นักวิจัยชี้ “โลกร้อน” คุกคามสุขภาพกว่าโรคติดต่อ
กระทบประเทศกำลังพัฒนาก่อนอันดับแรก
นักวิจัยชี้ ปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลกมากกว่าโรคติดต่อ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบก่อน
นักวิจัยภาวะโลกร้อน และนักวิจัยทางการแพทย์จาก ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน เปิดเผยรายงานว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงสุดในศตวรรษที่ 21 และจัดว่ารุนแรงกว่าโรคติดต่อ ภาวะขาดแคลนน้ำ หรือแม้แต่ความยากไร้ โดยปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาเป็นอันดับแรก ถือเป็นการซ้ำเติมประชากรที่ต้องเผชิญวิกฤติขาดแคลนอาหารอยู่แล้ว ขณะที่โลกตะวันตกก็หนีไม่พ้นเช่นกัน และปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
นายแพทย์แอนโทนี คอสเทลโล ผู้เขียนรายงานวิจัย กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อคนหลายพันล้านทั่วโลก ไม่ใช่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบเฉพาะหมีขั้วโลกและต้นไม้ใบหญ้า ภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดน้ำท่วมตามเมืองต่างๆ ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งต้องย้ายถิ่น ส่งผลให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงอาหารและน้ำ อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นยังทำให้เชื้อโรคกระจายตัวง่ายกว่าเดิม สุดท้ายก็จะมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น จากเหตุน้ำท่วม ความแห้งแล้ง และพายุ
ขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) อนุมัติเงินช่วยเหลือ 5 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้เอเชียกลางและตะวันตก นำไปใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อน โดยจะอุดหนุนโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านประสิทธิภาพพลังงาน การเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิง กระบวนการทางอุตสาหกรรม พลังงานที่ไม่มีวันหมด ระบบบริหารจัดการของเสีย และการฟื้นฟูผืนดิน
นายมาร์ก คันเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของเอดีบี กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนคุกคามภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันตก ทำให้พื้นที่เพาะปลูกน้อยลง ธารน้ำแข็งละลาย เกิดโรคมากขึ้น และเกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update 15-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก