นานาชาติชม 10 ปี ไทยคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นผล

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจาก สสส.


นานาชาติชม 10 ปี ไทยคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นผล thaihealth


ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับสำนักงานเครือข่าวองค์กรงดเหล้า สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดงาน"สิบปี พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551: ประเทศไทยได้อะไร"ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค


ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะสิบปีที่ผ่านมา โดยเริ่มที่การตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.ควบคุมการเข้าถึงแอลกอฮอล์ของไทย เน้นการปกป้องเด็ก เยาวชนและประชาชนให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น ต่างจากประเทศอื่นที่เน้นไปที่การควบคุมการดื่มแบบอันตราย ขณะที่ในแง่การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จากข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 2561 พบว่า มีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด เพียง 33 จังหวัดที่ส่งรายการการดำเนินงานฯ โดยมีเพียง 18 จังหวัดที่มีคณะกรรมการที่แต่งตั้ง มีองค์ประกอบถูกต้อง และมีการประชุมแล้ว ขณะที่บางจังหวัดยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ บางจังหวัด องค์ประกอบไม่ถูกต้อง บางจังหวัดยังไม่เคยมีการประชุมเลย นอกจากนี้ ในส่วนเนื้อหาของกฎหมายยังมีข้อวิจารณ์ว่ามีเนื้อหาไม่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรา 32 เรื่องการห้ามโฆษณาแอลกอฮอล์ และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มแข็ง อันเกิดจากเจ้าหน้าที่เองก็ไม่รู้ว่าการกระทำแบบใดผิดกฎหมายและไม่รู้อำนาจหน้าที่ของตัวเอง เช่นเดียวกับหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เช่น ฐานข้อมูลคดีความ และนโยบายเรื่องการออกใบอนุญาตจำหน่ายแอลกอฮอล์ ผลสำรวจชี้ว่า ประชาชนยังคงพบเห็นการจำหน่ายแอลกอฮอล์ในสถานที่และช่วงเวลาที่ห้ามขาย รวมถึงพบเห็นการขายให้เด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่วนการรับรู้กฎหมายนั้น พบว่า ประชาชนมีความรู้เรื่อง พ.ร.บ.ฯ หรือมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 70%


นานาชาติชม 10 ปี ไทยคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นผล thaihealth


นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอเรื่องบทบาทของภาครัฐในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยชี้ว่า นอกจากบทบาทในการพัฒนานโยบายและการกำหนดให้มีระบบเฝ้าระวังแล้ว อีกบทบาทที่สำคัญคือการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ ติดตาม และประเมินผล ตามที่ พ.ร.บ.และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ยังไม่มีข้อมูลความชุกของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกปี พร้อมย้ำถึงปัญหาการตีความของมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ฯ และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ การขาดการประเมินผลของกฎหมายหรือมาตรการว่า มีประสิทธิผลหรือไม่ ขณะที่วิจารณ์ด้วยว่า บุคลากรการสาธารณสุขยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย และยังขาดการประเมินการบริการ ความพร้อมของสถานพยาบาลในการให้บริการแก่ผู้มีปัญหาการดื่มสุราด้วย


นานาชาติชม 10 ปี ไทยคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นผล thaihealth


ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ไม่มีมาตรการใดมาตรการหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยหรือคนไทยลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงไปถึงระดับที่เราอยากจะเห็น แต่จะต้องอาศัยหลายมาตรการและที่สำคัญจะต้องใช้พื้นที่เป็นหลัก โดยต้องหาคนในพื้นที่มาเป็นพวก เปลี่ยนค่านิยมการดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ เพราะจากผลสำรวจก็เห็นแล้วว่า แม้ประชาชน 80-90% จะเห็นถึงพิษภัยของแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังมีการดื่มอยู่ ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น การปลอดเหล้าในงานประเพณี จ.สุรินทร์ ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ อย่างไรก็ตาม การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องไม่จบที่การเป็นไม้จิ้มฟัน ยังต้องหาทางแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรา 32 เรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่วนตัวแล้ว อยากให้มีการห้ามทั้งหมด จะได้ไม่ต้องนั่งตีความกันอีก นอกจากนี้ ยังมี ข้อเสนอให้มีการประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะทุก 3 เดือน และ 6 เดือน เพื่อทบทวนงานที่ทำมาว่าถูกผิดอย่างไรและควรแก้ไขอย่างไร ที่สำคัญที่สุด จะต้องไม่โยนหน้าที่กัน ทั้งฝ่ายราชการที่เป็นผู้ถือกฎหมาย และภาคประชาชนที่มีหน้าที่สนับสนุน


นานาชาติชม 10 ปี ไทยคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นผล thaihealth


ดร.เรณู มาดาเนียล การ์ก ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานอยู่ที่สำนักงานประจำภูมิภาคของ WHO ที่นิวเดลี ประเทศอินเดีย พบว่า ประเทศไทยถูกมองเป็นประเทศต้นแบบ โดยประเทศต่างๆ มักถามว่าประเทศไทยจัดการเรื่องนี้อย่างไร สำหรับข้อเสนอ คือ แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ดีแล้ว แต่ก็ยังต้องบังคับใช้ให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดต้องมีบทบาทนำที่มากขึ้น สอง ทำให้การบริโภคแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องปกติ ในบางประเทศ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่นปรากฏในภาพยนตร์ หรือแม้แต่อินเดียที่มักมีภาพการดื่มแอลกอฮอล์ปรากฏตลอดเวลา ในขณะที่บางประเทศมีคำเตือนและภาพบนซองบุหรี่ แอลกอฮอล์ก็ควรจะมีเช่นกัน นอกจากนี้ มองว่า สื่อและผู้มีชื่อเสียงสามารถมีบทบาทช่วยในเรื่องนี้ได้ และ สาม เนื่องจากอุตสาหกรรมสุราเข้ามาแทรกแซงในระดับนโยบายมากขึ้น จะต้องมีการเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในระดับนโยบายโปร่งใสกว่านี้ โดยอาจใช้การเคลื่อนไหวระดับโลกอย่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาสนับสนุน รวมถึงนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งสำหรับผู้กำหนดนโยบาย สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม โดยองค์การอนามัยโลกยินดีให้ความสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทย

Shares:
QR Code :
QR Code