นวัตกรรมตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก
สมาคมศัลยแพทย์ฯ เปิดตัวน้ำยาตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากครั้งแรกในไทย แถมค่าใช้จ่ายเพียงแค่หลักหมื่นบาท
ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยใพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวกรณีการคิดค้นนวัตกรรมตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นผลสำเร็จว่า ชายไทยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น อุบัติการณ์อยู่ที่ 2.5-3 รายต่อแสนประชากร อีกทั้งสถานการณ์โรคยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมมะเร็งต่อมลูกหมากพบมากในชายไทย สูงเป็นอันดัน 7-8 แต่ปัจจุบันสูงขึ้นถึงอันดับ 4 จากมะเร็งทั้งหมด
ปัจจัยการเกิดโรคที่พบมาก คือ การรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีนม เนย ชีสต์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพันธุกรรม อย่างผู้ที่มีพ่อ หรือพี่ชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเป็นสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า ซึ่งหากตรวจพบในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ และการคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งตั้งแต่เริ่มแรกมีผลให้อัตราการเสียชีวิตลดลงร้อยละ 21 และสามารถลดมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามขณะวินิจฉัยได้
ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าวอีกว่า ในการตรวจคัดกรอง ปัจจุบันมีการตรวจด้วยวิธีพีเอชไอ ( Prostate Health Index : phi) ซึ่งเป็นชุดน้ำยาตรวจคัดกรอง โดยถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งวิธีการจะทำการเจาะเลือดผู้ป่วย 5 ซีซีแล้วใช้ชุดน้ำยา และเครื่องตรวจอัตโนมัติเพื่อหาค่า 3 ตัว คือ PSA ,Free PSA และ [-2]pro PSA จะจำเพาะโรคได้ และมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการตรวจแบบเดิม 3.5 เท่า อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมนี้ในโรงพยาบาลเอกชนและโรงเรียนแพทย์บางแห่งเท่านั้น แต่ในอนาคตจะมีการใช้ในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจด้วยนวัตกรรมนี้อยู่ที่หลักหมื่นบาท
ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมศัลยแพทย์ฯ กล่าวด้วยว่า แม้ค่าใช้จ่ายการตรวจวิธีนี้ค่อนข้างสูง แต่หากมีการผลิตมากขึ้นจนราคาถูกลง น่าจะมีการบรรจุในสิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพต่างๆ ได้ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก วิธีเดิมจะใช้วิธีตรวจด้วยการดูสารเคมีที่พบในเลือด เพื่อบ่งชี้ถึงความผิดปกติของต่อมลูกหมากร่วมกับวิธีการตรวจโดยสวมถุงมือคลำต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Digital Rectal examination :DRE) หากพบความผิดปกติเบื้องต้น จะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากมาตรวจเพิ่มเติม อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกมาก หรือเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น นอกจากนี้สิ่งสำคัญยากให้ปรับเปลี่ยนพฤตกรรมการบริโภค ลดอาหารมัน ควบคุมคลอเรสเตอรอล หันมารับประทานอาหารไทยที่อุดมด้วยพืช ผัก ผลไม้ที่มีสารไลโคปีน (Lycopene) เช่น แตงโม มะเขือเทศสุก ผักตระกูลกำหล่ำ ผลิตภัณฑ์จากเต้าหู้และถั่วเหลือง ซึ่งจะสามารถช่วยยับยั้งโอกาสป่วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากได้
ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต