นวัตกรรมพยากรณ์อากาศ แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


นวัตกรรมพยากรณ์อากาศ แม่นยำมากยิ่งขึ้น thaihealth


กรมอุตุนิยมวิทยา เผยประเทศไทยมีนวัตกรรมเครือข่ายเรดาร์ตรวจสภาพภูมิอากาศขั้นสูงช่วยในการพยากรณ์ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้


ดร.ภูเวียง ประคำมินทร์ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทน อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า จากการประชุมนานาชาติ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับการพยากรณ์พายุไต้ฝุ่นและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในประเทศไทย โดยได้มีการหารือ และทบทวนกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการติดตามความก้าวหน้าของแผนในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการร่วมมือกันทางวิชาการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านประสบการณ์และเทคโนโลยี ของประเทศสมาชิก สำหรับประเทศไทย มีนวัตกรรมเครือข่ายเรดาร์ตรวจสภาพภูมิอากาศ ทำให้การพยากรณ์มีความแม่นยำกว่าร้อยละ 80 เพื่อเป็นการพัฒนาเทคนิควิธีการ ในการเตรียมรับมือกับความรุนแรงของภัยธรรมชาติ ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่สามารถนำมาเชื่อมโยงการแก้ปัญหาด้านหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ได้ เพื่อให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา อาทิ การคาดการณ์สภาพฝุ่นละอองในอากาศ สภาพฝนที่กำลังจะเกิดขึ้น และช่วยในการวางแผนแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงเรดาร์ตรวจสภาพภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาได้ง่ายมากขึ้น สามารถตรวจสอบดูทิศทางฝน อากาศ หรือพายุได้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันได้อย่างทันท่วงที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลเรดาร์ที่มีไปใช้ในการวางแผนป้องกันภัยพิบัติ อาทิ การป้องกันน้ำท่วม ดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลาก หรือภัยพิบัติต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น


สำหรับเรดาร์ตรวจอากาศมีการต่อยอดเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งใช้สำหรับตรวจวัดฝน ฝนฟ้าคะนอง หิมะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถตรวจ และแสดงตำแหน่งศูนย์กลางของพายุหมุนเขตร้อน เมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนเข้ามาในรัศมีหวังผลของเรดาร์ตรวจอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาได้จัดหาเครื่องเรดาร์ที่ทันสมัย เรียกว่า ดอปเปลอร์เรดาร์ ไว้ใช้ตามความเหมาะสมของจุดประสงค์ในการใช้ มี 3 ชนิดด้วยกัน คือ ชนิด X-band เป็นเรดาร์ที่เหมาะสำหรับใช้ตรวจวัดฝนที่ตกเบา หรือตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ชนิด C-band เป็นเรดาร์ที่เหมาะสำหรับใช้ตรวจวัดฝนที่ตกปานกลางถึงหนัก หรือ ตรวจจับพายุหมุนที่มีกำลังไม่รุนแรง เช่นพายุดีเปรสชั่น และหาศูนย์กลางพายุพายุโซนร้อน และชนิด S-band เป็นเรดาร์ที่เหมาะสำหรับใช้ตรวจวัดฝนที่ตกหนักถึงหนักมาก หรือใช้ตรวจจับหาศูนย์กลางพายุที่มีกำลังแรง เช่น พายุไต้ฝุ่น (typhoon) รัศมีหวังผลเกินกว่า 300 กิโลเมตร

Shares:
QR Code :
QR Code