‘นาจิก’ หนุนธรรมนูญตำบล-เสริมสุขภาวะในพึ้นที่
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
อำนาจเจริญ จังหวัดที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นจังหวัดยากจนรั้งท้ายของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมหลายด้านตามมา ทั้งปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเด็กและเยาวชน เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เป็นต้น
จากปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การจัดการด้วยภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมีการจัดทำ "ธรรมนูญจังหวัด" เมื่อปี พ.ศ.2555 เป็นกติกาหรือข้อตกลงของคนและชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการตนเองในด้านการเมือง การปกครอง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาท้องถิ่นในทุกด้านแบบองค์รวม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข้งยั่งยืน
ล่าสุดในกิจกรรมลงพื้นที่ภายใต้เวที "เชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะ" จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพัฒนาภาคีและวิเทศสัมพันธ์ สสส. ศูนย์ประชาสังคมและจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ (ศปส.) และภาคีเครือข่ายสุขภาวะอีสาน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. พยายามพัฒนาและขยายพื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศกว่าหนึ่งหมื่นแห่งเพื่อให้การสร้างเสริมสุขภาพใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ของเครือข่ายผู้นำในพื้นที่ และรณรงค์ในประชาชนในพื้นที่ ยกระดับจากการจัดการความรู้และศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ให้เป็นศูนย์กลางในการดูแล สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง
"สำหรับในพื้นที่ของตำบลคำกลาง และตำบลนาจิก ถือเป็นหนึ่งในโมเดลการจัดการเรื่องเหล้า บุหรี่ระดับประเทศ และยังมีอีกหลายประเด็นที่เกิด การบูรณาการโดยคนในชุมชนเอง ซึ่ง สสส. เป็นเพียงส่วนที่เข้ามาเสริมให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นขั้นตอนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนอำนาจเจริญ มีความปรองดอง และสามัคคีกันมาก ซึ่งนี่คือส่วนสำคัญที่ทำให้การทำงานบรรลุเป้าหมายได้ โดยหากทุกพื้นที่สามารถร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่เช่นนี้ได้ ปัญหาและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เรื่องสุขภาพ ในสังคมไทยก็จะเกิดขึ้นน้อยลง" ดร.สุปรีดา กล่าว
ด้าน ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำบลนาจิกเป็นพื้นที่ที่นำหลักการ change management หรือ 8 ขั้นตอนเพื่อการเปลี่ยนแปลงในองค์กรมาปรับใช้ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งประกอบด้วย 1.Create sense of urgency ทำให้คนในองค์กรตระหนักว่าตอนนี้มีปัญหาอะไร ทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีเหตุผลหรือความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร 2.Build guiding coalition สร้างแกนนำพันธมิตร ซึ่งคนกลุ่มนี้ ต้องเป็นคนที่มีความสามารถ เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ขององค์กร และ มีทักษะในการสื่อสาร มีอิทธิพลต่อผู้อื่น 3.Form strategic vision and initiatives สร้างวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ และริเริ่มสร้างสรรค์ 4.Enlist volunteer army มีกองทัพอาสาแทรกอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ที่เข้าใจในสิ่งที่กำลังทำสามารถสื่อสารไปสู่คนอื่นๆ 5.Enable action by removing barriers พัฒนาและปรับเปลี่ยนการทำงานของตนให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง 6.Generate short-term wins การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่จนประสบความสำเร็จ อาจเกิดขึ้นได้ช้า และค่อยเป็นค่อยไป 7.Sustain acceleration สามารถทำได้โดยการสร้างสมดุลระหว่างการจัดการการเปลี่ยนแปลง และ 8.Institute change สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยทำให้การเปลี่ยนแปลง กลายเป็นวัฒนธรรมของพื้นที่ให้มีความพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยน และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นอยู่เสมอ
"จุดเด่นของนาจิกคือ การจัดตั้งธรรมนูญตำบล ที่เปรียบเหมือนกฎหมายที่ใช้ร่วมกันในชุมชน โดยทุกคนต้องเคารพกฎร่วมกันไม่ว่าจะเป็นผู้นำ หรือ ชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกแบ่งชนชั้น เกิดการเกื้อหนุนกันโดยอัตโนมัติ เมื่อไม่มีความขัดแย้งต่อกัน การดำเนินงานก็จะสามารถเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากพื้นที่นาจิกแล้ว ในหลายพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ และภาคีเครือข่าย ภาคอีสานในหลายจังหวัดก็ต่างมีบริบทการทำงานที่หลากหลาย การจัดกิจกรรมลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นเจตนาของทาง สสส. ที่อยากให้เกิดการเชื่อมประสานในแต่ละพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน และนำสิ่งที่ได้ไปพัฒนาพื้นที่ของตนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป" ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว
มาที่ นายนิคม ฝ่ายบุตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาจิก เล่าถึงการทำงานในพื้นที่ว่า ตำบลนาจิกเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบปัญหาเหล้า บุหรี่ การใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ตลอดจนความรุนแรง โดยเริ่มแรกของการขับเคลื่อนทุกคนต่างมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่ยังคงเดินหน้าเพราะอยากให้ชุมชนเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี ซึ่งมีการประชุมเพื่อวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน เกิดการจัดตั้งสภากลางขึ้นเพื่อเชื่อมโยงการทำงานภายในพื้นที่ โดยนำหลักการของธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญมาปรับใช้ ที่ได้กำหนดให้แต่ละพื้นที่มีสภากลาง และ 1 ตำบล 1 แผนพัฒนา อย่างน้อย 30 พื้นที่ ซึ่งทุกตำบลต้องนำธรรมนูญของตำบลตนเองไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ตามศักยภาพของพื้นที่
นายนิคม อธิบายต่อว่า การจัดตั้งธรรมนูญตำบลเพื่อเป็นข้อกำหนดร่วมกันมีทั้งการอ้างอิงจากกฎหมายและข้อเสนอของคนในชุมชนรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ปัญหาเรื่องเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ที่ทางสภากลางลงมติว่าต้องจัดการอย่างจริงจัง เพราะเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เป็นต้นเหตุของปัญหาในชุมชนที่ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและสังคม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่และครัวเรือน เช่น งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันเข้าพรรษา วันพระและวันนักขัตฤกษ์ ไปจำหน่ายแก่บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณ วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ งานบุญ งานบวช งานกฐิน และงานศพ กรณีที่เกิดการทะเลาะวิวาทก็มีการปรับเงิน 500 บาททั้งสองฝ่าย เป็นต้น โดยล่าสุดยังได้เข้าร่วมโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ทางตำบลได้จัดทำประกาศนียบัตรเพื่อเป็นรางวัลให้แก่ผู้ทำได้ตรงตามเป้าหมาย อีกทั้งยังได้ชักชวนเหล่าผู้นำหมู่บ้านที่ดื่มเหล้าร่วมโครงการเพื่อเป็นต้นแบบให้คนในชุมชน
"ธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่มีความเป็นระเบียบ แต่หากประชาชนไม่ให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามก็ไร้ความหมาย จุดแข็งของเราคือ ความสามัคคี แต่ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณหลายฝ่ายโดยเฉพาะ สสส. ที่เข้ามาให้การสนับสนุนองค์ความรู้ อีกทั้งยังช่วยเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาให้ปัจจุบันนาจิกสามารถเปิดรับพื้นที่อื่นเข้ามาศึกษาการทำงานเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง เป็นความภาคภูมิใจของชาวนาจิกทุกคน ซึ่งเป้าหมายการทำงานของเราจะไม่หยุดแค่ตรงนี้ เราได้กำหนดไปยังอีก 5 ปีข้างหน้า ในการจะเป็นตำบลแห่งการจัดการตนเองอย่างสมบูรณ์ในทุกด้านอย่างยั่งยืน" นายนิคมทิ้งท้าย