นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ภารกิจหลักคือ “คนไทยมีไลฟ์สไตล์สุขภาพดี”
ที่มา : โพสต์ ทูเดย์
การนำภาษีบาป เช่น เหล้า บุหรี่ ที่แยกต่างหากจากภาษีปกติมาใช้สร้างสุขภาพแนวใหม่ สามารถช่วยให้เกิดกระบวนการที่แก้ไขต้นเหตุของปัญหาสุขภาพอัน ได้แก่ การดูแลปัจจัยเสี่ยง กระตุ้นการตื่นตัวของประชาชนในการดูแลตัวเอง ในรูปแบบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเป็นเวลา 15 ปีแล้วที่ สสส.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพกว่า 1.5 หมื่นองค์กร ขับเคลื่อนการทำงานประเด็นต่างๆ เพื่อนำเสนอกลไกการทำงานสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่
นอกจากประเด็นที่ถูกนำเสนอนอกจากการลดปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพด้านต่างๆ ยังกระตุ้นให้คนทั่วไปตื่นตัวเป็นจุดเปลี่ยนให้คนหันมาดูแลตัวเองจนกลายเป็นไลฟ์สไตล์การรักสุขภาพ เช่น การจุดกระแสวิ่งสู่ชีวิตใหม่ ตลอดจนแคมเปญกิจกรรมทางกายอื่นๆ รวมทั้งการกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจเรื่องโภชนาการด้วยการกินผักในมื้ออาหารมากขึ้น
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาหน้าที่ของ สสส.ได้ริเริ่มการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมให้ทุกคนในชุมชนเกิดการเพิ่มกิจกรรมทางกาย เกิดการขยับให้กระฉับกระเฉง เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ ช่วยเติมเต็มช่องว่างของกลไกด้านสุขภาพ กระตุ้นให้เกิดองค์ความรู้ เกิดการสร้างสุขภาพกว้างขวาง ส่งเสริมการทำงานเชิงบวก
"เราเน้นสร้างความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การสร้างไลฟ์สไตล์ที่สุขภาพดี ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย กิน ออกกำลังกาย และการบริหารจิตใจ ซึ่งแต่ละช่วงวัยมีประเด็นที่ต้องโฟกัสแตกต่างกัน เริ่มต้นที่วัยเด็ก ควรปลูกฝังเกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางกายเป็นนิสัย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า เด็กๆ ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางขึ้นไปอย่างน้อย 60 นาที/วัน เช่น การเดิน การเล่น หรือเล่นกีฬา วัยทำงาน (25-59 ปี) ถือเป็นกลุ่มช่วงวัยมีปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดช่วงวัยสุดท้ายคือผู้สูงอายุที่หากส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพราะจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงระบบต่างๆ ของร่างกาย จะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณปู่คุณย่า หรือคุณตาคุณยาย มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ซึมสร้อยหงอยเหงา และเป็นการเปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมอีกด้วย
ถามว่าสิ่งที่เราทำอยู่ ประสบความสำเร็จหรือไม่ ดูจากตัวเลขทิศทางอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก เช่น กิจกรรมทางกาย องค์การอนามัยโลกบอกว่าต้องมีให้ได้อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ คนไทยอยู่ในเกณฑ์ 70% ที่ทำได้อย่างที่ WHO บอก ประเทศเราตั้งเป้าไว้ 80% ซึ่งการเสริมสร้างกิจกรรมทางกายจะช่วยลดโรคต่างๆ ได้มากโดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรม"
ในก้าวต่อไปของ สสส.จะเน้นความเป็นมืออาชีพด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเสริมศักยภาพให้ ประชาชนพึ่งตัวเองมากขึ้น สามารถปรับวิถีชีวิตตนเองเพื่อเอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เราต้องเข้าไปสู้ตั้งแต่ ต้นทางเรื่องพฤติกรรม ซึ่งผลที่ได้รับจะดีที่สุดหาก ทุกคนตระหนักถึงประโยชน์และลงมือทำอย่างแท้จริง
"ทุกอย่างทำได้และง่ายหากมองเห็นเป็นโอกาส และพยายามที่จะใช้โอกาสเหล่านั้นเพื่อสร้างเสริมสุขภาพตนเอง และบอกกล่าวให้คนที่รักปฏิบัติด้วย" ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวปิดท้าย