นักวิจัยเผยเคล็ดลับลดปัญหาความจน
แถมสร้างสุขและหลุดพ้น
นักวิชาการเผยครอบครัวยากจน ไม่ได้โง่ จน เจ็บ แถมสร้างความสุขและหลุดพ้นความจนได้ เผย 15 ประการหลุดพ้นความจน แฉนโยบายรัฐบาลแก้จนถึงรากหญ้าจริงๆแค่ 3% ที่เหลือเป็นผู้มีอำนาจในพื้นที่ จี้รัฐเอางานวิจัยไปออกมาตรการช่วยคนจนได้ประโยชน์ถึงรากหญ้าจริง
ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. ร่วมกับ คณะผู้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย และเครือข่ายครอบครัวกลุ่มต่างๆ แถลงผลงานวิจัย “พลังสุขภาวะของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย….จากงานวิจัยนำไปสู่นโยบายและการปฎิบัติงานเพื่อครอบครัว”
โดย รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาพลังสุขภาวะของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ในพื้นที่ภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยศึกษาครอบครัวผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมทั้งครอบครัวผู้มีรายได้น้อยในภูมิภาคอื่น ได้แก่ ลำปาง สุรินทร์ สงขลา รวมทั้งสิ้น 9 จังหวัด จำนวน 100 ครอบครัวทั่วประเทศ โดย 65% อยู่ในภูมิลำเนาเดิม ที่เหลือย้ายภูมิลำเนา ส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษากว่า 55% มัธยมปลาย 15% โดยจะทำอาชีพลูกจ้าง คนงาน คิดเป็น 40% รับจ้างทั่วไป 43% โดยจะใช้เวลาในการทำงาน 6-10 ชั่วโมงต่อวัน
นายสมพงษ์ กล่าวว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครอบครัวที่ทำการสำรวจอยู่ที่ประมาณ 8,722.12 บาทต่อเดือน ซึ่งมีครอบครัวที่มีหนี้สินถึง 59% โดยเฉลี่ยมีหนี้สิ้นประมาณ 45,978.89 บาท สาเหตุของการเป็นหนี้พบว่า โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค-บริโภคในครัวเรือน 55.93% รองลงมาคือ เพื่อการศึกษาของบุตร 54.23% และเพื่อการประกอบอาชีพ 44.07% ทำให้ปัญหาที่พบคือ ปัญหาทางด้านการประกอบอาชีพ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ปัญหาสุขภาพอนามัย
“ที่น่าสนใจพบว่า 10% ของครอบครัวที่ทำการสำรวจ ไม่โง่ จน เจ็บตามที่สังคมคิดโดยปฏิเสธทัศนคติที่สังคมกดทับไว้ ว่าครอบครัวยากจน จะต้อง โง่ จน เจ็บ แต่กับพบว่า ครอบครัวที่ยากจนก็สามารถมีความสุขได้ โดยมีหลักในการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง มีความสุขได้ภายใต้สิ่งแวดล้อมเดิม และที่น่าสนใจคือ องค์ความรู้ที่ได้จากครอบครัวเหล่านี้ คือ การค้นพบปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวที่รายได้น้อยพ้นสภาวะความยากจนได้”นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวว่า ความสุขของครอบครัวที่มีรายได้น้อย พบ 15 ประการในการหลุดพ้นจากความยากจน ได้แก่ 1 การหลุดพ้นจากความคิดเดิมของสังคมที่ตีตราว่า ครอบครัวที่ยากจน ต้องโง่ จน เจ็บ 2 การคิดให้เป็นสุข โดยความสุขเกิดจากสิ่งที่อยู่ เกิดจากภายในครอบครัว เช่น ความอบอุ่นในครอบครัว ไม่ใช่วัตถุภายนอก3 ครอบครัวอบอุ่น 4 การขยันทำมาหากิน ซึ่งพบว่าบางครอบครัวต้องทำงานเพิ่มขึ้น 6-10 ชั่วโมง 5 มีความอดทน 6 การยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต
นายสมพงษ์ กล่าวว่า 7 การจัดการที่ดี ทั้งเรื่องของเวลา การใช้เงิน ฯลฯ 8 การฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน 9 กลวิธีในการสร้างความคิดที่ดี ให้มีความสุขได้ 10 การมีบุตรเป็นผู้สร้างความสุขให้ครอบครัว 11 การรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง 12 การเสริมสร้างกำลังใจให้กับในครอบครัว ผลัดกันให้กำลังใจ 13 การสนับสนุนให้บุตรได้เรียนตามความต้องการเต็มที่ให้เรียนสูงที่สุด 14 ปัจจัยการสนับสนุนจากภายนอก ทั้งญาติพี่น้อง โรงเรียน ครู ชุมชน ฯลฯ และ15 การมีความสุขจากการปฏิวัติความธรรมดาให้ไม่ธรรมดา เช่นการสร้างความคิดและองค์ความรู้ของตัวเองให้เกิดขึ้น
“งานวิจัยยังพบว่า นโยบายและมาตรการของรัฐบาลที่ดำเนินการมาไม่ถึงกับกลุ่มครอบครัวที่มีความยากจนจริงๆ มีเพียง 3%ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้ ส่วนใหญ่คนที่ได้ประโยชน์จะเป็นคณะกรรมการโครงการต่างๆ หรือหัวคะแนน หัวหน้าหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมการชุมชน แต่คนจนจริงๆไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลการช่วยเหลือจากภาครัฐเช่นนี้ ถ้ารัฐบาลเอาบทสรุปงานวิจัยเรื่องการสร้างความสุขและการหลุดพ้นความยากจนก็สามารถนำมาออกมาตรการที่เข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้อย่างแท้จริงให้ได้รับการช่วยเหลือมากกว่าเดิมที่ได้รับเพียง 3%”นายสมพงศ์ กล่าว
พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวทำให้เห็นได้ชัดว่า ครอบครัวที่ยากจน แม้ว่าจะมีสภาวะแวดล้อมที่ยากจน ขาดแคลน แต่ก็สามารถมีความสุขได้ ดังนั้นประเด็นความยากจนจึงไม่ใช่ข้อจำกัดด้านความสุขของครอบครัว และงานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า ต้นแบบครอบครัวเหล่านี้มีอยู่จริง และสามารถนำไปเป็นแบบอย่าง สร้างกระบวนการต้นแบบของครอบครัวที่มีความสุขได้โดยไม่สัมพันธ์กับเศรษฐสถานะ
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
update: 09-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย