นักวิชาการเตือนกินค้างคาวเสี่ยงโรคเพียบ!!
พบมีไวรัสมากกว่า 60 ชนิด หลายชนิดก่อให้เกิดโรคในคน
กรณีข่าวชาวบ้านจังหวัดกาฬสินธุ์นิยมนำค้างคาวมาประกอบอาหาร โดยมีความเชื่อว่าเลือดสดของค้างคาวนั้นมีสรรพคุณเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศได้ อีกทั้งไขมันในตัวค้างคาวจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ต้านทานความหนาวเย็นได้
ในเรื่องนี้ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี หัวหน้าห้องปฏิบัติการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านวิจัยและฝึกอบรมโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน (who collaborating centre for research and training on viral zoonoses) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดื่มเลือดค้างคาวสดๆ หรือบริโภคเนื้อหรือเครื่องในค้างคาวแบบสุกๆ ดิบๆ มีโอกาสเสี่ยงในการติดโรคจากเชื้อไวรัสสูงมาก
ทั้งนี้ มีรายงานการพบไวรัสมากกว่า 60 ชนิด จากค้างคาวหลายชนิดทั่วโลก ซึ่งหลายชนิดก่อให้เกิดโรคในคน เช่น ไวรัสตระกูลโรคพิษสุนัขบ้า, ไวรัสอีโบล่า (ebola), ไวรัสซาร์ (sar), ไวรัสนิปาห์ (nipah)
และผลการวิจัยในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีการตรวจพบไวรัสนิปาห์ที่ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบ และมีอัตราการเสียชีวิต 40-80% จากการตรวจเลือด น้ำลายและปัสสาวะของค้างคาวแม่ไก่ โดยเชื่อว่าค้างคาวชนิดอื่นๆ ก็มีเชื้อไวรัสเหล่านี้เช่นกัน
ส่วนกรณีที่มีคนเชื่อว่า ค้างคาวที่จับมาดูสุขภาพดี ไม่น่าจะมีการติดเชื้อใดๆ นั้นถือเป็นสิ่งที่เข้าใจผิดและต้องระวังมาก เพราะเมื่อค้างคาวมีการติดเชื้อไวรัสอาจไม่แสดงอาการความผิดปกติใดๆ หรือถ้ามีอาการก็เล็กน้อยมาก และแม้ว่าจะมีไวรัสบางชนิดทำให้ค้างคาวป่วยหนักจนตาย แต่ก็จะมีจำนวนไม่น้อยที่หายเอง และยังคงแพร่เชื้อต่อไปได้
อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้หลายคนจะเชื่อว่า การปรุงค้างคาวให้สุกจะสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่ก่อนการปรุงก็มีโอกาสที่ติดเชื้อไวรัสได้ในหลายขั้นตอน โดย ศ.น.พ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านวิจัยและฝึกอบรมโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน (who collaborating centre for research and training on viral zoonoses) กล่าวว่า การปรุงสุกอาจจะช่วยทำลายเชื้อไวรัสได้ แต่ประชาชนมีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่การจับและการชำแหละ เพราะเชื้อไวรัสจะมีการสะสมอยู่ทั้งในเลือด น้ำลาย และเครื่องใน โดยเฉพาะที่ตับ ม้าม และเยื่อบุช่องท้องของค้างคาว
ดังนั้น หากถูกกัดหรือบริเวณที่มีบาดแผลไปสัมผัสถูกบริเวณดังกล่าว เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายได้ทันที อีกทั้งเมื่อรับประทานค้างคาวแล้วไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใดๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย 100% เนื่องจากเชื้อโรคบางชนิดใช้ระยะการฟักตัวนาน เช่น เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวเป็นเดือน หรือไวรัสนิปาห์ ที่นอกจากจะแสดงอาการของโรคหลังจากรับเชื้อไวรัสเพียงไม่กี่สัปดาห์แล้ว เชื้อไวรัสบางตัวยังสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายและใช้ระยะเวลาฟักตัวนานถึง 2 ปี จึงจะแสดงอาการออกมา
ดังนั้น ผู้ที่เคยบริโภคค้างคาว หากมีอาการผิดปกติต่อร่างกาย เป็นไข้ ควรแจ้งแพทย์ด้วยว่ามีการบริโภคค้างคาวมาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยโรค
ส่วนความเชื่อที่ว่าเมื่อกินค้างคาวแล้วไขมันที่สะสมอยู่ในตัวค้างคาวจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นนั้นไม่เป็นความจริง เพราะค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีไขมันน้อยมาก เนื่องจากค้างคาวต้องบินหาอาหาร ฉะนั้น ตัวต้องเบา ร่างกายส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยกล้ามเนื้อและหนังเป็นหลักเท่านั้น
อีกทั้งค้างคาวมีประโยชน์แก่มนุษย์ในแง่ของระบบนิเวศ และยังออกลูกปีละหนึ่งตัวเท่านั้น หากเราล่ามาบริโภคเป็นจำนวนมาก ค้างคาวอาจจะสูญพันธุ์และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
update 12-01-52