นางฟ้าชุดขาว ด่านหน้าสู้โควิด-19
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก เว็บไซต์ www.psu.ac.th
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
12 พฤษภาคม วันพยาบาลสากล ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสดุดีคุณงามความดีของ “มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล” ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาล และทำประโยชน์มากมายแก่เพื่อนมนุษย์ อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลกร่วมมือจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางในการรณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพในแต่ละปี
เช่นเดียวกับปีนี้ ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพอย่างโรคระบาด โควิด-19 ที่ทำให้โรงพยาบาลในประเทศไทยกลายเป็นดั่งสมรภูมิที่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ต้องออกรบอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อรักษาชีวิตคนไทยที่เจ็บป่วย
พยาบาล หนึ่งในด่านหน้าผู้ซึ่งเสียสละตัวเอง ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทำงานร่วมกับแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย เรามักเรียกพวกเขาว่า นางฟ้าชุดขาว ผู้ทำหน้าที่ตั้งแต่ซักประวัติ และคอยดูแลคนไข้จนเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้ และทำให้คนไข้อุ่นใจมากยิ่งขึ้น
ช่วงที่โควิด – 19 ระบาด นอกจากโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยโควิด -19 แล้ว เมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นชั่วคราว หรือที่เราเรียกกันว่า โรงพยาบาลสนาม ที่ภาคใต้นอกจากที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว จังหวัดสงขลา ก็มีการเปิดโรงพยาบาลสนามขึ้นเช่นกัน โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดโรงพยาบาลสนาม รับคนไข้โควิด-19 จากโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลามาพักฟื้น ที่ศูนย์บ่มเพาะคนดี สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เปิดเป็นโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 (SongkhlaCovid – 19 Recovery Camp)
ศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่รองรับผู้ป่วยโควิด – 19 ที่มีอาการดีขึ้นแล้ว จากโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดสงขลา แต่ยังต้องพักฟื้นให้หายขาด เพื่อให้โรงพยาบาล มีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโควิด – 19 ที่มีอาการรุนแรง และเพื่อให้คนไข้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติ มีโอกาสมีชีวิตรอดมากขึ้น ซึ่งภายในศูนย์นี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 50 คน
นางสาวกุลชรี สกุลหนู พยาบาลวิชาชีพ ประจำหอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 2 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในพยาบาลอาสาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 เล่าว่า ตนมีหน้าที่ช่วยแพทย์ในการเก็บสิ่งส่งตรวจคนไข้ เจาะเลือด นำอาหาร 3 มื้อไปส่งให้คนไข้ และดูแลความเรียบร้อยอื่นๆ โดยผู้ป่วยที่นี่จะต้องตรวจดูเชื้อทุกๆ 3-5 วัน ถ้าผลเป็นลบ 2 ครั้งติดต่อกัน ก็จะได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนว่า คนไข้ปลอดเชื้อแล้ว
“ตอนนั้นหัวหน้าบอกว่าจะเปิดโรงพยาบาลสนาม ต้องการพยาบาลอาสาเพื่อที่จะมาอยู่ที่แคมป์ ต้องเป็นคนที่ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีภาระ เรามีคุณสมบัติ เลยสมัครใจไป ปกติทำงานวันละ 8 ชม. แต่มาอยู่ที่นี่ ต้องเข้ากะละ 12 ชั่วโมง ค่าตอบแทนก็คิดตามชม.ทำงานปกติ แม้จะมีชั่วโมงกะที่มากขึ้น แต่เราเต็มใจทำ” เธอกล่าว
เธอเล่าว่า การปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวันนั้น ต้องแต่งตัว 2 แบบ คือ
1. แบบธรรมดาที่ไม่ได้ติดต่อกับคนไข้โดยตรง แค่ไปส่งข้าวที่โซนสีแดงวันละ 3 มื้อ โดยในแต่ละครั้งนั้น ใส่ชุดพยาบาลสีเขียว หน้ากากอนามัย พลาสเตอร์ไมโครปอร์ติดรอบ 4 มุมของหน้ากาก ใส่หมวกเก็บผม หน้ากากเฟสชิลด์ เสื้อกาวน์กันน้ำ ถุงมือสองชั้น ถุงเท้าและรองเท้าบูส พอออกมาจากโซนแดง ต้องถอดตามขั้นตอน และอาบน้ำสระผมในห้องน้ำแยกโซนออกมาจากห้องพัก วันละไม่ต่ำกว่า 3 รอบ
2.ในการปฏิบัติหน้าที่ เจาะเลือด ช่วยแพทย์เก็บสิ่งส่งตรวจต้องใส่ชุด PPE เพื่อป้องกันเชื้อ
นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่สื่อสารกับผู้ป่วยผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อประเมินสภาพผู้ป่วยรายวัน และให้คนไข้วัดไข้ วัดชีพจร วัดความดันโลหิต วัดค่าออกซิเจนในเลือด และส่งข้อมูลมาให้ เพื่อบันทึกข้อมูลลงในระบบ HIS อีกด้วย
ดูจากลักษณะงานและการปฏิบัติตนหลายขั้นตอนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด คงทำให้รู้สึกเหนื่อยไม่น้อย แต่เธอกลับบอกว่า ไม่รู้สึกเหนื่อย และไม่ได้กังวล เพราะระบบการทำงานนั้นมีกระบวนการป้องกันอย่างรัดกุมและเคร่งครัด ทำให้มั่นใจในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเชื้อตรงนี้
เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกมาเป็นพยาบาล เธอบอกด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า อยากดูแล และเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพให้คนในครอบครัว รวมถึงได้ช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย แม้ไม่ใช่ญาติ แต่ก็ดูแลดุจญาติมิตร เป้าหมายเพื่อให้พวกเขาหายจากการเจ็บป่วยและมีสุขภาพที่ดี เธอยังบอกอีกว่า นอกจากเธอเสียสละมาแล้ว คนในวอร์ดเดิมที่ทำงานปกตินั้นต้องเสียสละ ทำงานแทนคนที่มาโรงบาลสนาม ต้องทำงานหนักขึ้น เธอจึงต้องขอบคุณและขอโทษเพื่อนพยาบาลด้วยกันไว้ ณ ที่นี้ด้วย
“ถ้าไม่มีพยาบาล จะทำอย่างไร? ” นี่คือคำตอบในคำถามของเธอ เธอพูดต่อว่า เพราะพยาบาล ทำทุกอย่าง ทั้งหน้าที่ของพยาบาล แม่บ้าน เก็บขยะ พยาบาลทำหมด มาอยู่จุดนี้ เราเสียสละ เราคือหน่วยกล้าตาย ดังนั้น ขอร้องคนไข้ว่าอย่าปกปิดข้อมูล เพื่อความปลอดภัยของแพทย์ พยาบาล รวมทั้งคนอื่นๆ ด้วย
เธอทิ้งท้ายว่า ขอให้ทีมแพทย์ พยาบาล และทุกคน สู้ๆ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อเป็นการเซฟตัวเอง และครอบครัวให้ดีที่สุด
ถึงแม้ตอนนี้ ตัวเลขผู้ป่วยโควิด -19 จะลดน้อยลง และสถานการณ์กำลังจะดีขึ้น แต่ขอความร่วมมือทุกคน การ์ดอย่าตก ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางภาครัฐเน้นย้ำอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและความเหน็ดเหนื่อยของฮีโร่ ด่านหน้าสู้โควิด อย่างทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขผู้เสียสละทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยทุกท่าน
นอกจากนี้หากใครสนใจสื่อเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งทาง สสส. ได้จัดทำขึ้นหลากหลายประเด็น ทั้งการดูแลตัวเอง และการดูแลองค์กรให้ปลอดภัยจากโควิด สามารถเข้าไปดาวน์โหลดฟรีได้ที่ ติดตามข้อมูลโควิด-19 ได้ที่ https://bit.ly/2wNe7TY
สสส.ขอเป็นตัวแทนของคนไทยขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน