นายกฯย้ำ ต้นแบบครูสอนดี คือกลไกสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทย

‘อภิสิทธิ์’ ย้ำแม้ยุบสภา “ปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าต่อ” ยันร่าง พ.ร.บ.สสค.อยู่ที่สภาฯ พร้อมผลักต่อ ชูโครงการ “ครูสอนดี” ต้นแบบครู “สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง” ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง

นายกฯย้ำ ต้นแบบครูสอนดี คือกลไกสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทย

ด้านผลสำรวจเอแบคโพลล์ระบุ ครูสอนดีต้องไม่เพียงเป็นครูที่สอนดี แต่ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู ที่สำคัญคือให้ความเท่าเทียมกับเด็กทุกคนไม่เลือกชนชั้น

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดการประชุม “จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นจะปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้อย่างไร” เพื่อปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยูนิเซฟ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และองค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วม 600 คน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในการเดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการยาวนานกว่าอายุรัฐบาลชุดนี้ และถึงแม้จะมีการยุบสภาการปฏิรูปการศึกษาก็จะต้องเดินหน้าต่อไป ตนอยากจะขอเน้นย้ำว่าการปฏิรูปการศึกษาหัวใจสำคัญก็คือคุณภาพคน ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นถือว่ามีความสำคัญมาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายวันมานี้ได้มีการสัมมนาและการบรรยายเรื่องการศึกษา ข่าวคราวที่เกิดขึ้นทำให้เราได้ตระหนักอย่างชัดเจนถึงสภาพวิกฤตที่เกิดขึ้นกับการศึกษาของไทย โดยบางฉบับระบุคำพูดตนว่า เด็กไทยโง่และอัปโชค ที่จริงแล้ว ได้มีการวิเคราะห์ผลการสอบโอเน็ตโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ม.6 ที่ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 15 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า เด็กที่สอบคณิตศาสตร์จำนวนแสนคน มีตัวเลขหลักแสนที่ได้ตัวเลข 0-10 % ประเด็นที่พูดคือ ข้อสอบแบบการกาเลือกข้อที่ถูกที่สุด

“หากกลับจากก็จะทำได้ 25% และคนก็จะได้คะแนนเฉลี่ย 25% จะเป็นไปได้อย่างไรที่เด็กจะได้คะแนน 0-10% เป็นไปไม่ได้ที่เด็กได้คะแนนโง่ และอับโชคขนาดนี้ ซึ่งพบว่า เด็กไม่ได้เข้าสอบในวิชาคณิตศาสตร์จำนวนมาก เพราะมีการรับตรง ดังนั้นเด็กจึงไม่ได้โง่ และอับโชค” นายกฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลขององค์การยูนิเซฟ พบข้อปัญหาผลสัมฤทธิ์ทั้งโอเน็ตและปีซ่าของเด็กเยาวชนไทย อยู่ในระดับไม่ดี ที่น่าวิตกคือ ปัญหาโอกาสทางการศึกษา บางคนมองว่า เราทำนโยบายเรียนฟรีแล้ว ปัญหาก็จะหมดไป แต่ที่จริงแล้วเป็นเพียงการยกระดับให้ดีขึ้น

ยังมีเด็กที่หลุดจากระบบการเรียนกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กวัยเดียวกัน ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีนโยบายด้านเด็กและเยาวชนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงมีการตั้ง สสค.ขึ้น เพื่อระดมพลังจากหลายภาคส่วน โดยเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการยกระดับคุณภาพการศึกษา คือ ครู เพราะไม่ใช่ทำเรื่องอื่น หรือการซื้อคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่คำตอบ กระทั่งเอาตัวเลขงบประมาณเพิ่มขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นคำตอบทางการศึกษาได้

ปัจจัยสำคัญคือ คุณภาพของครู จึงเป็นที่ว่าของโครงการครูสอนดี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่น ร่วมกันคัดเลือกครูที่ได้รับการยกย่องเป็นต้นแบบได้เพื่อให้รางวัล และขยายผลสู่การมีครูคุณภาพมากขึ้น โดยหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง

นายกฯย้ำ ต้นแบบครูสอนดี คือกลไกสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทย

วันนี้ เราจะคืนครูดีให้เด็กและเยาวชน เพื่อนำสู่การเสริมสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ คำตอบอยู่ที่ท้องถิ่น ดังนั้นกลไกดำเนินการจึงต้องมีคณะกรรมการในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นที่ปรึกษา แต่ในการขับเคลื่อนจะอยู่ที่ท้องถิ่นคือ หัวใจของการทำงานร่วมกัน โดยจะประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆเพื่อให้เกิดเครือข่ายครูสอนดิ

ซึ่งในปี 2554 จะเกิดครูสอนดีขึ้น 20,000 คน หรือเฉลี่ยตำบลละ 2-3 คน โดยจะมีการมอบรางวัลให้ครูสอนดีรายละ 10,000 บาทในช่วงปลายปีนี้ และมอบรางวัลทุนครูสอนดี 600 ทุน ให้ขยายผลการทำงานในระยะ 3 ปี งานนี้เราได้หมายตาไว้แล้ว 15 จังหวัดและบางจังหวัดมีความพร้อมของท้องถิ่นมากเราก็จะกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดเด็กที่ตกหล่นจากการศึกษา

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราได้แก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) หรือที่รู้จักกันว่า สสส.ทางการศึกษา ซึ่งหน่วยงานนี้จะเป็นกองทุนช่วยเหลือเรื่องการศึกษา

ซึ่งเราได้กำหนด 2 เรื่องสำคัญในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาคือ โอกาสทางการศึกษาของเด็กที่จะได้รับที่ดี ซึ่งเราจะตามไปเก็บตกที่หายจากระบบการศึกษาที่มีเกือบครึ่งว่าอยู่ที่ไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งความร่วมมือจาก ศธ. พม. กระทรวงการคลัง ที่ได้ร่วมกันออกมาตรการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั้ง เด็กเร่ร่อน เด็กตามไซด์งานก่อสร้าง

เราได้ติดตามดูว่าองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานในเรื่องนี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างไร หลายพื้นที่ทำได้แต่มีข้อจำกัดในเรื่องค่าอาหารและการเดินทางของเด็กและความยากลำบากในการส่งเด็กกลับเข้าสู่ระบบ ร.ร. เราก็ยินดีช่วยเหลือในเรื่องเรานั้น งานนี้เราได้หมายตาไว้แล้ว 15 จังหวัดและบางจังหวัดมีความพร้อมของท้องถิ่นมากเราก็จะกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดเด็กที่ตกหล่นจากการศึกษา

นายกฯย้ำ ต้นแบบครูสอนดี คือกลไกสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทย

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า โครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ท้องถิ่น เราไม่มีทางทราบได้ว่าครูสอนดีในจังหวัดต่างๆ เป็นใครบ้าง เราจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการท้องถิ่น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และท้องถิ่นอบต. อบจ.จะต้องทำงานร่วมกันเฟ้นหาบุคคลเหล่านี้เพื่อเป็นแกนนำในการยกระดับการศึกษาต่อไป เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่เพราะพวกเราทำงานแข่งขันกับเวลา ตนเห็นว่าหลายจังหวัดดำเนินการน่าชื่นชมเช่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยุธยา นนทบุรีก็มีความเข้มแข็งในเรื่องนี้

“เมื่อสักครู่ในช่วงที่รายงาน คณะทำงานได้สะท้อนความกังวลว่าเมื่อยุบสภาและมีการเลือกตั้ง การดำเนินงานในโครงการนี้จะมีอุปสรรคหรือไม่ เรื่องแรกคือเรื่องงบประมาณ 710 ล้านที่จะเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อรออนุมติในวันที 3 พ.ค.นี้ ซึ่งมีลักษณะระบบยืมเงินจากกระทรวงการคลังเหมือนครั้ง สสส. ซึ่ง สสค.จะใช้คืนเมื่อมีกฎหมายรองรับการจัดตั้งเป็นพระราชบัญญัติต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกฤษณพงศ์ กีรติกร นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน คนที่ 2 กล่าวว่า จากแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา เพื่ออนาคตคนไทยที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 โดยมอบหมายให้ สสค. ดำเนินการใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ 1. การยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ผ่านโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง “ครูสอนดี” 2. การสร้างโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพ ให้เด็ก เยาวชนด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงกลุ่มประชากรที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ จำนวนรวมทั้งสิ้น 13.8 ล้านคน

การปฏิรูปการเรียนรู้ในครั้งนี้ จึงเกิดกลไกสำคัญรูปแบบใหม่ขึ้น 2 ระดับ คือ คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ประกอบด้วย 5 ภาคส่วน คือ ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ มาทำงานร่วมกันด้านการศึกษา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดำเนินการแต่งตั้งกลไกทั้ง 2 ระดับขึ้นแล้ว

คุณภาพการศึกษาจะดีได้อยู่ที่คุณภาพการเรียนการสอนจึงเป็นที่มาของโครงการครูสอนดี ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติคือ สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง นั่นคือ มีการจัดการเรียนการสอนได้ดี ลูกศิษย์ก้าวหน้าในชีวิต และเป็นที่ยกย่องโดยทั่วไป ซึ่งครูสอนดีจะมีทั้งครูที่สอนในสถานศึกษา และนอกสถานศึกษา เช่น ครูที่สอนในมูลนิธิหรือครูตำรวจตระเวนชายแดน ที่สอนเด็กในชนบทห่างไกล เพื่อให้สังคมร่วมกันเฟ้นหาและยกย่องครูสอนดีเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนค่านิยมใหม่ของสังคมให้หันกลับมายกย่องครูที่เป็นแบบอย่าง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับครูในการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพกับเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง” นายกฤษณพงศ์ กล่าว

นายกฤษณพงศ์ กล่าวว่า ขั้นตอนในการคัดเลือกครูสอนดี ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ 1) การสรรหาครูสอนดี โดยสถานศึกษาและท้องถิ่นจะเป็นผู้เสนอชื่อครูสอนดีในท้องถิ่นของตัวเองไปยังคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับท้องถิ่น

2) การคัดเลือกครูสอนดี โดยคณะกรรมการระดับท้องถิ่น จะทำการคัดเลือกครูสอนดีตามคุณสมบัติที่กำหนด โดยต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 4 ของจำนวนในพื้นที่ ในจำนวนนี้หากมีครูที่สอนเด็กด้อยโอกาส จะได้รับการเสนอชื่อในจำนวน 1 ใน 4 ของรายชื่อทั้งหมด จากนั้นจะส่งรายชื่อมายังคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อคัดเลือกครูสอนดีให้ได้ตามสัดส่วนของจังหวัด รวมถึงการคัดเลือกรางวัลทุนครูสอนดี โดยเฉพาะครูที่สอนเด็กด้อยโอกาส จำนวน 600 รางวัล รายละ 500,000 บาท เพื่อขยายผลการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งจะมีการประกาศรายชื่อรอบแรกในเดือนกันยายน

3) กระบวนการตรวจสอบและรับฟังข้อทักท้วง เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดและท้องถิ่นจะเป็นผู้รับฟังข้อทักท้วง ซึ่งจังหวัดที่มีกระบวนการคัดเลือกที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม จะได้รับรางวัลเพื่อขยายผลการทำงานด้านการศึกษา จำนวน 10 จังหวัด จังหวัดละ 5 ล้านบาท โดยจะมีการมอบรางวัลครูสอนดี ทุนครูสอนดี และจังหวัดดีเด่นในช่วงปลายปี 2554นี้

ดร.นพดล กรรณิกา ด้าน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวถึงผลการสำรวจครั้งนี้ในหัวข้อเรื่อง “ครูแบบไหน ได้ใจเด็ก” ตัวอย่างจากเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 7-20 ปี ใน 5 หัวเมืองใหญ่ ประกอบด้วย กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา รวมทั้งสิ้น 3,284 ตัวอย่าง

“พบว่า นักเรียนได้ให้คะแนนคุณลักษณะของครูที่พึงประสงค์จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเต็ม 10 พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในค่าเฉลี่ยระดับสูง ด้วยคะแนน 7 – 8 ในทุกตัวชี้วัด ได้แก่ ความรู้ความสามารถ การพัฒนาหาความรู้เพิ่มเติม การประพฤติเป็นตัวอย่างที่ดี ดูแลเอาใจใส่เด็ก ความสามารถในการถ่ายทอด โดยวิชาที่เคยพบเจอครูสอนดีมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1 ครูสอนคณิตศาสตร์ ร้อยละ 25.8 อันดับ 2 คุณครูสอนภาษาไทย ร้อยละ 19.5 อันดับ 3 ครูสอนวิทยาศาสตร์ ร้อยละ 12.4 อันดับ 4 ครูสอนภาษาอังกฤษ ร้อยละ 9.9 และอันดับ 5 คุณครูสอนสังคมศาสตร์ ร้อยละ 8.2”

ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ เด็กที่รู้สึกว่าตนเองมีฐานะปานกลางจนถึงยากจน เป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าได้พบคุณลักษณะของคุณครูที่พึงประสงค์ “ด้อยกว่า” ในทุกตัวชี้วัด เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนร่ำรวย โดยเฉพาะเรื่อง “พูดจาดี ไม่โมโหง่าย” กลุ่มเด็กที่คิดว่าตนเองร่ำรวยได้พบครูที่พูดจาดีไม่โมโหง่ายมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 7.98 คะแนน ขณะที่กลุ่มเด็กฐานะปานกลางและยากจน พบค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าคือ 7.37 เท่านั้น

ทั้งนี้ จากการสอบถามนักเรียนพบว่า ส่วนใหญ่ 91% อยากให้มีครูสอนดีเกิดขึ้น โดยร้อยละ 70.7 อยากให้ครูในสถานศึกษาของตนเองทั้งหมดเป็นครูสอนดี ร้อยละ 20.9 อยากให้มีครูสอนดีเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 6.1 อยากให้มีบ้าง ร้อยละ 1.8 อยากให้มีก็ได้ไม่มีก็ได้ และร้อยละ 0.5 ไม่อยากให้มีครูสอนดีเลย

ขณะเดียวกันเมื่อให้ตัวอย่างจัดอันดับผลที่เกิดมากที่สุดจากการที่มีครูสอนดี พบว่าอันดับแรกคือ “ช่วยให้เด็กมีวิชาความรู้” (ร้อยละ 32.1) รองลงมาคือช่วยให้เด็กมีความสุขในการเรียน (ร้อยละ 13.0) และช่วยให้เด็กได้คะแนนสอบสูงๆ เกรดดีๆ (ร้อยละ 11.8) ตามลำดับ

“สิ่งที่น่าพิจารณาคือ เด็กบางส่วนก็มีประสบการณ์ในการพบกับครูที่สอนไม่ดี โดยเฉพาะครูที่มีลักษณะดุ อารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ และครูที่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน โดยเด็กให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นนี้มากกว่าการที่ครูสอนไม่เก่ง อธิบายไม่รู้เรื่อง หรือเป็นคนไม่เก่ง ไม่มีความรู้ เสียอีก” ดร.นพดล กล่าว

ดร.นพดล กล่าวอีกว่า มีงานวิจัยต่างประเทศหลายชิ้นได้เสนอแนะว่า คุณครูที่ได้ใจเด็ก มักจะเป็นคุณครูที่ไม่เลือกปฏิบัติ และพยายามลดความเลื่อมล้ำในชั้นเรียน ไม่ว่าเป็นเรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ สีผิว เพศ และชาติพันธุ์

นอกจากนี้ อุปสรรคสำคัญของการเรียนรู้และความสามารถทางสติปัญญาของเด็กนักเรียนคือ ความกลัว ถ้าเด็กรู้สึกว่าคุณครูเป็นคน “ดุ” และชอบข่มขู่ทำให้เด็กหวาดกลัว จะยิ่งทำให้เด็กไม่อยากเข้าเรียน ทำให้เด็กรู้สึกเบื่อ และส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก

“ทางออกคือ การปฏิรูปความสัมพันธ์กับเด็ก เปลี่ยนการสอนมาเป็นการแบ่งปันเรียนรู้ร่วมกัน ลดความเลื่อมล้ำในชั้นเรียน เคารพอัตลักษณ์ของเด็ก และทำให้เด็กรู้สึกอยากเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ทางปัญญาของพวกเขา” ดร.นพดล กล่าว

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ สสค. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กต้องการทั้งความรู้และความรักจากครู ดังนั้นโครงการครูสอนดีจึงสะท้อนให้เห็นว่า เด็กต้องการครูที่ทุ่มเทให้ความรักด้วยความจริงใจ ครูสอนดีคงไม่ใช่เพียงสอนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการครูที่มีคุณธรรมและจิตวิญญาณความเป็นครู

โครงการคัดเลือกครูสอนดี จึงมองทั้งประเด็นครูดีที่ถ่ายทอดวิชาการ และครูดีในความหมายของพ่อแม่คนที่ 2 ที่ให้ความรักและใส่ใจแก่เด็กอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการป้องกันและเยียวยาเด็กจำนวนมาก ไม่ให้เข้าสู่พฤติกรรมเสี่ยง เพราะเด็กขาดความรัก การคัดเลือกครูสอนดีจึงต้องใช้กลไกของพ่อแม่ เด็กๆ ชุมชนท้องถิ่นมาช่วยกัน ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพื่อที่เราจะได้ครูสอนดีที่เราหมายถึง

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน

 

Shares:
QR Code :
QR Code