นร.ม.1 ผุดคลิปเตือนใจสังคมขับขี่ปลอดภัย
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
จุดประกายเยาวชนร่วมลดอุบัติเหตุ ม.1ผุดคลิปเตือนใจสังคมขับขี่ปลอดภัย…ตัวอย่างให้ทำตาม
จากความร่วมมือของ นสพ.เดลินิวส์ และ มูลนิธิเมาไม่ขับ ที่เดินหน้านำเสนอข้อมูลเพื่อรณรงค์ "ลด" อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญและตั้งเป้าหมายลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด
มีหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความตื่นตัวเรื่อง การป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่ได้มีเพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนช่วงวัยใดวัยหนึ่งหรือจำกัดเพียงผู้ใหญ่เท่านั้นที่ควรตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุเพราะแท้จริงแล้วกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นอีกหนึ่ง พลังของสังคมที่มีส่วนช่วยสะท้อนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเคารพกฎจราจรและกลุ่มนี้เองที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า
คลิปความยาว 1.34 นาที แสดงให้เห็นความรุนแรงของอุบัติเหตุบนท้องถนน 4 เหตุการณ์ ที่นำมาตัดต่อรวมกันภาพการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ขับรถด้วยความเร็วสูง แซงในระยะกระชั้นชิด ขับปาดกะทันหัน การละเลยความปลอดภัยของตัวเองด้วยการไม่สวมหมวกกันน็อกล้วนนำสู่ความเสี่ยงของอุบัติเหตุ
(ดูคลิปได้ที่ https://www.facebook.com/noppadon.kannika/videos/1229313580521878/)
ด.ช.กฤตัชญ์ กรรณิการ์ หรือ น้องมิว นักเรียนชั้น ม. 1 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ลูกชาย ดร.นพดล กรรณิการ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชน และความเป็นผู้นำ และซูเปอร์โพลคือหนึ่งในเยาวชนที่ออกมาแสดงความเห็นถึงพิษภัยอุบัติเหตุผ่านการตัดต่อคลิปดังกล่าวเพื่อนำเสนอ "ภาพ" ความรุนแรงโยนคำถามให้สังคมตระหนักรู้ด้วยสองตาของตัวเองว่าความประมาทที่คิดว่าเล็กน้อยอาจสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับผู้ร่วมทาง
น้องมิว ผู้ทำคลิปชื่อ "ลดความเร็วลดตาย ศูนย์ ลดตาย" เผย ถึงการออกมาทำคลิปดังกล่าวสั้น ๆ ได้ใจความว่า "อยากให้สังคมปลอดภัย"ส่วนแรงบันดาลใจที่เลือกสะท้อน ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวเพราะเห็น ว่าสถานการณ์จริงจะทำให้คนเข้าถึงความ รู้สึกได้มากกว่า ส่วนตัวมีประสบการณ์ ที่ครอบครัวต้องสูญเสียคุณยายจากอุบัติเหตุทำให้เข้าใจถึงความสูญเสียของญาติว่ารู้สึกอย่างไร และหลังจากนี้ก็จะหาโอกาสนำเสนอคลิปในลักษณะนี้อีกเรื่อย ๆ เพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคมการเลือกช่องทางเผยแพร่ผ่านโซเชียลเพราะเหมาะกับการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ที่ใช้โทรศัพท์กันเยอะเปิดดูได้ทันที
ด้าน นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการริเริ่มแสดงออกของเด็กและเยาวชนในประเด็นเกี่ยวกับอุบัติเหตุถือเป็นสัญญาณดีและสามารถเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนคนอื่น ๆ ใช้ช่องทางสื่อสารไปยังสังคมได้ไม่ต่างจากความคิดเห็นของผู้ใหญ่
ทั้งนี้ยังเห็นด้วยกับการที่จะปรับเพิ่มความรู้เรื่องอุบัติเหตุในการเรียนรู้ของเด็กซึ่งเห็นว่าสามารถสอดแทรกเข้าไปในระบบการศึกษากับเด็กทุกระดับชั้นสิ่งสำคัญคือการต้องเลือกข้อมูลที่เหมาะสมในการเรียนรู้ของแต่ละวัยให้เกิดความสนใจไปตามวัยของเด็ก
นอกจากนี้มองว่าเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีศักยภาพในการ ทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น เด็กที่ทำคลิปเตือนใจลดอุบัติเหตุ เด็กถือเป็นผู้ผลิตได้สิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนคือพยายามสร้างโจทย์ให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้และหาคำตอบจากข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตัวเอง จากประเด็นที่เด็กสนใจ เป็นการสอนที่มากกว่าการท่องจำเพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองจะทำให้เด็กเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงด้วย
"ควรมีการปลูกฝังการปฏิบัติที่ถูกต้องตั้งแต่เด็กเพราะเด็กเป็น วัยเรียนรู้ เช่น เรื่องอุบัติเหตุก็ให้ไปหาข้อมูลว่าเหตุการณ์นั้น ๆ ผิดกฎหมายข้อไหนบ้าง เด็กจะได้ศึกษา เรียบเรียงข้อมูลและกลืนความคิดไปโดยไม่รู้ตัวและไม่ใช่เพียงเรื่องอุบัติเหตุแต่ทุกเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กหากอยากสอนเรื่องเพศ เรื่องเกม เรื่องเหล้า หรือบุหรี่ก็อาจตั้งโจทย์ให้เด็กไปหาข้อมูลได้เช่นกัน" นพ.บัณฑิตกล่าว
นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า การเลือกสื่อสารด้วยภาพความสูญเสียกับเรื่องอุบัติเหตุย่อมให้ผลกระตุ้นความรู้สึกกว่าการสื่อสารแบบอื่น เพราะภาพที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงการเสียชีวิต คนนอนเกลื่อนถนน จะเกิดความลึกซึ้งกับเหตุการณ์และเริ่มเห็นถึงโทษของการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ
ขอให้ตัวอย่างของเด็ก ม.1 รายนี้จุดประกายไปยังเด็กและเยาวชนอื่น ๆ ว่าแม้อยู่ในวัยเรียนแต่ก็สามารถใช้พื้นที่ทำเรื่องดี ๆ ที่ตัวเองสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้เช่นกันที่สำคัญเห็นว่าความสนใจของเด็กยังส่งผลโดย ตรงกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนในครอบครัว บางโครงการของ สสส. เช่น การทำโรงเรียนโพธิสัตว์น้อย ลูกขอให้พ่อแม่เลิกเหล้าที่ส่งผล กระทบต่อจิตใจของผู้ปกครอง ความคิดเห็นของเด็กสร้างผลต่อความรู้สึกสะเทือนใจผู้ใหญ่ได้
กรณีการทำดีของเยาวชนเกี่ยวกับการลดอุบัติเหตุนอกจาก ความริเริ่มของเยาวชนที่สนใจแล้วในอีกมุมหนึ่งยังมีเยาวชนที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานคุมประพฤติ กทม.11 ซึ่งดูแลเยาวชนที่ถูกคุมประพฤติตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สมัครใจเป็นอาสาสมัครตามการขอความร่วมมือจากมูลนิธิเมาไม่ขับเพื่อเข้าร่วมโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุสงกรานต์ตามสถานีขนส่งหลักที่ประชาชนใช้เป็นจุดเริ่มต้นเดินทางกลับภูมิลำเนาทั้งสถานีรถไฟหัวลำโพงและขนส่งหมอชิต
เยาวชนที่ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 14-18 ปี จะร่วมถือป้ายรณรงค์เมาไม่ขับและแจกแผ่นพับให้ความรู้เรื่องงานคุมประพฤติ เป้าหมายคือการปลูกฝังและสร้างความตระหนักในการขับรถยนต์อย่างถูกต้องปลอดภัยให้กับเยาวชนได้ส่วนหนึ่งด้วย
เด็กและเยาวชนนับเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศและเป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยเหลือสังคมได้ตามกำลังและความสามารถที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม.