นาซ่าแนะออกกำลังทิ้งน้ำหนักแนวดิ่ง

เดิน-วิ่ง-กระโดด ช่วยกระตุ้นกระดูก

 

 นาซ่าแนะออกกำลังทิ้งน้ำหนักแนวดิ่ง

 

          เปิดทฤษฎีออกกำลังแนวใหม่นาซาแนะให้ทิ้งน้ำหนักแนวดิ่ง ทำให้กระดูกเครียด กระตุ้นการสร้างความหนาแน่น ฉีกความเชื่อว่ายน้ำดีสุด ระบุแค่ทำให้อก-ไหล่ใหญ่เท่านั้น แต่ขาบางต้องวิ่ง-เดินควบคู่ด้วยจึงสมส่วน

 

          เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นายรุ่งชัย ชวนไชยะกูล รองเลขาธิการเครือข่ายคนไทยไร้พุงเปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายคนไทยไร้พุงร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกายขึ้น ที่ จ.เชียงใหม่ โดยได้เชิญนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพมาบรรยาย เช่น ศ.ดร.อลัน ฮาเก็นส์ อดีตผู้เชี่ยวชาญจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลีสวิทยาเขตซานดิเอโก้ (ยูซีแอลเอ) มาบรรยายเรื่องทฤษฎีใหม่ของการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัย เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก

 

          “ดร.อาเก็นส์ให้ข้อมูลว่า ในสมัยที่ทำงานอยู่นาซ่าได้เก็บข้อมูลสุขภาพของนักบินอวกาศทุกคนที่อยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเวลานานๆ โดยพบว่า นักบินอวกาศเหล่านั้น เมื่อกลับลงมาใช้ชีวิตที่มีแรงโน้มถ่วงตามปกติบนโลก ทุกคนจะมีปัญหาการเกิดโรคกระดูกพรุนตามมา เมื่อได้ศึกษาเพิ่มเติมพบว่า กระดูกของคนเราจะเปราะบางและอ่อนแอทันทีหากไม่มีการออกแรงใดๆ คือ กระดูกจะแข็งแรงได้ต่อเมื่อมีการลงน้ำหนักในแนวดิ่ง ทางการแพทย์เรียกว่าการทำให้กระดูกเกิดความเครียด เมื่อกระดูกเกิดความเครียดก็จะมีการพัฒนาตัวเองโดยสร้างความหนาแน่นเพิ่มขึ้น นำไปสู่ทฤษฎีการออกกำลังกายที่ว่า ไม่ว่าวัยไหนก็จะต้องออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งออกกำลังกายด้วยการเดิน หรือวิ่งที่เหมาะสม” นายรุ่งชัยกล่าว

 

          นายรุ่งชัยกล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวนำมาใช้กับการรักษาอาการกระดูกพรุนในคนสูงอายุ และเด็กทารกที่เดินช้า เพราะเดิมทีเมื่อมีผู้สูงอายุที่มีอาการโรคกระดูกพรุน ลูกหลานที่บ้านมักจะไม่ยอมให้ทำอะไร โดยเฉพาะการเดิน เพราะเกรงว่าผู้ป่วยจะเกิดความทุกข์ทรมาน ทั้งที่ความจริงแล้วการเดิน หรือการทิ้งน้ำหนักตัวที่เหมาะสมในแนวดิ่ง เป็นการรักษาอาการกระดูกพรุนที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะช่วยเพิ่มปริมาณมวลกระดูกให้ผู้ป่วยเช่นเดียวกับเด็กทารกที่เดินช้ากว่าปกติ ที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่พ่อแม่อุ้มมากเกินไปซึ่งอดีตผู้เชี่ยวชาญจากนาซาแนะนำว่า พ่อแม่จะต้องคอยจับลูกเดิน ให้ลูกได้ลงน้ำหนักตัวไปที่เท้า โดยมีพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงช่วยประคอง เด็กจะเดินได้เร็วขึ้น

 

 นาซ่าแนะออกกำลังทิ้งน้ำหนักแนวดิ่ง

 

          “อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก ที่คนไทยจำนวนมากยังเข้าใจคลาดเคลื่อน และถูกบอกต่อๆ กันมาตลอดว่า การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด เพราะได้เคลื่อนไหวทุกสัดส่วนของร่างกายทำให้มีพ่อแม่จำนวนมากต้องการให้ลูกมีร่างกายแข็งแรงสมส่วนไปเรียนว่ายน้ำ แต่ความจริงคือ การว่ายน้ำเพียงอย่างเดียวจะทำให้หน้าอกใหญ่หัวไหล่ใหญ่ แต่กระดูกขาบาง เนื่องจากไม่ค่อยได้ทิ้งน้ำหนักตัวในแนวดิ่ง แต่ทฤษฎีการออกกำลังกายที่สมส่วนแบบใหม่ นอกจากว่ายน้ำแล้วจะต้องวิ่งและกระโดดเชือกควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณมวลกระดูกส่วนขาให้แข็งแรงและได้สัดส่วน” นายรุ่งชัยกล่าว

 

          รองเลขาธิการเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่าพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงอย่างมากของคนไทยในเวลานี้ก็คือ ออกกำลังกายน้อย หรือแทบจะไม่ออกกำลังกายเลย แต่จะใช้วิธีการกินวิตามินและอาหารเสริมเข้าไปแทน โดยเข้าใจว่าของพวกนี้จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะการกินอาหารอย่างเพียงพอร่างกายไม่จำเป็นต้องได้รับวิตามินเสริมอีกแล้ว

 

          “ถ้าเรากินอาหารครบแล้วยังกินวิตามินเข้าไปอีก แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะกินเข้าไปเท่าไหร่ร่างกายก็จะขับออกมาทางปัสสาวะหมด สังเกตได้ว่า คนที่กินวิตามินเข้าไปมากๆ แบบไม่มีความจำเป็นนั้น ปัสสาวะมักจะมีกลิ่นเหม็น การกินวิตามินต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น ซึ่งแพทย์จะสั่งให้เฉพาะผู้ที่ร่างกายขาดวิตามินจริงๆ” นายรุ่งชัยกล่าว

 

          นายรุ่งชัยกล่าวว่า สำหรับการรักษาผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกในเมืองนอกเวลานี้ แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยค่อยๆ เดิน ในรายที่พอจะเดินได้บ้าง หรือไม่ก็ให้วิ่งจ๊อกกิ้งเบาๆ พร้อมทั้งสั่งให้เพิ่มปริมาณแคลเซียมในร่างกาย โดยการดื่มนมและนั่งตากแดดในตอนเช้า โดยแสงแดดจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดี และวิตามินดีก็จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างมวลกระดูก และทำให้กระดูกแข็งแรงมากขึ้น ไม่จำเป็นหมอจะไม่สั่งแคลเซียมให้คนไข้โดยตรง ขณะที่คนไทยจะกินแคลเซียม หรือวิตามินเสริมตามอิทธิพลการโฆษณา โดยที่แพทย์ไม่สั่งจำนวนมาก ถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update : 20-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ