นอนอย่างไรให้หลับสบาย
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
โดยเฉลี่ยคนเราจะนอนวันละ ประมาณ 7-8 ชั่วโมง แต่ที่จริงแล้วร่างกายของแต่ละคนจะต้องการนอนพักผ่อนไม่เท่ากัน ถ้าคุณตื่นหลังจากหลับมาเป็นเวลา 5-6 ชั่วโมงแล้ว ไม่สามารถหลับต่อไปได้อีก ก็อย่าได้วิตกไปเลย เพราะนั่นอาจจะพอเพียงแล้วสำหรับร่างกายของคุณ และก็อย่าได้กังวล หากนานๆ ที่คุณจะได้หลับสนิทตลอดคืน หลายคนนอกจากจะกำหนดจำนวนชั่วโมงนอนที่ร่างกายต้องการอย่างสูงเกินไปแล้ว ยังหลงผิดว่านอนไม่เพียงพอในคืนที่หลับไม่สนิท
จากการวิจัยเกี่ยวกับชั่วโมงนอนและการตรวจคลื่นสมองด้วยไฟฟ้า ปรากฏว่ามีน้อยคนมากที่ไม่สามารถหลับได้แม้แต่งีบเดียว ไม่ว่าจะเพียรพยายามแค่ไหน การที่คุณนอนน้อยสัก 2-3 วัน หรือเป็นประจำ จะไม่เป็นอันตราย หากคุณทำตัวให้กระปรี้กระเปร่า สดชื่นเบิกบานขณะตื่นอยู่
แต่หากคุณรู้สึกอ่อนเพลีย หรือตึงเครียดเกินไปกว่าที่จะหลับได้ อย่างผ่อนคลายเมื่อเข้านอน ก็ขอให้ลองปฏิบัติตามข้อเสนอ 8 ข้อ (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) หลังจากปฏิบัติตาม 8 ข้อดังกล่าวแล้ว คุณยังประสบปัญหานอนไม่หลับต่อไป จนถึงขั้นส่งผลกระทบกระเทือนถึงกิจวัตรประจำวันของคุณ ก็ขอให้ปรึกษาแพทย์ เพราะถึงแม้ว่าการไม่นอนหลับติดต่อกันหลายๆ คืน อาจไม่ทำลายสุขภาพของคุณ แต่โรคนอนไม่หลับนี้ ส่วนมากย่อมเป็นสัญญาณของโรคจิตชนิดหนึ่ง คือ โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า
ลองปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ดู
- อย่าเอางานไปนอนด้วย ถ้าคุณชอบอ่านหนังสือก่อนนอน หาหนังสือที่ไม่เกี่ยวกับการงาน หรือเรื่องที่จะทำให้วิตกกังวลมาก
- ควรมีการออกกำลังกายหรือออกแรงในตอนกลางวัน เพื่อที่ร่างกายจะเหน็ดเหนื่อยพอที่จะได้พักผ่อนเมื่อถึงเวลานอน การเดินเล่นสูดอากาศกลางแจ้งสักนิดหน่อยก่อนนอนก็จะดีมาก
- พยายามหลีกเลี่ยงการเข้านอนภายใน 3 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหารอิ่ม เนื่องจากท้องที่อืดแน่น จะทำให้นอนหลับยาก แต่นมร้อนๆ สัก 1 แก้ว ก่อนนอนจะช่วยให้หลับสบาย
- การอาบน้ำในอ่างด้วยน้ำอุ่น (ไม่ใช่ฝักบัว) ก่อนนอนจะช่วยให้ผ่อนคลายได้ดี
- อย่าให้เรื่องกระทบกระเทือนทางอารมณ์ หรือออกกำลังกายอย่างหักโหมก่อนอน จะทำให้หลับได้ช้า แต่การทำจิตใจให้สบายก่อนนอนจะช่วยให้หลับดี
- อย่านอนในห้องที่ร้อนหรือหนาวเกินไป
- ใช้ชีวิตผ่อนคลาย
- ถ้าลองทุกวิธีและไม่ได้ผล ก็ให้ลุกขึ้นมาทำงาน หรืออ่านหนังสือโดยไม่ต้องนอนตลอดคืน คุณอาจจะแก้โรคนอนไม่หลับด้วยวิธีนี้ก็ได้