นวัตกรรมทางการศึกษาดีๆ ที่อมก๋อย

นวัตกรรมทางการศึกษาดีๆ ที่อมก๋อย  thaihealth


งานเลี้ยงมีวันเลิกรา การเดินทางมีวันสิ้นสุด คณะติดตามโครงการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ฯ ปิดท้ายรายการที่กลางสนามโรงเรียนบ้านขุนกลาง อ.จอมทองซุ้มแสดงผลงานของโรงเรียนบ้านแม่อ่างขางและเครือข่ายอีก 4 โรงที่ใช้เทคโนโลยีมัลติพอยต์เพื่อพัฒนาการศึกษา แก้ปัญหาเด็กขาดโอกาสห่างไกล สายส่งไฟฟ้าภูมิภาคยังไปไม่ถึง ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ


นายสมพงษ์ แสนสำโรง เป็นผู้อำนวยการ อดีตเคยเป็น ผอ.โรงเรียนบ้านห่างหลวง อ.อมก๋อย ปี 2554 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นจุดประกายทดลองใช้เทคโนโลยีมัลติพอยต์เป็นครั้งแรก ก่อนย้ายมาเป็น ผอ.บ้านแม่อ่างขาง ปี 2556 เด็กชายหญิงในชุดนักเรียนบ้านแม่อ่างขางนั่งเรียงแถว บนโต๊ทุกคนมีเม้าส์คนละตัว เชื่อมต่อไปที่คอมพิวเตอร์ตัวเดียวกันที่ครูผู้สอนกำลังเริ่มสาธิตการสอนให้ผู้มาเยือนได้ชมภาพที่ปรากฏบนจอโปรเจ็กเตอร์ด้านหน้า เทคโนโลยีมัลติพอยต์ (Multipoint) เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องสามารถรับคำสั่งได้จากอุปกรณ์ต่อพ่วงหลายๆ ตัวได้พร้อมๆ กัน โปรแกรมมัลติพอยต์พัฒนาการใช้เม้าส์หลายๆ ตัวต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ตัวเดียว นักเรียนใช้พร้อมกันทีเดียว 40 คน


คอมพิวเตอร์สามารถรองรับการโต้ตอบของนักเรียนจากเม้าส์ของแต่ละคนทั้งห้องได้พร้อมกัน แต่ละคนจะมีชื่อของตัวเองหรือชื่อที่ตัวเองตั้งขึ้นมาตามความชอบ ภาพสัญลักษณ์ของเม้าส์นักเรียนจะปรากฏบนจอภาพหน้าห้องเรียน เมื่อครูนวัตกรรมทางการศึกษาดีๆ ที่อมก๋อย  thaihealthให้นักเรียนตอบคำถาม โดยเลือกคำตอบจากที่เห็นบนจอ นักเรียนแต่ละคนจะใช้เม้าส์ของตัวคลิกที่หัวข้อคำตอบที่ต้องการ ระบบซอฟต์แวร์จะประมวลผลว่านักเรียนตอบถูกกี่คน ตอบผิดกี่คน นักเรียนทุกคนได้มีส่วนในการเรียน เกิดความสนุก ทำให้เข้าใจและกระตุ้นความสนใจยิ่งขึ้น


นอกจากนั้น ยังมีฟังก์ชั่นการตอบคำถาม เติมคำในช่องว่าง จับคู่ วาดภาพ กิจกรรมระบายสี และฟังก์ชั่นควบคุมของคุณครู เช่น การเลือกเด็กบางคนออกมาทำกิจกรรม การปล่อยเด็กทั้งหมดออกมา การจับเวลา การสั่งให้เม้าส์ไม่ให้ขยับได้ถ้านักเรียนซน ไม่ฟังครู การสั่งเก็บภาพ Screen Shot และการเก็บรวบรวมคะแนนของเด็กในแต่ละคาบ โดยเลือกดูสถิติได้ตามรายวิชา ชื่อเด็ก หรือห้องเรียนก็ได้


"โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ตอนนั้นมีเครือข่ายโรงเรียนในเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 5 รวม 10 โรง โรงเรียนอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารบนภูเขาสูง นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แผงโซล่าร์เซลล์และใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ บางวันไฟฟ้าไม่เพียงพอ บางครั้งไม่สามารถใช้จอโปรเจ็กเตอร์ได้ต้องแก้ปัญหาโดยเปลี่ยนมาเป็นจอโทรทัศน์แทน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีจำกัด ไม่


เพียงพอกับจำนวนนักเรียน จึงริเริ่มใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยการสอน นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันพร้อมกัน และช่วยพัฒนาครู สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการเรียนทุกกลุ่มสาระที่ตัวเองรับผิดชอบ" ผอ.สมพงษ์ เล่าความเป็นมา และผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ นางสาวปาริชาติ เภสัชชา ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ปี 2554 ปัจจุบันย้ายไปเป็นศึกษานิเทศก์ เขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2


นวัตกรรมทางการศึกษาดีๆ ที่อมก๋อย  thaihealth"โรงเรียนมีโอกาสได้คุยกับ ศน.ปาริชาติ ท่านคิดพัฒนาซอฟต์แวร์โปรแกรมมัลติพอยต์ขึ้นมา มาถามเราว่าจะทดลองใช้กับนักเรียนในโรงเรียนมั้ย ผมเห็นว่าน่าจะช่วยในการเรียนการสอน ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ เลยตอบรับ และทำโครงการร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)


และต่อมาถึงโครงการต่อยอด ในปี 2557 หลังจากผมย้ายมาเป็น ผอ.โรงเรียนบ้านอ่างขางแล้ว มีโรงเรียนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายรวม 5 โรง ได้แก่ บ้านห่างหลวง บ้านแม่อ่างขาง อ.อมก๋อย บ้านแอ่นจัดสรร บ้านบงตัน และโรงเรียนศูนย์อพยพแปลง 8 อ.ดอยเต่า โดยขยายไปสู่ประเด็นด้านสุขภาวะเด็กและเยาวชน ครั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ให้การสนับสนุน"


ศน.ปาริชาติ หรือ ศน.น้อยหน่า จบการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวะซอฟต์แวร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า เดิมรับราชการเป็นครูโรงเรียนอุทัยวิทยาคม จ.อุทัยธานี เริ่มพัฒนาและทดลองใช้โปรแกรมมัลติพอยต์ตั้งแต่ปี 2552 ใช้สอนเด็กมัธยม ต่อมาสอบเป็นศึกษานิเทศก์ได้มารับผิดชอบในเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ปลายปี 2553 โรงเรียนห่างไกล ทุรกันดารอยู่บนดอย บนเขาที่สูงเป็นส่วนใหญ่


"จากที่เราเคยใช้กับเด็กมัธยมมาเป็นเด็กประถม มาเห็นบริบทของโรงเรียน ชุมชน นักเรียนเป็นเด็กชนเผ่า ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยี ระบบไฟฟ้าต้องโซล่าร์เซลล์ และพลังน้ำ อินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ ยังใช้ไม่ได้เพราะอยู่พื้นที่สูง เรามีความรู้เรื่องเทคนิคกลุ่มสื่อเลยนึกถึงเทคโนโลยีตัวนี้ขึ้นมา ไปเสนอกับ ผอ.สมพงษ์ โรงเรียนสนใจ เลยทำโครงการร่วมกัน ผอ.สมพงษ์ขับเคลื่อนจริงจัง มีทีมงานครูพัฒนาจนสามารถสาธิตขั้นตอน วิธีการต่างๆ เป็นวิทยากรได้ด้วยตัวเอง โรงเรียนในเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 5 เข้าโครงการกว่า 80% และยังขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ อีก


"พอดิฉันย้ายมาอยู่เขต 2 ก็มาผลักดันต่อ เปิดอบรมครู จัดมาได้ 2 รุ่นแล้ว รุ่นละ 80 คน รวมกว่า 160 คน ปกติเด็กไม่เคยได้ใช้ เราเรียนรู้เรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ ออกแบบคู่มือแนะนำการใช้ เอาประสบการณ์มาประยุกต์ไปใช้กับกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ครู น่าดีใจที่เด็กมีโอกาสได้สัมผัสเครื่องมือ เทคโนโลยีช่วยทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น" เธอกล่าวทิ้งท้ายด้วยความภูมิใจ


 


 


ที่มา :  หนังสือพิมพ์มติชน โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code