นำ ‘ศีลธรรม’ พัฒนาคน พัฒนาชาติ
กว่า 10 ปีแล้ว ที่องค์การสหประชาชาติมีมติพิจารณายกย่องให้ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญสากลของโลก ด้วยเหตุผลว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เผยแพร่หลักธรรมที่นำมาซึ่งความสุขและความสงบสุขของปวงชน
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานกรรมการดำเนินการจัดการประชุมชาวพุทธนานาชาติ กล่าวถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชาว่า “เป็นวันที่บูชาเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธเจ้า 3 เหตุการณ์ คือ วันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ต่างกัน แต่ในทางจันทรคติถือว่าเป็นวันเดียวกันเป็นและเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก”
ในปีนี้ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรม วันวิสาขบูชาโลกครั้งที่ 10 พ.ศ. 2556 ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา และเนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กำลังจะมีพระชนมพรรษาครบ ๑๐๐ ปี ซึ่งจะมีประมุขสงฆ์และนักปราชญ์คนสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางพุทธศาสนา จำนวน 2500 รูป / คน จาก 87 ประเทศทั่วโลก ร่วมเข้างาน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “การศึกษากับความเป็นพลเมืองโลก มุมมองพระพุทธศาสนา” ขึ้น สืบเนื่องมาจากชาวโลกซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง จากวิกฤติการณ์และความหายนะต่างๆ ทางธรรมชาติ ความไม่เสมอภาค และสภาพความตึงเครียดในสังคม ‘การศึกษา’ จึงเป็นวิถีทางอันดีที่สุดที่จะสร้างสันติภาพจากภายในแก่มวลมนุษยชาติ และจะเป็นพลังอันสำคัญในการผลักดันและสร้างหนทางใหม่ๆ แห่งการคิด การกระทำ เพื่อสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยสันติภาพที่ยั่งยืนอย่างยั่งยืน
ในโอกาสนี้ พระพรหมบัณฑิต กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษา ผ่านมุมมองทางพุทธศาสนาว่า “ปัจจุบันการศึกษาสามารถเรียนวิชาต่างๆ จากหนังสือเรียน จากอินเทอร์เน็ตได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถเรียนได้จากสิ่งเหล่านี้คือ ‘ศีลธรรม‘ ฉะนั้น การจะยกระดับความรู้ของคน ก็ต้องอาศัยหลักการทางพุทธศาสนา”
ยกตัวอย่างเช่น สามารถช่วยฝึกคนให้มีสมาธิในการทำกิจต่างๆ ได้ และเมื่อมีสมาธิแล้ว ก็จะเกิดทักษะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่ดี
“นอกจากนี้พุทธศาสนา ยังช่วยให้คนที่นำหลักธรรมไปใช้ในชีวิต มีความสุข เป็นความสุขที่หามิได้จากทรัพย์นอก แต่มาจากทรัพย์ภายใน ทั้งความมีน้ำใจ ความรู้จักพอ ซึ่งหากการศึกษามีจุดประสงค์เพียงให้ความรู้ ให้ความสามารถ ให้ความเฉลียวฉลาด แต่ไม่ได้สร้างให้คนมีสมาธิ มีจรรยาบรรณ มีความเมตตากรุณา หรือรู้จักพอ ด้วยภาวะเศรษฐกิจทุกวันนี้ ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ประกอบกับตัณหาไม่รู้จบของคน ย่อมทำให้เกิดความวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคมได้ การมีพระพุทธศาสนา จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะหล่อหลอมจิตใจของคนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี กระทำแต่สิ่งดี มุ่งศึกษาแต่สิ่งดี และทำให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
และเนื่องในวันวิสาขบูชาที่จะถึงนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงการปฏิบัติตนของพุทธศาสนิกชนว่า นอกเหนือจากการทำบุญและประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาแล้ว การทำความดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ควรกระทำเช่นกัน
เพราะไม่เพียงแต่ส่งผลต่อจิตใจของตนเองเท่านั้น พลังแห่งความดีนี้ ยังก่อประโยชน์ให้สังคมชาวพุทธและสังคมโลกเป็นสังคมที่น่าอยู่ได้สืบไป
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th