‘นวัตกรรมทางสังคม’ ตัวเลือกทางรอดสุขภาพคนไทย

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟนเพจ Good Factory


'นวัตกรรมทางสังคม' ตัวเลือกทางรอดสุขภาพคนไทย thaihealth


ในยุคที่ธุรกิจการค้ามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้บริโภค ในยุคที่คุณภาพชีวิตกำลังเดินสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างถึงขีดสุด นวัตกรรมทางสังคมจึงเป็นอีกทางรอดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง เพื่อปลดล๊อกปัญหาสังคมในทุกมิติ


เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีนวัตกรรมสังคม Good Factory จัดงาน Social Innovation Forum 2018 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เพื่อเปิดพื้นที่เพิ่มพูนความรู้ในประเด็นบทบาทของนวัตกรรมสังคมกับการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการสร้างโจทย์จากข้อมูลสถานการณ์สุขภาพคนไทยในปัจจุบัน โดยมีนักวิชาการและนวัตกร ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 100 คน


ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม และรักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวถึงความหมายของนวัตกรรมทางสังคมของ สสส. ว่า ต้องมีพื้นฐานมาจากปัญหา เป็นวิธีการใหม่ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสังคมด้านสุขภาพและสร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งที่ผ่านมา สสส. อาศัยรูปแบบการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่ายเพื่อจุดประกายความคิดและกระตุ้นการริเริ่มทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ หลายครั้งที่นวัตกรรมเกิดขึ้นจากสิ่งใกล้ตัว ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือมีเทคโนโลยีที่ล้ำเลิศ แต่อาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม อย่างเช่น นวัตกรรมกาบตาลฟื้นฟูกาย ที่ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดปัญหาผู้สูงอายุในชุมชนเจ็บป่วย เพราะขาดการออกกำลังกาย  สสส. และภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันต่อยอดทำเครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุโดยใช้กาบตาลแห้ง และเชือกห่วงหุ้มพลาสติกด้านปลายกาบตาล เพื่อทำเป็นอุปกรณ์ในการยืดเส้นยืดสาย และมีการคิดค้นท่าออกกำลังกาย 5 ท่า ประกอบไปด้วย การยืดหลัง ยืดแขน ยืดข้าง ยืดข้อเท้า และยืดปลายนิ้วผลลัพธ์ไม่ได้แค่ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้น แต่ยังเกิดการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุร่วมกันทำบุญวันสำคัญเข้าวัดฟังธรรม ทำให้ผู้สูงอายุมีจิตใจสงบร่มเย็นอีกด้วย


"นวัตกรรมทางสังคมอาจเป็นได้ทั้งสิ่งประดิษฐ์ วิธีคิด หรือกระบวนการ แต่ทั้งหมดจะต้องได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการใช้ประโยชน์ และต้องทำให้เกิดความยั่งยืนในกรณีที่เราถอนกระบวนการเหล่านั้นออกมาจากพื้นที่แล้ว" ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว


'นวัตกรรมทางสังคม' ตัวเลือกทางรอดสุขภาพคนไทย thaihealth


มาต่อกันที่ ผศ.เนตรนภา ขุมทอง มูลนิธิหมอชาวบ้านหนึ่งในผู้ร่วมคิดค้นนวัตกรรม NCD School เปิดตัวช่วยผู้ป่วย NCDs ยุค 4.0 ซึ่งได้เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมดังกล่าวมาจากการที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึงร้อยละ 75 หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน มูลนิธิหมอชาวบ้าน จึงร่วมมือกับ Good Factory และภาคีเครือข่าย สนับสนุนโดย สสส. พัฒนาเว็บไซต์ NCDs School ที่บรรจุบทเรียนออนไลน์เกี่ยวกับการดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบไปด้วย โรคเบาหวานโรคหัวใจ โรคไต เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคมีช่องทางในการศึกษาวิธีการดูแลตัวเองทั้งในเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกายที่ถูกต้อง โดยข้อมูลทั้งหมดได้ผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว


อีกหนึ่งนวัตกรรมทางสังคมที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดบนเวที Social Innovation Forum ครั้งนี้คือ แนวคิด Nudge กับการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพ ด้วยความร่วมมือระหว่าง Good Factory, ศูนย์พฤติกรรมศาสตร์และการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ที่ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชื่นชอบเครื่องดื่มเย็น โดยมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคลดการกินหวาน และได้ตกลงทำการทดลองกับร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ในสัปดาห์แรกเริ่มตั้งแต่การจดบันทึกเมนูเครื่องดื่มที่ลูกค้าสั่ง ระดับความหวานมากน้อยเพียงใด กลุ่มลูกค้าเป็นใคร ต่อมาในสัปดาห์ที่ 2 ผู้ทำการศึกษาได้ลองขึ้นป้ายเมนูทางเลือก ซึ่งเป็นเครื่องดื่มสูตรหวานน้อย และในสัปดาห์ที่ 3 ผู้ทำการศึกษาได้ลองนำป้ายแสดงปริมาณแคลอรีในหนึ่งปั๊มน้ำเชื่อมมาติด เพื่อสะกิด (Nudge) ความคิดของผู้บริโภคไม่ให้สั่งเครื่องดื่มที่หวานจนเกินไป ซึ่งก็พบว่าวิธีการนี้ได้ผล ลูกค้าสั่งเครื่องดื่มหวานน้อยลงจริงๆ โดยสรุปสั้นๆ ได้ว่า ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ทุกคนย่อมรู้ดีว่าการบริโภคน้ำตาลมากๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่เหตุผลที่ความคิดดังกล่าวไม่ปรากฏขึ้นมาในขณะตัดสินใจ เป็นเพราะยังไม่มีการกระตุ้นเตือนด้วยข้อมูลเหล่านี้ มนุษย์จึงตัดสินใจโดยอัตโนมัติตามสัญชาตญาณ และกระทำไปตามแรงผลักดันธรรมชาติ เช่นเดียวกับพฤติกรรมชอบสั่งเครื่องดื่มรสชาติหวานๆ นั่นเอง


แม้ว่าจะยังไม่มีการยอมรับคำนิยามของนวัตกรรมทางสังคมในความหมายใดความหมายหนึ่งอย่างชัดเจนแต่การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องไม้เครื่องมือหรือกระบวนการคิดบางอย่างขึ้นมา ต่างมีจุดร่วมเดียวกันคือการทำให้คนไทยมีสุขภาพดี จิตใจดี และสังคมดี

Shares:
QR Code :
QR Code