‘นวัตกรรมครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง’

/data/content/26384/cms/e_bghlmnoux389.jpg


          ด้วยความต้องการที่จะให้ครอบครัวท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาครอบครัวในชุมชนรวมถึงการพัฒนาคุณภาพครอบครัวไปพร้อมกับคนในชุมชนทางสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) ร่วมกับกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) รวมถึงเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 


          ร่วมกันจัดตั้ง 'โครงการพัฒนากลไกการทำงานด้านครอบครัวในชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น' และได้จัดงาน 'ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนสร้างสุข : นวัตกรรมคอรบครัวอบอุ่นในท้องถิ่น' ขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของแต่ละพื้นที่


/data/content/26384/cms/e_befijlnrstz3.jpg


          'โครงการพัฒนากลไกการทำงานด้านครอบครัวในชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น' เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน(ศพค.) เพื่อทำให้เกิดศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนที่เข้มแข็ง และดูแลช่วยเหลือครอบครัวในชุมชนได้ จากการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 2 ปี ทำให้เกิดศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน(ศพค.)กว่า 300 แห่ง ในพื้นที่ 76 จังหวัด


          นายอภิชาติ อภิชาตบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่แต่ละชุมชนจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานระหว่างกัน นับเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นกับคนทำงานทุกคนโดยเฉพาะภาคประชาชน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาชุมชน ตลอดระยะเวลา 2 ปี เกิดนวัตกรรมต่างๆ มากมายและสิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอีกหลายพื้นที่ในประเทศโดยปัจจัยสำคัญของผู้นำท้องถิ่นและผู้นำชุมชน อันดับแรกคือ การกำหนดเป้าหมายที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนโดยใช้ฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และนำมาแลกเปลี่ยน ช่วยกันคิดวิเคราะห์ สถานการณ์ วางแผนดำเนินการ และสรุปผลร่วมกัน เพื่อการถอดบทเรียน


          รองผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2558 จะขับเคลื่อนงานด้านความสุขความเข้มแข็งในครอบครัว ให้ประสบความสำเร็จกับทุกชุมชนของประเทศและหวังว่าทุกคนที่ทำงานจะสามารถนำความรู้ บทเรียนที่ได้ มาประยุกต์ใช้กับการทำงานในองค์กรของตนเองด้วย


/data/content/26384/cms/e_adhmstvxz457.jpg


          ด้าน นายพัฒพงษ์ พัฒนลักษณ์ นักพัฒนาชุมชนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์(ชุมชนท่าสินค้า) จ.กาฬสินธุ์ บอกถึงการทำงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ว่า ได้เปิดโอกาสให้แต่ละชุมชนในพื้นที่ที่มีประมาณ 36 ชุมชน มีชุมชนที่ร่วมดำเนินงาน 18 ชุมชนโดยอาสาสมัครแต่ละชุมชนจะร่วมคิด ร่วมทำงานในชุมชนของตน


          อย่างชุมชนท่าสินค้า ทำโครงการชุมชนปลอดเหล้า เพื่อให้คนในชุมชน ลด ละ เลิก การดื่มเหล้า โดยเริ่มจากงานบุญต่างๆ ก่อนซึ่งภายใน 6 เดือน โครงการก็ประสบผลสำเร็จ


          นักพัฒนาชุมชนฯ เล่าให้ฟังอีกว่า เยาวชนในพื้นที่ก็มีส่วนร่วมในการทำงานเยอะ มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เขาได้แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอีกทั้งมีการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อให้เยาวชนได้แสดงความสามารถต่างๆ ได้อย่างเต็มที่


/data/content/26384/cms/e_adelmnrsw349.jpg


          นอกจากนี้ชุมชนกำลังก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุโดยเปิดในปีหน้า ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือของ 36 ชุมชน เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ร่วมถึงเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุในชุมชนด้วย


          "ศูนย์พัฒนาครอบครัวบ้านซ่องยึดหลักการทำงานที่ว่า ครอบครัวเป็นศูนย์กลางที่สร้างความเข้มแข็งของครอบครัว การใช้พื้นฐานครอบครัวเป็นตัวกระตุ้น ส่งเสริมและให้กำลังใจกัน แต่ละครอบครัวในชุมชนรวมตัวกันได้ ชุมชนก็จะเกิดความเข้มแข็ง" นางชนาภรณ์ รัตวงษ์ ศูนย์พัฒนาครอบครัวเทศบาลตำบลบ้านซ่อง จ.ฉะเชิงเทรา บอกถึงหลักการทำงาน


          นางชนาภรณ์ บอกอีกว่า การทำงานเกิดจากชาวบ้านในชุมชน อาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครผู้สูงอายุ และอาสาสมัครดูแลคนพิการในชุมชน โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีศูนย์พัฒนาครอบครัวย่อยประจำอยู่ในพื้นที่ มีการจัดเวทีประชาคมคืนข้อมูลชุมชนให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาครอบครัว


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code