นวัตกรรมทางสังคมสร้างอนาคต
การปาฐกถานำ ‘ทิศทางใหญ่’ หรือ ‘ปัญญารวม’ ในหัวข้อ ‘นวัตกรรมทางสังคมกับการพัฒนาประเทศ’ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี มีคำสรุปสำคัญที่คุณหมอพูดย้ำตลอดก็คือ ‘สังคมเข้มแข็ง เป็นตัวชี้ขาดอนาคตประเทศ’
ปัจจุบันนี้ เราล้มเหลวในการสร้างเศรษฐกิจที่ดี การเมืองดี และศีลธรรมดี ทั้งนี้มีสาเหตุเพราะสังคมอ่อนแอ ศ.นพ.ประเวศ ขยายความเพิ่มเติมโดยเทียบเคียงหลักธรรมทางพุทธศาสนา ‘อปริยหานิยธรรม’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ธรรมะเพื่อความเจริญถ่ายเดียว’ ที่จะนำไปสู่การทำให้สังคมเข้มแข็ง
ศ.นพ.ประเวศ ยังนำเสนอ ‘สูตรการจัดการ’ เรื่องสังคมเข้มแข็ง เรียกว่า ไตรยางค์แห่งสังคมเข้มแข็ง หรือองค์สามของสังคมเข้มแข็ง ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกใหม่ การส่งเสริมการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ และ การกระจายอำนาจ
“กระจายอำนาจไม่ใช่การร้องขอ ประชาชนก้าวข้ามไปแล้ว ตอนนี้กำลังขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเป็นการเปิดพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง คอนเซ็ปท์เรื่องการจัดการนี้เลยเรื่องการต่อสู้ด้วยกำลังไปไกลแล้ว ใช้กำลังยึดอำนาจก็จัดการปัญหาไม่ได้ ฝรั่งเศสกำลังพูดถึงสาธารณรัฐที่ 6 หรือล่าสุด ‘อาหรับสปริง’ ไล่เผด็จการก็ยังจัดการประเทศไม่ได้
“การจัดการประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถามว่าจัดการอะไร ก็คือการจัดการ 2 เรื่อง 1) จัดการพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 เรื่องเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ เศรฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย แล้วเรามีตัวอย่างความสำเร็จมากมาย เราเห็นประชาธิปไตยชุมชน ที่นักรัฐศาสตร์ต่างก็มาศึกษาเรียนรู้ เป็นประชาธิปไตยอรรถประโยชน์ ประชาธิปไตยสมานฉันท์ ที่เขาตกลงกันได้ ไม่ได้ผ่านการต่อสู้ด้วยกำลัง ไม่ได้ผ่านการใช้เงิน เช่น ต.หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี เขาตกลงกันล่วงหน้าแล้วว่า ใครจะเป็นนายกฯ อบต. เป็นประชาธิปไตยชุมชนที่ไม่ต้องทะเลาะกัน มีนวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย
“ขณะนี้มี 200 ตำบล กำลังทำข้อมูลเรื่องที่ดินเพื่อปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน หรือที่บุรีรัมย์ ก็ทำวิจัยว่าทำอย่างไร ที่ดินหนึ่งไร่จึงจะพอกินทั้งครอบครัว ฯลฯ ถ้าเราเข้าใจความเป็นไปตรงนี้ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคการสื่อสาร ก็สามารถสนับสนุนเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นที่ที่น่าอยู่ที่สุดในโลกได้ ท้ายที่สุด สังคมเข้มแข็งเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตประเทศ เราจึงต้องการนวัตกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เห็นความสำคัญ โดยตั้งออฟฟิศไว้ในทำเนียบขาว”
“โลกนี้หลงไปคิดว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำคัญที่สุด แต่ที่จริงไม่ใช่ แต่เป็นนวัตกรรมทางสังคม และการอยู่รวมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ การวิจัยที่ใหญ่ที่สุด คือการวิจัยว่ามี วิถีชีวิตอย่างไรจึงได้สมดุลขณะที่โลกกำลังวิกฤต เขายังไม่เจอคำตอบแต่คนไทยกำลังทำเรื่องยิ่งใหญ่ ว่าจะมีวิถีชีวิตอย่างไร จึงมีสมดุลระหว่างคนกับคน และคนกับสภาพแวดล้อม”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โชคดีของประเทศไทยที่เกิด สสส.ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมืออันใหญที่เปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง อาจทำให้บางคนไม่สบายใจมาก แต่ถ้าเอาประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้งความไม่สบายใจจะน้อยลง”
ที่มา : จดหมายข่าว “มหามวลมิตร” เวทีครบรอบ สสส. 12 ปี ฉบับที่ 1