นักวิชาการหวั่นวิกฤติโลกเป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา
บรรยากาศการจัดประชุมสมัชชาปฏิรูปวันที่ 2 คึกคัก ภาคีเครือข่ายยังเข้าร่วมพิจารณาร่างมติและประกาศเจตนารมณ์รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย ขณะที่นักวิชาการเสวนาวิกฤติธรรมชาติ ชี้ผลกระทบโลกเกิดจากน้ำมือมนุษย์ หวั่นเป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา แนะต้องใช้การปฏิรูปการศึกษาเป็นจุดเปลี่ยน
วันนี้ (25 มี.ค.) ที่อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี บรรยากาศวันที่สองของการจัดการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ.2554 ในห้องประชุมใหญ่มีการประชุมพิจารณาร่างมติและประกาศเจตนารมณ์เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการรวมพลังปฏิรูปประเทศไทย ในหัวข้อ “สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” โดยผู้แทนกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก ขณะที่บริเวณรอบนอกที่ลานโสเหล่ มีการพูดถึงเรื่องวิกฤติธรรมชาติ วิกฤติพลังงาน นำโดยนายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มนุษย์ทำลายธรรมชาติ ดูดน้ำมันมาใช้ทุกๆ วัน เมื่อมีการใช้น้ำมันมากขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งหลอมละลาย แรงกดของน้ำแข็งอีกที่หนึ่งก็เปลี่ยนไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเกิดวิกฤติของโลกเหมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา และเราก็ตกอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ไม่แน่ปีหน้า 2012 อาจเจอปัญหาใหญ่กว่านี้ แต่ขณะนี้เราก็เริ่มสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว อย่างเหตุแผ่นดินไหวจากญี่ปุ่นมันก็เริ่มเคลื่อนเข้ามาแล้ว ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกภายใต้ระบบทุนนิยมก็เชื่อมโยงกันหมด ดังนั้น ต่อไปใครเป็นเกษตรกรต้องคุมอาหารให้ดี เพราะจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากสำหรับอนาคต
นายสุนัยกล่าวอีกว่า พื้นฐานที่สำคัญคือการทำให้เกษตรกรรู้เท่าทันสถานะที่เป็นอยู่ โดยผ่านระบบการศึกษา ซึ่งขณะนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดทำชุดการเรียนรู้ด้านเกษตรในรูปแบบวีดีทัศน์ให้แก่เกษตรกรใน 4 ภาคทั่วประเทศ ในระยะเวลา 1 เดือน พบว่าได้รับผลการตอบรับที่ดีมาก ดังนั้นจึงได้จัดทำเป็นหลักสูตรเรียนต่อเนื่อง 4 ปีมีการจัดเวลาเรียนตามตาราง ผ่านชุดวีดีทัศน์ และเมื่อเรียนครบ 70% ของเวลาเรียนถือว่าผ่านและจะมีการมอบเป็นประกาศนียบัตรและสัญญาบัตร โดยหลักสูตรดังกล่าวจะเน้นเรื่องของภาคปฏิบัติโดยผ่านโครงงานต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดเรียนได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
ด้าน ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศน์ชุมชน กล่าวว่า หากเราดูวิกฤติจริงๆ จะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่กระทบรุนแรงคือพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะระบบบริโภคนิยม ทุนนิยมและเงินนิยม ดังนั้นหากเราจะร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ เราควรยึดเรื่องของคุณภาพของดิน น้ำ ป่า อากาศและการเรียนรู้ของชุมชนเป็นสรณะ และสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปสู่เรื่องของการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ทั้งนี้จะเห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เร็วจนไม่มีสูตรสำเร็จในการใช้ชีวิต ดังนั้นคนไทยต้องการให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย บริโภคให้น้อยลง ขณะเดียวกันต้องคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ และต้องเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ด้วย โดยใช้การศึกษาเป็นตัวแก้ปัญหา ต้องทำให้การศึกษาสามารถสอนให้เด็กพึ่งตนเองได้ ประกอบสัมมาชีพโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นและทรัพยากรธรรมชาติ
“ผมคิดว่าวันนี้เราต้องไปเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง อาชีพหลักของเราคืออะไร และจากประสบการณ์การทำงานด้านการเกษตร พบว่า ชาวบ้านรู้เรื่องดินและปุ๋ยน้อยที่สุด ดินมีความสลับซับซ้อน ไม่เหมือนเราเอาน้ำใส่แก้ว แล้วดูดน้ำกิน ไม่ใช่หมายความว่าใส่ปุ๋ยลงไป แล้วพืชจะกินได้เท่าไหร่แล้วจบแค่นั้น อย่างไรก็ตามผมก็ได้เขียนหนังสือชื่อรู้จักดิน รู้จักปุ๋ย เพื่อสร้างการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ให้กับเด็กๆ ได้อ่าน ตามคำแนะนำของอาจารย์เกษม วัฒนชัย ขณะนี้กำลังพิมพ์แจกโรงเรียนทั่วประเทศ 3หมื่นกว่าแห่ง โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.banrainarao.com เพราะเราอยากเห็นคนไทยทุกคนทำงานอย่างมืออาชีพ” ดร.ประทีปกล่าว