นำปี๊บเก่าผลิต ‘เตาชีวมวล’ แก้ขยะบ้านนาซำจวง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เตาทำกับข้าวที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมซึ่งทำจากปี๊บและข้างในเสริมด้วยท่อเหล็กวงกลมและเจาะรูตรงกลางให้มีช่องระบายอากาศ ซึ่งดูแล้วมีรูปร่างไม่เหมือนเตาที่คุ้นเคยนี่คือสิ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า "เตาชีวมวล" ซึ่งเป็นเตาประดิษฐ์ที่เกิดจากการคิดค้นที่เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของชุมชนบ้านนาซำจวง ต.นาแก อ.นาวังจ.หนองบัวลำภู ชุมชนบ้านนาซำจวง หมู่บ้านขนาดกลางมีประชากร 123 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาและทำไร่อ้อย
เดิมทีหมู่บ้านแห่งนี้เต็มไปด้วยขยะที่ชาวบ้านไม่รู้วิธีการจัดการ เพราะตื่นเช้ามาทุกคนต่างก็เร่งรีบออกไปทำงานเนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่อ้อย อีกทั้งด้วยความที่ชุมชนอยู่ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงจากวิถีการผลิตเกษตรแบบเดิมมาสู่ยุคการใช้เครื่องทุ่นแรง อย่างอุปกรณ์การเกษตรเก่าที่ชาวบ้านเลิกใช้ เช่น ท่อสูบน้ำที่ทำด้วยอะลูมิเนียม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ท่อพญานาค" ซึ่งราคาท่อที่ชาวบ้านซื้อมานั้นอยู่ที่ประมาณท่อละ 3,000 บาท แต่หลังเลิกใช้ก็กลายเป็นเศษเหล็กไม่มีค่าอะไร มิหนำซ้ำยังกลายเป็นอุปกรณ์ระเกะระกะและหาที่เก็บยากกลายเป็นขยะที่จัดการยากด้วย นอกจากนี้ยังมีขยะอื่นๆ ทั่วไปที่ชาวบ้านทิ้งและไม่รู้วิธีการจัดการ เกิดเป็นพฤติกรรมของคนในชุมชนที่มักง่ายทิ้งขยะไม่เป็นที่กลายเป็นปัญหาที่ตามมาโดยไม่รู้ตัว
เมื่อปี 2557 ชาวชุมชนได้เริ่มนำปัญหาขยะมาหารือและประจวบเหมาะจากคำแนะนำของนายอำเภอในช่วงนั้น ที่มีข้อมูลชุดโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ ผู้นำและทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน จึงได้นำข้อมูลปัญหามาหารือและร่วมกันพัฒนาโครงการจนได้รับการอนุมัติ หลังจากนั้นจึงก่อตัวสภาผู้นำชุมชนภายใต้โครงการชุมชนสะอาดปราศจากขยะบ้านนาซำจวงโดยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
การทำงานของสภาผู้นำชุมชนบ้านนาซำจวง เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมและสมาชิกสภาผู้นำชุมชนทุกคนต้องเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งพวกเขายึดหลักการที่ว่าสิ่งที่ทุกคนกำลังทำร่วมกันคือสิ่งที่เป็นมติอันเกิดจากการถกเถียงหารือว่าปัญหาของชุมชนเกิดจากอะไรและควรจะมีการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในรูปแบบไหน
เหมือนอย่างที่ "อดิศร สาริยา" หนึ่งในสมาชิกสภาผู้นำชุมชน เล่าให้ฟังว่า "การทำงานของพวกเรามันต้องเกิดจากความคิดของเรา จะให้หน่วยงานไหนมาจับมือทำมันไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เกิดจากความต้องการของเรา เราเป็นคนในชุมชนเราย่อมรู้ดีว่าปัญหาของเราอยู่ที่ไหน การทำงานทำให้เราได้นำข้อมูลมาหารือกันและวางรูปแบบว่าเราจะทำงานเพื่อแก้ปัญหาตัวเองยังไง ถึงมีปัญหาบ้างแต่เราก็ถกเถียงกันและในที่สุดก็ผ่านไป เพราะทุกคนยึดมติเสียงส่วนมาก"
ด้วยความที่ชุมชนบ้านนาซำจวง มีการทำงานที่ขยันขันแข็งและมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทุกคนได้ออกความคิดเห็นและนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาในสิ่งที่ชุมชนต้องการ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการเติมความรู้จากนอกชุมชนโดยการไปศึกษาดูงานจากหลายที่อยู่เป็นระยะ ทำให้ชุมชนมีนวัตกรรมและรูปแบบในการแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนและแน่นอน "เตาชีวมวล" คือผลงานเด่นของพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการนำของเหลือใช้ที่กลายเป็นขยะในชุมชนมาทำเป็นเตา
"สมพงษ์ โสภาวรรณ์" ผู้ใหญ่บ้านนาซำจวง เล่าให้ฟังว่า พอทุกคนมาร่วมกันคิดว่าจะมีการจัดการขยะอย่างไร ก็เลยทำให้มีการเอาสถานการณ์ในชุมชนและนำข้อมูลมาวิเคราะห์จนพบว่า ในหมู่บ้านมีวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือนหลายชนิดที่นำไปทิ้งเป็นเศษขยะเช่น ปี๊บจากร้านค้าในชุมชน หม้อนึ่งเก่าและท่อสูบน้ำหรือท่อพญานาค จึงคิดว่าน่าจะนำวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาประดิษฐ์เป็นของใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า จึงเริ่มต้นศึกษาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและค้นพบวิธีการทำเตาชีวมวลประกอบกับวิถีที่ชาวบ้านที่ใช้เตาถ่านในการหุงต้มอาหารเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงคิดหาวิธีการประดิษฐ์เตาชีวมวลไว้ใช้ในครัวเรือนเพราะเห็นว่าเป็นเตาประหยัดถ่าน
การทำเตาชีวมวลนั้นไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากแค่นำท่อสูบน้ำที่เลิกใช้มาประกอบกับปี๊บเก่า หรือหม้อนึ่งเก่าและนำเศษเหล็กเหลือใช้ในบ้านมาประกอบเสริม และมีขั้นตอนอีกไม่กี่ขั้นตอนซึ่งชาวบ้านสามารถทำได้เอง ขอแค่รู้หลักการทำงานคร่าวๆ ก็พอ ส่วนในเรื่องการประหยัดถ่านนั้นก็ได้ผลตามคาด เพราะเตาชีวมวลสามารถลดปริมาณการใช้ถ่าน เช่น จากเดิมในการย่างปลานิล 1 ตัว จะใช้ถ่านถึง 5 ก้อน แต่เตาชีวมวลจะใช้ถ่านแค่ 2 ก้อน ทำให้ถ่าน 1 กระสอบเดิมเคยใช้ได้ครึ่งเดือน แต่ปัจจุบันใช้ได้เป็นเดือน ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านนาซำจวงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์หันมาใช้เตาชีวมวลและอนาคตคาดว่าจะหันมาใช้กันทุกครัวเรือน
นอกจากเตาชีวมวลที่ชาวบ้านสามารถทำได้จากการร่วมกันคิดวิเคราะห์ผ่านสภาผู้นำชุมชนแล้ว ชาวบ้านนาซำจวงยังมีผลงานรูปธรรมอื่นๆ ตามมาซึ่งเกิดจากการทำงานเพื่อหาวิธีการจัดการขยะ เช่น ธนาคารขยะชุมชน การนำยางรถเก่ามาทำกระถางและปลูกผักไร้สารไว้กินในครัวเรือน การทำบ่อขยะอินทรีย์ในแต่ละคุ้มบ้านและที่สำคัญชุมชนรู้จักวิธีการคัดแยกขยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่ได้ใส่ใจมาก่อน นอกจากนี้พวกเขายังมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน เช่น การนัดรวมกันทำความสะอาดหมู่บ้านในวันพระและวันนักขัตฤกษ์ เป็นต้น
การทำงานอันเกิดจากการมองเห็นปัญหาร่วมกัน ทำให้สภาผู้นำชุมชนบ้านนาซำจวงเกิดกระบวนการทำงานอย่างเข้มข้นและขยันขันแข็ง ทุกคนออกความคิดเห็นนำเสนอปัญหาจากสิ่งที่ชุมชนต้องการ ซึ่งผลลัพธ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือความสามัคคีเพราะการทำงานทำให้ทุกคนคุยกันมากขึ้นและทำให้เกิดเรื่องอื่นที่ดีตามมาหลายอย่าง
เหมือนอย่างที่ "ทองสุข พิมพ์โสดา" หนึ่งในสมาชิกสภาผู้นำชุมชนนาซำจวง เล่าให้ฟังว่า "พวกเราจะทำงานเป็นทีม และทุกคนก็ทำด้วยใจ พอทำงานเสร็จก็กลับมาประชุมปรับทุกข์ปรับสุขกันและมองภาพอนาคตว่าเราจะเดินต่ออย่างไร อย่างน้อยๆ ทุกวันพระเราก็ได้มากินข้าวร่วมกัน เพราะทุกคนจะออกมาทำความสะอาดหมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้ชุมชนเราสามัคคีกันดีมาก ทุกคนมีใจเป็นอันเดียวกัน"
นอกจากนี้ผู้ใหญ่บ้านนาซำจวงยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "เหตุแห่งความสำเร็จของชาวบ้านนาซำจวงที่แม้จะไม่ค่อยมีภาคีนอกชุมชนเข้ามาหนุนเสริมมากนัก แต่ชาวบ้านที่นี่ก็พูดน้อยต่อยหนัก นั่นหมายถึง พวกเราจะพูดไม่เยอะและไม่คิดมาก แต่จะลงมือทำด้วยความจริงใจ ชาวบ้านทุกคนสามารถรับผิดชอบในแต่ละบทบาทของตนเอง เช่น เวลามีประชุมเพื่อ
ติดตามงานก็นำเสนอได้อย่างชัดเจน อย่างเรื่องการรับซื้อขยะ ถ้าราคาไม่ดีเราจะทำยังไง จะหาทางแก้ไขแบบไหน มันเป็นการเอาข้อมูลปัญหามาวิเคราะห์ร่วมกัน หาจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น ที่สำคัญทุกคนเสียสละเวลาส่วนตนมาทำงานส่วนรวม เรื่องอย่างนี้ถ้าไม่ทำจริงจะนำเสนอไม่เป็น เพราะลงมือทำเท่านั้นถึงเข้าใจ" สมพงษ์ โสภาวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านนาซำจวง กล่าวทิ้งท้าย
ไม่น่าเชื่อว่าจากชุมชนที่เต็มไปด้วยขยะที่ชาวบ้านไม่รู้วิธีการจัดการ มาวันนี้ชุมชนบ้านนาซำจวง มีรูปแบบการจัดการที่ชัดเจน และมีนวัตกรรมการดัดแปลงเศษขยะให้กลายเป็นของใช้ที่มีค่า ซึ่งเหล่านี้เกิดจากการที่พวกเขาร่วมกันกำหนดทิศทาง ปรึกษาหารือและฟังเสียงกันมากขึ้น ด้วยเพราะทุกคนเห็นว่าสิ่งที่ทำจะนำผลดีมาสู่หมู่บ้านอันเป็นที่รักแห่งนี้ของพวกเขาให้น่าอยู่ตลอดไป