นิทานมีชีวิต

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


นิทานมีชีวิต thaihealth


แฟ้มภาพ


          เรื่องเล่าหรือนิทานแบบไหนที่ฟังหรืออ่านแล้วรู้สึกว่า มีชีวิต และทำให้รู้สึกสนุก อยากฟัง อยากรู้ ตอนต่อไปเรื่อยๆ  นี่คือส่วนหนึ่งของเวทีแลกเปลี่ยน Spiriyual talks on campus #4 ของสวนเงินมีมา และสสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เรื่อง นักเล่านิทาน เมื่อเรื่องเล่ามีชีวิต โดยวิทยากรที่เป็นนักเล่าเรื่อง ผ่านตัวหนังสือและบทเพลง


          จารุปภา วะสี  นักวิจัย นักวิชาการอิสระ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์แม่ และเคยทำงานวิจัยว่าด้วยเรื่อง Gifted Adult เปิดประเด็นเรื่องการศึกษา เพื่อที่จะโยงถึงการ เล่าเรื่องในยุคก่อนจนถึงยุคปัจจุบันว่า


          "การศึกษาในปัจจุบัน มันใช่การเรียนรู้โลกหรือเปล่า ใช่การเล่านิทานหรือเปล่า เราบอกว่ามันใช่  ถ้าอย่างนั้น เวลาเล่าเรื่องตามหนังสือเรียนหรือทฤษฎี  เราก็เล่าเรื่องซ้ำไปซ้ำมาตามศาสตร์ที่เราเรียนมา เราต้องถามกับตัวเองก่อนว่า แล้วความจริงในโลกมีมากน้อยแค่ไหน เราจะยอมให้ตัวเราเชื่อมโยงกับความจริงในระดับไหน"


          เธอตั้งคำถาม และโยงไปถึงการเล่าเรื่องของ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ว่า  นักเขียนคนนี้มีผลงานเขียนหนังสือ กว่า 40 เล่ม รอพิมพ์อีกประมาณ 10 เล่ม คนที่มีเรื่องเล่าขนาดนี้ ก็คงต้องมีความอยากรู้อยากเห็นมากๆ เหมือนการเชื่อมต่อจิตวิญญาณเธอกับสิ่งที่อยากรู้จริงๆ     "สำหรับเราแล้ว คนเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์น่ารักมากๆ คงเป็นคนที่ปรารถนาจะรู้จักโลกและความจริง เมื่ออยากรู้ความจริง  ก็ทำให้เขาเชื่อมกับแหล่งความรู้จริงๆ ไม่ใช่ว่า มีเฉพาะในตำรา ถ้าเราไปอ่านผลงานเขียนของเธอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวความจริงของมนุษย์ ความสุข ความเศร้า เธอทำงานกับตัวเองเยอะ และ ซื่อสัตย์ต่อความจริงที่เจอ" จารุปภา กล่าว ส่วน นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ และปราชญ์ด้านภาษาไทย ผู้เพียรถ่ายทอดเรื่องราว เกี่ยวกับผู้คน วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งในภูมิภาคของไทยและในต่างแดน มาอย่างยาวนาน ล่าสุดมีผลงานเรื่อง  นักเล่านิทานและเรื่องอื่นๆ ของ สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา บอกว่า ผลงานนักเล่านิทาน เป็นการรวบรวมบทความที่เขียนไว้นิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ตั้งแต่ปี 2544-45  เธอเป็นนักเล่าเรื่องอีกคนที่มีวิญญาณแห่งนักผจญภัยและพรสวรรค์ล้นเหลือในการเล่าเรื่อง เริ่มเขียนหนังสือทั้งบทความ บทกลอน บทวิจารณ์และเรื่องสั้น โดยใช้นามปากกาตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเคยทำงานประจำกองบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ หลายสำนัก และเป็นนักวิชาการให้กับองค์กรมากมาย เธอมีบทความตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ตลอดจนสื่อสิ่งพิมพ์ระดับแนวหน้าของสังคมไทย ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการและนักเขียนอิสระ


          "ปกติจะเก็บสมุดบันทึกที่จด เรื่องราวไว้มีร้อยกว่าเล่ม แต่ละเรื่องมี แรงบันดาลใจในการเขียนในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน เราชอบที่จะบันทึกเรื่องราวในอดีต สมัยเด็กๆ ตอนนั่งรถไปโรงเรียนในตัวเมืองเพชรบุรี จะผ่านทุ่งนา เห็น ผักตบชวา ดอกบัว รู้เลยว่า ภาพที่เห็น วันนั้นจะไม่มีอีกแล้ว เราก็มองดูด้วยความซาบซึ้งใจ ความทรงจำตั้งแต่วัยเด็ก เราก็บันทึกเรื่องเล่า แรกๆ ก็เขียนเล่าให้ตัวเองอ่าน จากนั้นให้คนอื่นอ่านและ รวมเล่ม อย่างนิทานที่เขียนไว้"


          เมื่อพูดถึงนิทาน เธอบอกว่า ในวัยสามสิบกว่าๆ มีความเข้าใจเรื่องนิทาน อีกแบบ แต่อธิบายไม่ได้ ทำให้เขียนเรื่องเล่าต่างๆ ได้สนุก แต่เมื่ออายุมากขึ้น  นิทานในความหมายของเธอเปลี่ยนไป


          "เพราะชีวิตคนเรามีความทุกข์หลายๆ ด้าน เวลาเล่าเรื่อง เราก็มาทำให้เป็นเรื่องตลกซะ ในวัยนั้นก็เข้าใจแค่นี้  ก็เขียนออกมาในลักษณะนั้น แม้แต่เรื่องแย่ที่สุด ก็ยังมีมุมที่ตลกอยู่ในนั้น แต่พออายุเยอะขึ้นตำนานและนิทาน คือ ความพยายามที่จะสื่อสารของมนุษย์ ก่อนมนุษย์จะมีภาษาเขียน พวกเขามีภาษาพูดก่อน และก่อนมีภาษาพูด มนุษย์อยู่กันยังไง เคยสงสัยไหม ระหว่างพวกเขาและสรรพสิ่ง เขาสื่อสารกันยังไง สื่อสารกับต้นไม้กับสัตว์ยังไง นี่แหละคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกที่สุดในตำนานและนิทาน  แต่ก่อนเขาสื่อสารกันด้วยพลังจิต  ทุกตำนานของทุกชนเผ่าในหลายประเทศ สัตว์และต้นไม้พูดได้ เมล็ดพืชพูดได้" นิทานและเรื่องเล่าที่หลายคนเคยได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าต้นไม้ สัตว์ป่า ผีเสื้อ ดอกไม้ พูดได้ อาจต้องมองให้ลึกกว่าจินตนาการ


          เธอบอกว่า ทุกแห่งหนในโลกนี้  คนที่ปฎิบัติวิปัสสนาถึงที่สุด จะสื่อสารเรื่องเหล่านี้ได้ "อย่างอินเดียนแดงสื่อสารกับเทพธรรมชาติได้ ในยุคที่ไม่มีภาษาก็มีการนำเรื่องเหล่านี้ออกมาเล่าให้ฟัง แต่เมื่อมีภาษาพูด ก็แน่นอนว่าปรีชาญาณเหล่านี้จะถูกทำลายไป มีบางกลุ่มที่ยังสื่อสารได้ และเล่าสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นนิทาน เนื่องจากการเรียนรู้จากบรรพบุรุษหรือครูบาอาจารย์สมัยก่อน ไม่ใช่สอนกัน ผ่านคำพูดอย่างเดียว"


          นั่นทำให้ตัวเธอ สนใจในศาสตร์ต่างๆ ทั้งวรรณคดี วัฒนธรรม  พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์และศิลปะ และเมื่อสนใจก็อยากหาความรู้ โดยเรียนรู้ผ่านครูบาอาจารย์ที่เป็นสุดยอดของศาสตร์นั้นๆ อย่างเรื่องภาษาและวรรณคดีไทย เธอเรียนจากพ่อ (อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว) พุทธศิลปะเรียนกับอาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ เรื่องเกษตรและเมล็ดพันธุ์พืช เดินตามปราชญ์เดชา  ศิริภัทร เข้าป่าและยังมีครูบาอาจารย์ อีกหลายคนที่ทำให้เธอนำเรื่องราว มาเขียนในหนังสือ ส่วน สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ นักดนตรีปกาเกอะญอ ป่าสนวัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  อีกบทบาทเป็น อาจารย์ประจำสาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดวิทยาลัย โพธิวิชชาลัย แม่สอด นักเล่าเรื่องผ่านเสียงเพลงคนนี้ ไม่เคยละทิ้งรากฐานความเป็นชนเผ่าของตนเอง เขาสื่อสารเรื่องราววิถีวัฒนธรรมชนเผ่าและการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติผ่านบทเพลงภาษาปกาเกอะญอผสมภาษาไทย พร้อมเครื่องดนตรีคู่ใจ "เตหน่ากู"


          เขาบอกว่า คนจะมองวัฒนธรรมสองมุมด้วยกัน คือมรดกทางวัฒนธรรม การรักษาคุณค่าและวิถีชีวิต และอีกมุม มองวัฒนธรรมเป็นสินค้า สร้างเรื่องราวเพื่อขายของ


          "ในชุมชนของเรา มีคนบอกว่าต้องเอาวัฒนธรรม วิถีการแต่งกายของเราออกมาขาย เหมือนญี่ปุ่นมีแพ็คเกจ นิดเดียว แต่มีเรื่องราวสร้างมูลค่าขายได้ ในเมืองไทยขายข้าวโพด 1,000 กิโลกรัมได้เงินไม่ถึงพันบาท ก็มีคนสอนเราว่า ไม่ได้อยู่ที่ทุนอย่างเดียว แต่อยู่ที่การสร้างเรื่องราวเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่สำหรับเรา คิดว่าคุณค่าของการเล่าเรื่องคือวัฒนธรรมที่เรามี


          "เราสร้างเรื่องราวในเชิงคุณค่า สำหรับผมใช้คำว่าวัฒนธรรมเรื่องเล่าที่บอกเล่าความเป็นมนุษย์"


 

Shares:
QR Code :
QR Code