาร ต้องโทษคดียาเสพติด และถูกคุมขังมานานกว่า 12 ปี เจ้าของผลงานนิทานภาพสีสันฉูดฉาดเรื่อง "วาดรูปกับพ่อ" สาธิตเล่าว่า การสร้างสรรค์นิทานเด็กเป็นงานหิน ทั้งแข็งและหนัก เพราะต้องดึงความรู้สึกในวัยเด็กขึ้นมา ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ชิ้นงานที่เด็กสามารถเข้าใจได้ แต่ด้วยอาจารย์และหลายๆ คนที่เข้ามา ทำให้เรารู้สึกว่างานมันจับต้องได้


"มีแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้อยู่ 3 ส่วน คือ คิดถึงลูก เพราะตัวเองโดนจับตอนลูกอายุ 11 เดือน เราเขียนเรื่องนี้เพราะต้องการสื่อถึงเขา อยากสอนลูก สอนให้เด็กๆ มีจินตนาการ ภาพเลยออกมาเป็นแบบนี้ ลายเส้นแบบไม่กดดันตัวเอง


"อยากให้การทำงานศิลปะหรือการวาดภาพ อะไรก็ได้ โดยไม่ต้องมากดดันตัวเองว่าจะวาดเหมือนหรือไม่เหมือน"เป็นงานเขียนที่สื่อถึงลูก แต่ลูกยังไม่ได้อ่านส่วนที่เลือกใช้สีโทนร้อน มองแล้วสะดุดตา สาธิตอธิบายว่า เป็นการระบายออกมาจากภายใน เพราะอยากให้เด็กหรือใครที่ได้เห็นได้สัมผัสถึงความรู้สึกเชิญชวนให้ดู น่าจะช่วยกระตุ้นจินตนาการหรือเรื่องราวได้หลายๆ อย่าง


"ผมเลือกสีน้ำกับดินสอสีในการลงสี เพราะสีน้ำมีความเป็นอิสระ ให้ความรู้สึกอ่อนโยนกว่า แม้สีจะจัดจ้านไปบ้าง"


เช่นเดียวกับคน ที่มีทั้งความเข้มแข็งและอ่อนโยนอยู่ในตัวเองอีกทั้งครูแต้วยังกล่าวชื่นชมผลงานลูกศิษย์ด้วยว่า นิทานเรื่องวาดรูปกับพ่อ นอกจากเป็นงานที่สวยงามแล้ว ยังเป็นงานลักษณะกึ่งเล่นกับเด็ก กึ่งพูดคุยกัน เป็นหนังสือที่ไม่ได้อ่านให้ฟังแค่เพียงฝ่ายเดียว แต่เด็กสามารถโต้ตอบและมีส่วนร่วมกับเรื่องได้ด้วย


พูดถึงโครงการนิทานสร้างสุข สาธิตบอกว่า เป็นอะไรที่ผ่อนคลายและได้เห็นค่าของตัวเอง ในความรู้สึกเหมือนเราเป็นคนดำ ครูเปรียบเป็นน้ำฝนที่มาชำระล้างให้สีดำหลุดลอยไป แต่มันไม่ขาว เพราะสิ่งที่ได้ทำไปมันไม่ได้ติดแค่ผิวหนัง แต่ติดถึงกระดูก


"เลยเป็นแค่สีเทา ผมถือว่าโอเคแล้ว"ได้แต่วาดหวังว่านิทานภาพทั้ง 6 เรื่องนี้ จะเดินทางสู่สายตาและหัวใจของผู้อ่านโดยเร็ว 

Shares:
QR Code :
QR Code