นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง! ผลิตผ้าปิดจมูกหยุดวัณโรค
ชี้สารสกัดจากเปลือกมังคุดได้ผลเกือบ 100%
นักวิจัยจุฬาฯ ศึกษาวิจัยผ้าปิดจมูกเส้นใยนาโนเคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุดป้องกันเชื้อวัณโรคได้เกือบ 100%
รศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล อาจารย์วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ นักวิจัยดีเด่นของจุฬาฯ ปี 2550 เปิดเผยถึงผ้าปิดจมูกเส้นใยนาโนเคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุด ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ผลงานวิจัยเด่นด้านสิ่งทอ ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอว่า การพัฒนาผ้าปิดจมูกดังกล่าวมีที่มาจากความเชี่ยวชาญงานวิจัยทางด้านการขึ้นรูปเส้นใยที่มีความละเอียดสูง โดยใช้กระบวนการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิต ประกอบกับความสนใจในเรื่องสารสกัดสมุนไพรในประเทศไทยเพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้จริง ผลงานวิจัยผ้าปิดจมูกเส้นใยนาโนเคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุดนี้เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยการศึกษาสารสกัดสมุนไพรจากเปลือกมังคุดที่สามารถฆ่าเชื้อวัณโรคได้ของ รศ.ดร.สุนิตย์ สุขสำราญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า ผ้าปิดจมูกหรือหน้ากากอนามัยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน สามารถป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่ผ้าปิดจมูกที่ได้พัฒนาขึ้นนั้นมีเส้นใยที่มีขนาดเล็กในระดับนาโน นอกจากจะสามารถป้องกันเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กได้แล้วยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อวัณโรค เนื่องจากเป็นผ้าปิดจมูกที่มีเส้นใยขนาดเล็ก และรูระหว่างเส้นใยก็มีขนาดเล็กเช่นกัน จึงมีคุณสมบัติในการกรองเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ในขณะเดียวกันเชื้อโรคจะถูกฆ่าด้วยสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่อยู่ในเส้นใย โดยสามารถฆ่าเชื้อวัณโรคได้ถึง 99.99%
รศ.ดร.พิชญ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลงานวิจัยเรื่องนี้ว่า จะมีประโยชน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคและสามารถฆ่าเชื้อวัณโรคที่มีการดื้อยาได้ ปัจจุบันผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้รับการยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว และอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการเพื่อจดสิทธิบัตรในต่างประเทศต่อไป สำหรับแผนงานวิจัยที่จะดำเนินการในอนาคตจะศึกษาการทดสอบความคงทนของสารสกัดจากเปลือกมังคุดในผ้าปิดจมูก เพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์ว่าเมื่อถูกแสงและได้รับความร้อนสูงจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านคุณสมบัติหรือไม่ และสามารถเก็บไว้ใช้งานได้นานเท่าใด นอกจากนี้ยังมีแผนงานจะศึกษาสารสกัดจากสมุนไพรชนิดอื่นที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อวัณโรคได้มากขึ้น ส่วนผลงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งเป็นการนำภูมิปัญญาไทยมาใช้ประโยชน์โดยผสมผสานกับงานวิจัยด้านสิ่งทอ อาทิ สารสกัดจากใบบัวบกสำหรับใช้เป็นวัสดุปิดแผล เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update 23-09-51