“นักสืบสายน้ำ” สร้างชุมชนเข้มแข็ง

“นักสืบสายน้ำ” สร้างชุมชนเข้มแข็ง 

            ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะคนไทย นอกจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การใช้ความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงทางค่านิยม ตลอดจนโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนจากสังคมเกษตร เป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติ ก็ส่งผลต่อสุขภาวะของคนไทยไม่น้อยเช่นกัน

 

            องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ที่มีผู้นำอย่าง นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายก อบต.ได้สร้างระบบสุขภาวะของชุมชน โดยเล็งเห็นว่า ที่ผ่านมาทรัพยากรธรรมชาติทางน้ำลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะ คลองปากพูน ที่เป็นสายน้ำหลักไหลผ่านหลายท้องถิ่น อบต.ปากพูน จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลและรวบรวมเด็กที่อยู่ในท้องถิ่น ในโรงเรียนวัยใสหัวใจซุกซน ที่สนใจเรื่องระบบนิเวศร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช จัดทำโครงการ “นักสืบสายน้ำ“ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

            ด.ญ.ชฎาภรณ์ ศรีพรัมวรรณ หรือ น้องเบม อายุ 12 ปี หนึ่งในนักสืบสายน้ำเล่าว่า แรกเริ่มสำรวจน้ำตั้งแต่คลองท่าแพ มาถึงคลองปากพูน รวมทั้งหมด 19 จุด พบว่า น้ำเริ่มเน่าเสีย เนื่องจากเกิดขยะมูลฝอย การปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน น้ำมันเครื่องจากเรือ การทิ้งน้ำจากการซักผ้า การล้างจานและขับถ่ายสิ่งปฏิกูลลงสู่ลำคลอง

 

            “จากการเข้าไปสำรวจคุณภาพของน้ำพบว่าจุดที่ 1 ถึงจุดที่ 10 บริเวณน้ำจืด เป็นที่ตั้งของชุมชนแพปลา จึงพบขยะจำนวนมาก มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลอง ถุงพลาสติก ขวดน้ำ โฟม ทำให้น้ำเป็นสีน้ำตาลขุ่น จากการสำรวจค่า ph อยู่ในช่วงที่ 6 ซึ่งช่วงนี้จะมีความเป็นกรด สำหรับจุดที่11 ถึงจุดที่ 19 เป็นบริเวณน้ำเค็ม ไม่ค่อยมีผู้คนอาศัยอยู่ จึงไม่พบขยะ จากการสำรวจค่า ph อยู่ในช่วงที่ 7″ น้องเบม กล่าว

 

“นักสืบสายน้ำ” สร้างชุมชนเข้มแข็ง

            ปัจจุบันมี “นักสืบสายน้ำ” เพิ่มขึ้นเป็น 200 คน นอกจากจะรวมกลุ่มกันเก็บขยะในลำคลอง และปลูกป่าชายเลนแล้ว หากพบว่า น้ำบริเวณจุดไหนเสียก็จะไปที่ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ คิดค้นสูตร em น้ำ และ em ball มาช่วยปรับปรุงน้ำเช่น หากน้ำบริเวณไหนลึก ถ้าใช้ em น้ำ ก็ไม่สามารถที่จะละลายลงไปถึงก้นคลองได้ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ em ball เพื่อให้ตกถึงก้นคลองก่อนจะละลายไปสลายจุลินทรีย์

 

            นายก อบต.ปากพูน กล่าวว่า เมื่อคุณภาพน้ำดีสิ่งที่ตามมา คือ ปลาไม่ตาย มีกุ้ง หอย ปู ปลาปริมาณมากขึ้น จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “กุ้งริมดอน คอนโดปลา ศาลาปู” หมายถึง กุ้งริมดอน คือการขยายพันธุ์กุ้ง ซึ่งจะไปอาศัยบริเวณริมคลองริมฝั่ง คอนโดปลา คือ ที่อยู่ของปลาเห็นได้จากเสาไม้ที่ปักกลางทะเล รวมทั้งกระชัง ซึ่งปลาส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ และอีกส่วนหนึ่งมาจากชาวบ้านและชาวประมงนำปลาไข่มาปล่อยไว้ ส่วนศาลาปูคือ เมื่อชาวประมงได้ปูไข่นอก ก็จะมาปล่อยบริเวณใต้ถุนศาลากลางน้ำ เพื่อให้ปูได้ขยายพันธุ์ต่อไป

 

            “ประโยชน์ของโครงการดังกล่าว นอกจากจะส่งผลในด้านเศรษฐกิจของชุมชนเพิ่มขึ้นแล้วบริเวณศาลากลางน้ำยังเป็นตลาดน้ำ ซึ่งจะต้องนั่งเรือมาซื้อสัตว์น้ำทะเลสดๆ จากชาวประมง ปกติหากซื้อในตลาด 1 กิโลกรัม ก็จะรับประทานทั้งหมดแต่ถ้าซื้อบริเวณตลาดน้ำแห่งนี้ เช่น ซื้อ 1 กิโลกรัม ผู้บริโภคอาจจะปล่อยสัตว์น้ำดังกล่าวครึ่งกิโลกรัมหรือ 3 ขีด ทั้งนี้ เป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้บริโภคจนเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนที่ยั่งยืน” นายธนาวุฒิ กล่าว

 

            ด้าน นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน บอกว่า สสส.เข้ามาสนับสนุนการจัดทำแผนสุขภาวะชุมชน เพื่อให้ท้องถิ่นจัดกิจกรรมเรียนรู้ ฉะนั้นท้องถิ่นก็จะไปจัดกิจกรรมประเภทไหนก็ได้ แต่จะต้องถ่ายทอดไปสู่เพื่อนท้องถิ่นด้วยกันอีก 20 ตำบล ที่สำคัญจะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับท้องถิ่นเครือข่าย

 

            “นักสืบสายน้ำเป็นโครงการที่ท้องถิ่นต้องการทำเครือข่ายท้องถิ่นที่อยู่ในสายน้ำเดียวกัน คือ ตั้งแต่ต้นน้ำตกพรหมโลกถึงปลายน้ำ ซึ่งก็อยู่ในเกณฑ์ที่ สสส.กำหนดว่าจะต้องทำเครือข่ายท้องถิ่น ทีนี้เครือข่ายท้องถิ่นมันเกิดขึ้นมากมาย เช่น การสร้างขึ้นมาเอง และการสร้างในภูมินิเวศเดียวกัน ทั้งนี้ สสส.จะให้เงินทุนทำแหล่งเรียนรู้และติดตามกระบวนการทำงานทุก 6 เดือน ว่ามีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ และเราก็จะเอานวัตกรรมนั้นไปคุยกับเครือข่ายทั้ง 18 ศูนย์เรียนรู้ทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตตั้งเป้าว่าภายใน3 ปี จะทำศูนย์เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีก 75 ศูนย์” นางสาวดวงพร กล่าว

 

            ขณะที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมี อบต.ทั่วประเทศประมาณ 7,000-8,000 แห่ง ขณะนี้ สสส.ทำงานกับ อบต.เพียง 10% ถ้าในอนาคตขยายเครือข่ายได้ 10-20% เชื่อว่าต้นแบบที่ดีอย่างเช่น ที่ อบต.ปากพูน จะมีพลังที่จะทำให้เกิดท้องถิ่นอื่นๆ เข้ามา

 

            เรียนรู้การทำงานที่จะตอบสนองประชาชนให้มากยิ่งขึ้น เพราะท้องถิ่นเมืองไทยยังต้องการพัฒนาเพื่อที่จะทำเรื่องเหล่านี้ และพิสูจน์แล้วว่าท้องถิ่นทำเรื่องแบบนี้ชาวบ้านชอบมาก “โครงการนี้อยู่ในระยะที่ 1 ซึ่งที่ผ่านมาเราทำมาได้เพียง 3 ปี คิดว่าเรื่องนี้ต้องทำอีกยาวเพียงแต่ว่าต้องเปิดพื้นที่ออกไปให้กว้างขึ้น หวังว่าระยะยาวศูนย์เรียนรู้เหล่านี้จะสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ และถ้าสามารถขยายให้เกิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่อื่นๆมากขึ้น ขยายเครือข่ายให้มากขึ้น มีท้องถิ่นตำบลแบบนี้ทุกตำบลในประเทศ เชื่อว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน” ทพ.กฤษดา ระบุ

 

            เมื่อชุมชนมีสุขภาวะที่ดีทุกด้าน ก็จะทำให้การบริหารงานท้องถิ่นมีภาคพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมมีอำนาจในการตัดสินใจและตรวจสอบโครงการต่างๆเศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนในชุมชน เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ เกิดเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

update : 03-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย :  ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code