นักสืบเปลี่ยนเวย์ (1)
มีโอกาสได้พูดคุยกับ พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ รอง ผบช.ก.เจ้าตัวบอกถึงเหตุผลที่เงียบหายไปจากยุทธจักรนักสืบว่า คนทำงานอาชญากรรมมีเยอะแล้ว ปัจจุบันถึงเลือกหันมาทำงานร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการ “การพัฒนาระบบงานสืบสวนอุบัติเหตุทางถนน เพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ”
หลังผลสำรวจของเอแบคโพลระบุว่า ประชาชนคาดหวัง และอยากเห็นระบบการทำงานของพนักงานสอบสวนคดีจราจรในการหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุทุกครั้ง ไม่ใช่รอไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีเพียงอย่างเดียว
จากข้อเท็จจริงทุกวันนี้ พนักงานสอบสวนแค่ไปจับคนขับรถประมาท แต่ไม่ได้ไปดูว่าเกิดอุบัติเหตุเพราะอะไร นอกจากคนขับแล้ว มีสาเหตุอื่นหรือไม่ จะได้ไปตามแก้ ทว่ากลับไม่มีใครไปตามต่อ เพราะอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
พอได้มาทำงานร่วมกับ สสส. นายพลนักสืบท่านนี้เลยเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ คือ เอานักสืบมาใช้ในงานสืบสวนอุบัติเหตุ เหมือนกับการสืบสวนหาคนร้ายในคดีอาชญากรรม
ตั้งประเด็นชนวนในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไว้ 4 ประการ คือ 1. พฤติกรรมของผู้ขับขี่ 2. สภาพของรถ อย่างเบรกแตก 3. สภาพถนนไม่ดี ไม่มีสัญญาณไฟ ไม่มีจุดกลับรถ และ 4. สภาพแวดล้อม เช่น มีน้ำมันเครื่องตกหล่น มีดินโคลนเกลื่อนพื้น หมอกจัด ฝนตกหนัก
บางทีไม่ใช่ความผิดของคนขับ เพราะดันเจอน้ำมันบนถนน เจอทางโค้งหักศอกที่ไม่มีป้ายสัญญาณเตือน บางครั้งน่าจะเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับถูกละเลยมองผ่าน
พล.ต.ต.โกสินทร์บอกว่า ถ้าเราไปสืบสวนที่เกิดเหตุ เราจะรู้ปัญหาทันที นี่คือการวิเคราะห์ที่เกิดเหตุ อย่างกรณีสาววัยรุ่นขับรถชนรถตู้ตาย 9 ศพ ไม่ใช่ไปจับคนขับอายุต่ำกว่าเกณฑ์มีใบอนุญาตขับขี่แล้วจบ แต่เราต้องวิเคราะห์ที่เกิดเหตุ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขว่า มันจะไม่เกิดอีก
ทั้งที่คนตายจากอาชญากรรมปีละประมาณ 4,000-6,000 ศพ แต่การตายจากอุบัติเหตุจราจร มีเกือบ 1.5 หมื่นศพต่อปี
กลับไม่มีโจทย์ให้ต้องแก้เหมือนคดีอาชญากรรม!!!
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ