นักโภชนาการประจำตำบลสร้างคนคุณภาพ

          ผอม…อ้วน…เตี้ย… คือภาพสะท้อนสุขภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก เยาวชนในปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญหนีไม่พ้นการบริโภคอาหารที่ไม่คำนึงถึงหลักโภชนาการ


          แน่นอนว่าตลอดทั้งวันเด็กใช้ชีวิตอยู่ภายในการดูแลของสถานศึกษา ครู มากกว่าอยู่ที่บ้าน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารที่เด็กบริโภคเข้าไปในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ของคนดูแลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


          จากผลการสำรวจของกรมอนามัยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเดือนมีนาคม 2557 พบว่า ร้อยละ 80 ของโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังจัดบริการอาหารไม่ได้มาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย แม้รัฐบาลจะขึ้นค่าอาหารกลางวันนักเรียนจากวันละ 13 บาทต่อคน เป็น 20 บาทต่อคน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 แล้วก็ตาม


          ทั้งนี้เพราะโรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังขาดการบริหารจัดการเชิงระบบ ครู ผู้ดูแลเด็กที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันไม่สามารถจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะหน้าที่หลักคือสอนหนังสือ ประกอบกับการจัดอาหารสำหรับเด็กที่มีปัญหาภาวะทุพโภชนาการ หรือการพัฒนาอาหารให้มีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยนั้น จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้และทักษะด้านอาหารและโภชนาการในเชิงลึก จึงจะจัดการได้สำเร็จ


นักโภชนาการประจำตำบลสร้างคนคุณภาพ thaihealth


แฟ้มภาพ


          บทเรียนการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ของกรมอนามัย ร่วมกับ สสส. และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ปี 2551-2556 ค้นพบว่า โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีนักโภชนาการหรือมีอัตราจ้างผู้ที่จบด้านอาหารและโภชนาการอยู่ประจำ จะมีการจัดการด้านอาหารและโภชนาการได้คุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัยมากกว่าโรงเรียนที่ไม่มีบุคลากรด้านนี้ และเมื่อเทียบเคียงผลการดำเนินงานกับนานาชาติที่เจริญแล้วและมีผลสำเร็จด้านการพัฒนาคน เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอังกฤษ พบว่าประเทศเหล่านี้ล้วนมีนักโภชนาการประจำโรงเรียนเป็นส่วนมาก


          เหตุนี้ จึงเกิดคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้องมี "นักโภชนาการประจำตำบล" หรือจะเรียกว่า "นักการจัดการด้านอาหารและโภชนาการชุมชน" เข้ามาดูแลการบริโภคของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นอย่างจริงจัง


          สำหรับบทบาทหน้าที่นี้ นางรัศมีแสง นาคอ่อน นักโภชนาการ สถานีอนามัยเด็กกลาง ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ ยอมรับว่า แม้จะเป็นหน้าที่ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง เพราะที่ผ่านมาภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หน้าที่การดูแลควบคุมด้านโภชนาการให้เด็กๆ จะตกอยู่ที่พี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งงานประจำในการดูแลเด็กก็มากพออยู่แล้ว การจะมาคอยดูแลเรื่องอาหารการกินอาจเป็นการเพิ่มภาระ และอาจส่งผลให้เด็กเข้าไม่ถึงการบริโภคที่มีคุณภาพ จากความไม่เชี่ยวชาญด้านอาหารนั้น ทำให้หน้าที่ของนักโภชนาการ มีความสำคัญในการคัดสรรเมนูอาหารมื้อกลางวัน อาหารว่าง ให้มีสัดส่วนถูกต้องตามหลักโภชนาการ อีกทั้งต้องควบคุมการปรุง ประกอบอาหาร ตรวจสอบอาหารที่จะจัดส่งไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก เยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเด็กอ้วน ผอม เตี้ย


          "เราต้องคิดเมนูที่ไม่ซ้ำกันภายใน 1-2 สัปดาห์ ต้องปรับเปลี่ยนเมนูให้มีความหลากหลาย เด็กจะได้ไม่เบื่อ และได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเด็กในวัย 1 ขวบครึ่งถึง 3 ขวบ ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะอยู่ในช่วงพัฒนาการที่สำคัญ จึงควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ และคุณภาพ นักโภชนาการจึงเป็นบทบาทที่ต้องสนับสนุน" นักโภชนาการ ขยายความ


          ไม่เพียงจะควบคุม ดูแล คัดสรรเมนูอาหารเท่านั้น การศึกษา และแก้ปัญหาด้านพฤติกรรมการบริโภคให้เด็กกลุ่มเสี่ยง อ้วน ผอม เตี้ย ยังเป็นอีกบทบาทที่ รัศมีแสง ต้องประเมินความเสี่ยง และหาแนวทางลดพฤติกรรมที่จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก เยาวชน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ผู้ปกครอง ในการดูแลเอาใจใส่ด้านการบริโภคให้บุตรหลาน


นักโภชนาการประจำตำบลสร้างคนคุณภาพ thaihealth


แฟ้มภาพ


          สอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้นำท้องถิ่น นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการจัดการด้านเมนูอาหารให้เด็ก เยาวชน ที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น ยังทำได้ไม่ดีพอ ส่วนใหญ่การดูแลจะเน้นจากความคุ้นชิน คำแนะนำจากตำรา โดยไม่มีผู้รู้จริงซึ่งเป็นนักโภชนาการมืออาชีพ มาคอยให้คำแนะนำ จึงเห็นด้วยกับความพยายามผลักดันให้มีการจัดนักโภชนาการประจำท้องถิ่น


          ไม่ต่างจาก นายสำเนาว์ รัศมิทัต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ที่ยอมรับเช่นกันว่า การที่เด็ก เยาวชนไม่ได้รับการเอาใจใส่ด้านการบริโภคที่ดีพอ ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวทั้งโรคอ้วน ฟันผุ ขาดวิตามิน ซึ่งขณะนี้เชื่อว่าการจัดการด้านอาหารให้เด็กในแต่ละวันก็ยังทำได้ไม่เต็มที่


          "การมีครัวกลาง หรือมีนักโภชนาการประจำท้องถิ่นจะมีส่วนช่วยสำคัญไม่เพียงควบคุมดูแลการบริโภคให้เด็ก เยาวชนเท่านั้น ยังสามารถสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชน ผู้ปกครอง ในเรื่องอาหารการกินที่มีคุณภาพได้อีกด้วย" นายก อบต.บางน้ำผึ้ง ขยายความ


          ข้อเท็จจริงจากปากผู้บริหารท้องถิ่นที่เกิดขึ้น ยังนำไปสู่ข้อเสนอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ออกข้อกำหนดให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งต้องมีนักโภชนาการอยู่ประจำ พร้อมสนับสนุนงบประมาณเพื่อไว้ว่าจ้างอัตรากำลังนักโภชนาการดังกล่าว จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย แต่การผลักดันแนวทางนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายตราบใดที่ยังไม่สามารถสร้างความตระหนักให้ผู้ใหญ่ของท้องถิ่นออกมาแสดงความจริงใจในการดูแลเด็ก เยาวชน ซึ่งเป็นบุตรหลานของคนในท้องถิ่น


          เรื่องนี้ นายสุเทพ พงษ์ใหม่ อุปนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนองค์กรบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ไม่ปฏิเสธว่า ปัจจุบันยังมีหลายท้องถิ่นที่ยังมุ่งเน้นงานที่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมเชิงโครงสร้าง มากกว่าประเด็นสุขภาพของคนในชุมชน


          "เรื่องสุขภาพของเด็ก เยาวชน เห็นผลการเปลี่ยนในระยะยาว แต่สิ่งที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงทันที อย่างการก่อสร้างต่างๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น กลับกลายเป็นสิ่งที่นักการเมืองท้องถิ่นให้ความสำคัญมากกว่า ซึ่งอาจบอกได้ว่านักการเมืองท้องถิ่นยังห่วงคะแนนเสียงทางการเมือง มากกว่าสุขภาพลูกหลานของตัวเอง จึงอยากเห็นการสร้างความตระหนักเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้" อุปนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียน อบจ. สะท้อนมุมมอง


          ดังนั้นน่าจะถึงเวลาแล้วที่ท้องถิ่นไทยควรมี "นักโภชนาการประจำตำบล" เพื่อช่วยดูแล จัดสรร และให้คำปรึกษาเรื่องการกินแก่คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กๆ หากพวกเขาได้รับการเอาใจใส่เรื่องอาหารตั้งแต่ยังเล็กๆ โตขึ้นก็จะได้เป็นคนคุณภาพของประเทศต่อไป


      


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ