“นักสืบไซเบอร์” ท่องเน็ตปลอดภัยในยุคดิจิทัล

กระตุ้นนักเรียนนักศึกษาใช้อินเตอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์

“นักสืบไซเบอร์” ท่องเน็ตปลอดภัยในยุคดิจิทัล 

          “ยุคดิจิทัล” ที่อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้นไม่ว่าจะใช้เพื่อเรียน ทำงาน หรือเพื่อความบันเทิง แต่เทคโนโลยีก็เหมือนดาบสองคมที่มีทั้งด้านดีและเสีย หากเราใช้ในทางไม่ดี หรือไม่รู้เท่าทัน ก็อาจตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีได้

 

          ทางมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จึงร่วมกับทางอุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค และกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) จัดงาน “มหกรรมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 4″เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจคือการประกวดโครงการนักสืบไซเบอร์ (cyber police junior)

 

          โดยผลการประกวดปรากฏว่าผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ คือ โรงเรียนวัดม่วงกรุงเทพฯ สมาชิกประกอบด้วย ด.ช.มัชพล อัญชลีพรสันต์ ด.ช.จิรายุ หาญเนืองนิตย์ ด.ญ.กัญญาพัชร อยู่พ่วง มีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ อ.วีระชาติ ภาษีชา และอ.ศิริพันธ์ จันทร์เล็กเย็น

 

          น้อง ๆ จากโรงเรียนวัดม่วง บอกว่าทางโรงเรียนได้จัดทำโครงการนักสืบไซเบอร์เพื่อให้เด็ก ๆ นักเรียนได้ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ ปลอดภัย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับสมัครนักเรียนเข้าเป็นสารวัตรนักสืบไซเบอร์ เพื่อช่วยกันสอดส่องดูเพื่อน ๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตที่โรงเรียนในทางไม่เหมาะสมจากเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 40 เครื่อง ทั้งการแอบเล่นเกม การเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่ดี เช่นเว็บไซต์ลามกหรือเกี่ยวกับการพนัน หลอกลวง ก็จะทำการตักเตือน พร้อมแจ้งรายชื่อเว็บไซต์เหล่านั้นไปยัง  http://www.thaihotline.org เพื่อดำเนินการกับเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อไป ปัจจุบันมีเพื่อนที่โรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 40% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด1,100 คน

 

          นอกจากนี้ยังได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านการทำแผ่นพับ จัดบอร์ดและทำ อี-บุ๊กรณรงค์เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการแชต หรือเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงในเรื่องต่าง ๆได้ ซึ่งหลังจากเริ่มโครงการได้ 6 เดือนปัญหาเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตในทางไม่ดีเช่น เล่นเกมในเวลาเรียน หรือเข้าเว็บไซต์ไม่เหมาะสมลดลงมากด้าน อาจารย์วีระชาติ ภาษีชา

 

          กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการจัดโครงการในโรงเรียนแล้วทางนักเรียนและครูยังได้ทำการรณรงค์เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตในชุมชนด้วย เพราะภายในชุมชนบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนจะมีร้านเกมและอินเทอร์เน็ตเยอะมาก ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องทำงานจึงไม่ค่อยมีความคุ้นเคยกับการเรียนรู้ใช้เทคโนโลยี ทำให้เด็กในชุมชนมีโอกาสเสี่ยงที่จะกลายเป็นทาสเทคโนโลยีหรือตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพ

 

          “ทางครูและนักเรียนได้เข้าไปรณรงค์ขอความร่วมมือกับร้านอินเทอร์เน็ต ไม่ให้บริการกับเด็กในเวลาเรียน ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี รวมถึงเข้าไปเยี่ยมผู้ปกครองถึงบ้านเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เช่น หากเด็กเล่นเกมในวันธรรมดาไม่ควรเกินวันละหนึ่งชั่วโมง ส่วนวันหยุดไม่ควรเกินสองชั่วโมง และการเล่นอินเทอร์เน็ตที่บ้านต้องอยู่ในสายตาผู้ใหญ่

 

          ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมามีเด็กบางคนแต่งตัวออกจากบ้านแต่ไม่มาโรงเรียน ทางผู้ปกครองก็ไม่รู้ โรงเรียนต้องโทรศัพท์สอบถามผู้ปกครองและออกตามหาจึงได้รู้ว่าเด็กหนีไปอยู่ร้านเกม แต่หลังจากเริ่มโครงการนี้ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลงมาก ในอนาคตจะดำเนินโครงการต่อไปเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ปลอดภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ต”

 

          อย่างไรก็ตามสำหรับของผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งคือ โรงเรียนวัดมหาธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯสมาชิกประกอบด้วย ด.ญ.อังคณา เพิ่มดี ด.ญ.พิชญา แก้วโคกหวาย ด.ญ.สุวรรณา อินต๊ะวงศ์ และมี อ.วัลภา จันทร์ศิริทอง เป็นที่ปรึกษา โดยกิจกรรมที่ทำในโครงการมีทั้งการตั้งชมรมสมาชิกคนรักไอซีที การจัดสารวัตรเน็ต เพื่อสอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ตในโรงเรียน การจัดมุมออนไลน์ให้ผู้ปกครองและนักเรียนที่มานั่งพักผ่อนได้ศึกษาการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

 

          ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองคือ โรงเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม มีสมาชิกคือ ด.ญ.มัณฑนา เชื้อไทย ด.ญ.เบญญาภาพวงพิทักษ์กุล ด.ช.จิระศักดิ์ พิเคราะห์แน่และมี อ.ชาตินีย์ จิตรีธาตุ เป็นที่ปรึกษาโดยผลงานที่ทำในโครงการ อาทิ การสมัครสารวัตรไซเบอร์เพื่อดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตในโรงเรียน จัดทำอี-บุ๊ก สอนการเล่นอินเทอร์เน็ต การแชต อย่างปลอดภัย การตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมในเว็บไซต์

 

          ทั้งนี้เมื่อทุกคนมีความรู้ในการใช้สื่อไอทีอย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์ การสร้างสังคมอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

ที่มาข่าว / ภาพ: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

 

update: 10-02-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code