นายก ฯ ประกาศ ลดอุบัติเหตุครึ่งหนึ่งให้ได้ใน 10 ปี

นายก ฯ ประกาศ ลดอุบัติเหตุครึ่งหนึ่งให้ได้ใน 10 ปี ต้องตายไม่เกิน 10 ต่อประชากร 1 แสน ชี้ ขรก. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีสวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง ด้านรองนายกฯ เผยอุบัติเหตุทำไทยสูญเสีย 2.8% ต่อจีดีพี  ไม่สวมหมวกนิรภัย ผลตาย 24 คนต่อวัน 1 ใน 4 เป็นเด็ก เยาวชน เปิดผลสำรวจ คนไทยสวมหมวกกันน็อคแค่ 43.7%  จัดอันดับ 10 จังหวัดปลอดภัย – เสี่ยงตาย


นายกฯ ประกาศลดอุบัติเหตุครึ่งหนึ่งให้ได้ใน 10 ปี


ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต ในพิธีเปิด “ปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100%” จัดโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน  และเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเมาไม่ขับ  สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ  บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย โดยนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานการจัดงานว่า ในปี 2554 – 2563 ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ประกาศเป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นเจตนารมณ์ร่วมกับสหประชาชาติ โดยไทยมีเป้าหมาย ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี 2563 หรือมีอัตราการตายไม่เกิน 10 คน ต่อประชากร 100,000 คน จากอัตรา 16.87 ต่อแสนประชากรในปี 2552 และในปี 2554 รัฐบาลประกาศให้เป็นปีแห่งการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัยอย่างเข้มงวด พัฒนามาตรฐานหมวกนิรภัยให้มีทั้งความปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย
“สิ่งสำคัญที่สุดคือให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั่วไป โดยปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบายความปลอดภัยทางถนน เรื่องการขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง หากไม่ปฏิบัติตามถือว่า ฝ่าฝืนกฎหมายและให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการลงโทษทางวินัยทันที” นายกฯ กล่าว


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยทั่วประเทศ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และให้ประชาชนทุกคนได้รับทราบและให้ความร่วมมือสวมหมวกนิรภัย 100% ในทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ลงได้ เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต การบาดเจ็บและพิการของคนไทย และสร้างความสูญเสียทั้งเศรษฐกิจและสังคม หากคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท หรือ 2.8% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จะเป็นผู้ใช้จักรยานยนต์ พบว่า มีผู้ขับขี่หรือผู้ซ้อนท้ายเสียชีวิต เฉลี่ยวันละ 24 คน  1 ใน 4 เป็นเด็กและเยาวชน แต่ละปีมีผู้บาดเจ็บต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่าแสนราย กลายเป็นคนพิการกว่าปีละ 3,000 คน โดยเฉลี่ยในทุก 2 ชั่วโมงจะมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 1 คน พฤติกรรมที่สำคัญคือ ไม่สวมหมวกนิรภัย


ด้าน ดร. ปิยพงษ์  จิวัฒนกุลไพศาล  นักวิชาการมูลนิธิไทยโรดส์  เปิดเผยว่า จากการสำรวจร่วมกับ สสส. เกี่ยวกับการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้จักรยานยนต์ทั่วประเทศ จำนวน 954,956 ราย ระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2553 พบว่า ภาพรวมมีผู้สวมหมวกนิรภัย 43.7% แบ่งเป็น ผู้ขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย 53.3% และคนซ้อนสวมหมวกนิรภัย 19.4% จังหวัดที่มีผู้สวมหมวกนิรภัยสูงสุด 10 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เลย สมุทรปราการ นนทบุรี  ปทุมธานี หนองบัวลำภู พิษณุโลก สระบุรี และสุรินทร์ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีผู้สวมหมวกนิรภัยน้อยที่สุด 10 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี พังงา อ่างทอง เพชรบุรี กาญจนบุรี พัทลุง บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี และชัยนาท สาเหตุของการไม่สวมหมวกนิรภัยคือ เห็นว่าเดินทางระยะใกล้ 64%  ไม่ได้ออกถนนใหญ่ 37%  และเร่งรีบ 29%  โดยกลุ่มตัวอย่าง 55% ไม่ทราบว่าการซ้อนท้ายโดยไม่สวมหมวกนิรภัยมีโทษปรับทั้งคนขี่และคนซ้อน ขณะที่อีก 13% คิดว่าการซ้อนท้ายโดยไม่สวมหมวกนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย


นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุในจังหวัดนำร่อง   (สอจร.) กล่าวว่า  สำหรับจังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูง 10 อันดับแรก เป็นภาคกลาง 5 อันดับ    อันดับต้นๆ คือ กทม. และปริมณฑล มีสาเหตุจาก ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก ส่วนจังหวัดรองลงมาเป็นเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเอาจริง มีผู้รับผิดชอบที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งนี้  การสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัย จะทำให้แต่ละจังหวัดนำไปปรับปรุงแผนการดำเนินงาน และสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตามเฝ้าระวังเพื่อให้เกิดการปรับตัวต่อไป


 


ดาวน์โหลดข้อมูลเกี่ยวกับหมวกนิรภัย คลิกที่


 


ที่มา : สำนักข่าว สสส.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ