นักวิชาการหนุนแรงงานนอกระบบ
สสส.เร่งสร้างกระบวนการเรียนรู้
เมื่อปัญหาและความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพคืบคลานสู่สุขภาพของแรงงานอย่างไม่รู้ตัว จากภาวะสังคมบริโภคนิยมที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของแรงงานนอกระบบที่กระจายอยู่ในชุมชน ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคเกษตร ซึ่งมีสัดส่วนถึง 60% ของแรงงานทั้งประเทศ ที่น้องแรงงานไทยส่วนใหญ่มีความเสี่ยงจากความปลอดภัยด้านการทำงาน ทั้งสารเคมีความเสี่ยงจากอุปกรณ์ในการทำงาน ท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกวิธี ฯลฯ แรงงานยึดการทำงานแบบน้ำขึ้นให้รีบตัก คิดถึงว่างานเกิดเงินทำงานหนักแลกกับสุขภาพ และลืมคิดว่าเมื่อสุขภาพถดถอยต้องใช้เงินจำนวนมากมายในการรักษาโรคที่สะสมกับการทำงานมานาน และจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่บีบรัดให้แรงงานในระบบจากโรงงาน มีแนวโน้มเดินเข้าสู่การเป็นแรงงานนอกระบบสูงขึ้นจากเลิกจ้างงาน เพราะการลดต้นทุน, ลดกำลังการผลิตของโรงงาน หรือเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก แผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเร่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะให้แรงงานนอกระบบ เข้าถึงสุขภาพสวัสดิการ และสิทธิโดยประสานความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข, มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาค สร้างตัวอย่างของพื้นที่ใน 5 ภูมิภาคที่จะเป็นกรณีศึกษาในการขยายผลให้กับแรงงานนอกระบบในชุมชนอื่น นักวิชาการจึงประมวลความต้องการและค้นหาปัญหาของแรงงานในกลุ่มอาชีพของชุมชน วางแผนอบรมความรู้เพื่อเติมเต็มให้กับแรงงานที่ยังขาดทักษะในการดูแลสุขภาพ และประเมินความเสี่ยงจากการทำงานได้ด้วยตนเอง
นักวิชาการเน้นมิติป้องกันสุขภาพเดินควบคู่กับวิถีอาชีพ
ผศ.ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ มีมุมมองว่าผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเข้าไปดูแลแรงงานมีส่วนน้อยมาก อาจเพราะการแพทย์ดั้งเดิมเน้นงานดูแลการรักษาอาการป่วยจากโรคเป็นหลัก แรงงานจะไม่ป่วยเพราะอยู่ในช่วงวัยที่แข็งแรงมากที่สุด แต่มีความเสี่ยงสูงจากการทำงานจึงต้องสร้างความรู้ให้แรงงานความตระหนักและควบคุมปัจจัยคุกคามหรือความเสี่ยงการทำงานด้วยตนเองปรับสมดุลในการดูแลสุขภาพ ยกตัวอย่างเรื่อง ควบคุมความเสี่ยงในงานตัวเองมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ปัจจัยที่เกิด จากตนเองหรือว่าขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม ใช้หลักวิเคราะห์ของอาชีวอนามัยเราต้องหาแนวทางใหม่ในการทำงาน นักวิชาการต้องออกแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยการนำหลักการเทคโนโลยีสะอาด (Cleam Technology) ที่วิเคราะห์ขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบหาผลกระทบและหาขั้นตอนที่เสี่ยงต่อการทำงาน มาปรับปรุงและการออกแบบการควบคุมความเสี่ยงในเหมาะสมกับการทำงานให้หน่วยงานปฏิบัติการในพื้นที่ตอบสนองในเรื่องนี้ อบรมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัย เข้าไปในกลุ่มอาชีพดูแลการควบคุมความเสี่ยง สร้างระบบการจัดการข้อมูลถึงสภาพการทำงาน เพื่อวางแผนในการสร้างความตระหนักกับกลุ่มอาชีพ ออกแบบรูปแบบเทคโนโลยีให้กับกลุ่ม เอาข้อมูลไปวางแผนกับหน่วยรัฐ เช่นองค์กรบริหารส่วนตำบล ช่วยกันผลักดันเกิดสวัสดิการการดูแลสุขภาพและเป็นนโยบายท้องถิ่นยกตัวอย่าง การรวมกลุ่มของชาวบ้านทะเลน้อย ในการทอเสือกระจูด เราจะทำงานร่วมกับกลุ่ม วิเคราะห์การณ์ทำงานเริ่มต้นจนจบ วิเคราะห์ผลความเสี่ยงอะไรบ้าง ตัดกระจูดในบึงพบความเสี่ยงเรื่องอะไร นั่งทำงานกับพื้นวันละ 6 ชม. เกิดผลอะไรวิเคราะห์ความเสี่ยงตลอดการทำงาน เกิดจากพฤติกรรม หรือขาดเทคโนโลยี วินิจฉัยหาทางแก้ไข จัดสภาพการทำงานใหม่ เช่น การเทน้ำสีย้อมลงไปในบ่อในบริเวณชุมชน เราเอาข้อมูลหาวิธีบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากกระจูด นักวิชาการช่วยออกแบบบ่อบำบัดน้ำร่วมกับอบต. และจัดการระบบการทำงานใหม่ ที่แต่เดิมมีท่าทางงอหลังในการทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปวดหลัง ปวดเอว อย่างสม่ำเสมอ ชาวบ้านซื้อยาแก้ปวดทุกวัน อายุมากเกิดโรคอ้วน เพราะงอตัว ทำงานท่าทางไม่ถูกต้อง เกิดเข่าเสื่อมนักวิชาการเข้าปรับเวลาในการทำงาน เปลี่ยนหน้าที่ ไม่ใช่ทำอยู่หน้าที่เดียว คนสานตลอดต้องเปลี่ยนตัดกระจูดบ้าง
นักวิชาการต้องกระโดดจากหอคอยงาช้าง
การนำความรู้เพื่อลดช่องว่างจากงานวิจัยที่ไม่ได้นำมาพัฒนาเกิดดอกผลกับชุมชน ผศ.ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย มองว่าในอดีตงานวิจัยของนักวิชาการจะเป็นการทดสอบสมมุติฐานสร้างงานวิจัยให้คนเอาไปใช้ แต่ขาดคนตรงกลางที่จะดึงความรู้ไปทดสอบผล ชาวบ้านทำงานใช้ภูมิปัญญา ไม่ได้สนใจความรู้ใหม่ตอนนี้นักวิชาการมีความสนใจต่อปัญหามากขึ้น ไม่ได้ทำวิจัยไปแล้วเก็บในแบงก์อย่างเดียว หน่วยงานสนับสนุนทุนปัจจุบันจะคำนึงถึงผลของการนำงานวิจัยไปใช้ นักวิชาการ ต้องกระโดดลงไปที่พื้นดิน นำความรู้ไปใช้และเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ข้อจำกัดนักวิชาการไม่ได้สามารถอยู่บทบาทคนกลางได้ตลอด จึงต้องสร้างนักวิชาการระดับพื้นที่ให้เขามีการนำผลการทดสอบไปใช้ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องดึงความรู้ด้านสุขภาพสู้พื้นที่ หรือจากนักพัฒนาที่เข้าถึงชุมชนโยงจากฐานข้างล่างเข้าถึงชุมชนและส่งข้อมูลให้นักวิชาการระดับบน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพที่ทำงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต้องขยายกลุ่ม สร้างสิ่งแวดล้อมในการใช้ความรู้เป็นฐานสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดในชุมชน คาดว่าในอีก 5 ปี อาจเห็นนวตกรรมใหม่ๆ ของแต่ละพื้นที่ในการสร้างโปรแกรมเฉพาะในการดูแลสุขภาพจากเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย
สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : วารสารสร้างสุข ฉบับที่ 80 พฤษภาคม 2551
Update : 22-08-51