นำหลักธรรมและวินัยเปลี่ยนแปลงสังคม

การเปลี่ยนแปลงสังคม thaihealth


ช่วงนี้เรากำลังอยู่ในบรรยากาศทางสังคมที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการคิดพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อเข้าใจกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะสังคมสงฆ์ ที่จริงก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้ย้อนมาศึกษาประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ ที่ผ่านมาในสังคม


อย่างในหนังสือเรื่อง "สงครามและสันติภาพ" วรรณกรรมชิ้นเอกของลิโอ ตอลสตอย เล่าถึงบรรยากาศตอนที่นโปเลียนต้องการขยายอาณาจักรออกไปจึงนำทัพบุกรัสเซียแล้วกลายเป็นภาพความสูญเสียมากมายมหาศาลของกองทหารที่สูญหายไปในหิมะ ที่สุดต้องถอนทัพกลับกรุงปารีส


นั่นเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ชัดเจนนั้นต้องมาจากประชาชนเห็นร่วมกันหรือเกิดความพร้อมและสามัคคีกัน หาใช่เพียงปัจเจกคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มสังคมเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคิดว่าจะดลบันดาลให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่ฟังเสียงใคร หลายคนที่คิดแบบนั้นต่างไม่เคยรอดพ้นจากการพิพากษาโดยสังคม


แม้ในสมัยพุทธกาลที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับความคิดเรื่องวรรณะหรือชาติพรรณเป็นสำคัญ การเปลี่ยนสังคมให้คิดอะไรใหม่ๆ นอกจากกรอบความคิดแบบนี้แทบเป็นไปไม่ได้ และก็ไม่ควรเสียเวลาไปคิดจะแก้ปัญหานี้ด้วยซ้ำไป


แม้แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ได้เปลี่ยนสังคมให้เป็นไปอย่างที่พระองค์ต้องการ แต่กลับเน้นไปที่การอนุเคราะห์ผู้คนในสังคมให้เข้าใจเรื่องทุกข์กับความขจัดทุกข์ในชีวิตเสียมากกว่า โดยรูปแบบของการอนุเคราะห์นั้นเต็มไปด้วยความปรารถนาดี ไม่ประสงค์ร้ายหรือจ้องทำลายล้างใคร แต่ก็เป็นธรรมดาว่าย่อมมีผู้เสียประโยชน์และได้ประโยชน์ แม้จะไม่เจตนาให้ใครการเปลี่ยนแปลงสังคม thaihealthเสียประโยชน์ก็ตาม


คนที่รู้สึกเสียประโยชน์ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่เชื่อว่าตนเองมีความสุขดีต่อวิธีดำเนินชีวิตแบบเดิม หรือบางคนก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองมีความทุกข์อยู่จึงทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท เป็นไปได้ว่าเขาเหล่านั้นใช้ชีวิตด้วยความเคยชินจนมองไม่เห็นอีกแล้วว่าตนเองเป็นทุกข์ เหมือนปลาที่อยู่ในน้ำก็มองไม่เห็นน้ำ นกอยู่บนฟ้ากลับไม่ได้มองเห็นฟ้า


ในมุมกลับกันคนที่เห็นทุกข์หรือปัญหากลับเริ่มต้นที่ตนเองก่อนด้วยการปฏิรูปแนวความคิดให้ถูกต้องและเหมาะสม แม้แต่พระพุทธองค์เองก็ทรงสละความสุขในวังแล้วเที่ยวแสวงหาทางดับทุกข์อันเกิดจากความแก่ ความเจ็บและความตาย ด้วยการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนเท่าที่มีในสมัยนั้นด้วยพระองค์เองจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด กว่าจะเข้าใจว่าวิธีการเหล่านี้ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงหันมาแสวงหาความหลุดพ้นทางใจนั้นด้วยการปฏิบัติตามข้อปฏิบัติสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงสุดด้านใดด้านหนึ่ง


เมื่อเข้าใจเองจึงสามารถขยายถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องไปสู่ ผู้ต้องการจะดับทุกข์ได้อย่างกระจ่างชัด แม้แต่ตอนจะทรงปรินิพพานก็ทรงตรัสกับมารว่า "เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกาผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบข้าศึกที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้"


การเปลี่ยนแปลงสังคม thaihealthฉะนั้น ในการเปลี่ยนแปลงพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่อย่างในการสังคายนาแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องอาศัยพระมหาเถระที่มีความเข้าใจหลักธรรมและวินัยเป็นผู้นำ เพราะอย่างน้อยท่านเหล่านี้ก็เป็นผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมและวินัยย่อมจะเข้าใจว่าอะไรเหมาะสมและปัญหาอยู่ตรงไหน


ก็คงไม่ต่างจากเรื่องราวของพระที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่ได้มาบอกเล่าถึงวิธีการทำงาน รวมถึงอุปสรรคและปัญหา เพื่อให้ภาครัฐได้ร่วมสนับสนุนทั้งความรู้และทรัพยากรให้ตรงกับความต้องการ ในงานสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อพัฒนางานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม, ตัวแทนเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, และพระผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย และพัฒนาพระนิสิตสู่อุดมการณ์พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม โดยกองกิจการนิสิตร่วมกับสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.


หากเพียงแค่คนภายนอกคิดไปเองว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไรแล้วทุ่มทุนลงไปโดยไม่ศึกษาก่อน แทนที่จะช่วยกันแก้ปัญหาให้ตรงจุด บางครั้งกลับกลายเป็นการสร้างภาระให้กับพระและประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น นี่คือประสบการณ์ในอดีตและปัจจุบันที่ชัดเจนว่า สังคมจะเปลี่ยนแปลงอะไร ตรงจุดไหน จึงควรทำ 2 อย่างก่อน คือ 1.ศึกษาเรียนรู้กลุ่มคนเหล่านั้นให้เข้าใจเองเสียก่อน และ 2.เมื่อจะเปลี่ยนแปลงกันจริงๆ ควรให้คนในสังคมนั้นๆ เป็นผู้เริ่มต้นและแนะนำวิธีของการเปลี่ยนแปลง


จึงจะได้ตรงกับความต้องการที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดนั่นเอง


 


 


 ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code