นวัตกรรม ‘ชวนเด็กเล่นเพื่อหาศักยภาพภายใน’
ที่มา : แฟนเพจโชว์ แชร์ เชื่อม
ภาพประกอบจากแฟนเพจโชว์ แชร์ เชื่อม
เปิดเผยที่นี่ที่แรก นวัตกรรม "ชวนเด็กเล่นเพื่อค้นหาศักยภาพภายใน" ด้วยเครื่องมือง่าย ๆ ที่คุณวิชา ณ นคร ทำสำเร็จแล้ว พร้อมบอกต่อ
“เราชวนเด็ก ๆ มาเล่น และเรียนรู้จากการเล่น ซึ่งคนที่ดำเนินการทั้งหมดส่วนใหญ่คือ เด็ก ป.4-6 เขาสามารถออกแบบกิจกรรมได้เอง และถอดองค์ความรู้จากการเล่นของเขา หลายคนอาจจะบอกว่าเด็กวัยนี้ทำไม่ได้หรอก แต่เราเห็นศักยภาพของน้อง ๆ ว่าเขาทำได้”
ปัญหาที่เกิดกับนักเรียนในพื้นที่โครงการ ?
เราทำกิจกรรมกับโรงเรียนตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย เราเห็นว่าเด็กนักเรียนมีช่วงเวลาว่างตามนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เหตุผลที่สองคือ เราชวนน้อง ๆ คุยเรื่องอนาคต แต่น้องก็ยังไม่มั่นใจในตัวเอง และเหตุผลที่สามคือ เรากลับมาคิดว่าจะทำยังไงให้การเล่นของน้อง ๆ ได้ความรู้ไปในตัวด้วย
โครงการพัฒนาเยาวชนในสถานศึกษาฯ ช่วยเติมเต็มช่วงเวลาว่างของเด็กได้อย่างไร ?
เริ่มต้นโครงการในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 60 โรงเรียน กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนระดับประถมศึกษา ปีที่ 4-6 ด้วยรูปแบบการพัฒนาปัญญา 9 ด้าน ของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) และในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเรานำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ทำให้เด็กรู้จักและเข้าใจตนเอง รู้จักและเข้าใจคนอื่น ในด้านกีฬา ศิลปะ ดนตรี วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ตรรกะ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคือ พัฒนาเด็กตามความเก่งของตัวเขาเอง ผ่านการเล่นที่สนุก มีความสุข และได้ความรู้
เครื่องมือที่ใช้ ?
เครื่องมือเราใช้เป็นหนังสือส่วนตัว ชื่อหนังสือว่า ‘30 วันที่ฉันจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง’ ที่เขาจะพัฒนาตัวเองจากหนังสือเล่มนี้ ด้วยการชวนตัวเองคุย ผ่านการเขียนบันทึกเป็นเวลา 30 วัน และเราไม่ได้บังคับว่าจะต้องเขียนแบบเรียงวัน ใครสนใจอยากเขียนวันไหนก่อน หรือเรื่องไหนก่อนก็ได้ พอครบ 30 วัน น้อง ๆ ก็จะค่อย ๆ พัฒนาตัวเองไปในตัวจากหนังสือเล่มนี้
ในหนังสือเล่มนี้ น้อง ๆ จะรู้จักตัวเองได้อย่างไร ?
ช่วงวันแรก ๆ ก็ชวนน้อง ๆ มาทำความรู้จักตัวเองก่อนว่า ตัวเองเป็นใคร มาจากไหน ชื่ออะไร เพราะอะไรถึงชื่ออย่างนี้ คนรอบตัวมีใครบ้าง เป็นใครมาจากไหน มีความสัมพันธ์กับคนรอบตัวอย่างไร และพัฒนาความสัมพันธ์กับคนอื่น จากนั้นชวนเขาสำรวจโลกว่า ปัจจุบันโลกเป็นยังไง พาไปรู้จักเรื่องดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม อากาศ ขยะ เมื่อเห็นปัญหาแล้วควรจะทำอย่างไร พาไปรู้จัก ชุมชน รอบบ้านของตัวเองว่า มีใครบ้าง มาจากไหน รอบโรงเรียนมีอะไร ใครเป็นใคร มาจากไหน เขาทำอะไร เป็นการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนกับสิทธิของตัวเองไปพร้อมกัน หลังจากนั้นกลับมาชวนคิดต่อว่า เราน่าจะทำอะไรดีดีให้กับโลกและคนรอบข้างบ้าง
กิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมทักษะการพัฒนาตนเอง ?
เราสร้างผู้นำในโรงเรียน ชวนน้อง ๆ เล่น แล้วถอดบทเรียนว่า หลังจากเล่นแล้วได้อะไร ได้ความรู้อะไร ขยับขั้นตอนต่อไปถึง การชวนเขามาออกแบบบกิจกรรมการเรียนรู้ของเขาเอง ตั้งแต่กระบวนการคิด และเปิดพื้นที่ให้เขาแสดงออก ชวนเพื่อนคนอื่น ๆ ที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานีมาเล่นด้วยกัน เกิดเป็นมหกรรม Fun Show Change
เทคนิคที่ทำให้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนได้ดี ?
เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้ ถ้าได้รับโอกาสและกระบวนการที่มีประสิทธิภาพที่ดี ซึ่งกระบวนการนี้จะพัฒนาตัวเราเอง พัฒนาคนอื่น และทำอะไรเพื่อโลกใบนี้ได้อีกเยอะมาก