“นกพิราบ” พาหะนำโรค แค่กระพือปีกก็น่ากลัว
ที่มา : สำนักข่าวไทย
แฟ้มภาพ
“นกพิราบ” สัตว์ปีกที่ถูกจัดระเบียบอย่างหนัก หลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศจัดระเบียบการให้อาหารนกพิราบ พร้อมเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ห้ามให้อาหารนกพิราบ มีโทษปรับสูงสุด 25,000 บาท
น.สพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า ผู้อำนวยการกองควบคุมและภัยสุขภาพภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในตัวนกพิราบจะมีไรอยู่ ทุกครั้งที่กระพือปีกก็จะเกิดการฟุ้งกระจาย ละอองดินและไร ซึ่งคนที่มีอาการภูมิแพ้อยู่ใกล้ชิดสามารถแสดงอาการได้ ประกอบกับตัวนกพิราบเองถือได้ว่าเป็นพาหะนำโรคเชื้อราต่างๆ รวมถึงแบคทีเรีย ซึ่งในตัวนกจะสามารถเก็บเอาสะสมเชื้อต่างๆ ไว้ เช่นแบคทีเรียซาลโมเนลลา ทำให้เกิดท้องเสีย อุจจาระร่วง
น.สพ.พรพิทักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การรวมตัวกันเป็นฝูงของนกพิราบยัง มีเรื่องของมูลนกที่สะสมเอาทั้งเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งจะกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ส่งผลให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบบางชนิด เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่มีนกพิราบเป็นพาหะได้รับเชื้อไวรัสเข้าไป จากนั้นยุงกัดนก แล้วไปกัดคนต่อ ส่งผลต่อทำให้คนได้รับเชื้อ และป่วยได้
ขณะเดียวกันโรคที่ไม่ควรมองข้ามและถือว่าอันตรายมากคือไข้หวัดนก หากเป็นในกรณีสัตว์เลี้ยงทั่วไป หรือนกสวยงามย่อมได้รับการดูแลอย่างดี แต่กรณีให้อาหารและเลี้ยงนกในที่สาธารณะต้องยอมรับว่านกเหล่านั้นไม่ได้รับการตรวจโรคและดูแลสุขภาพ ยิ่งรวมกันเป็นฝูง ทำให้นกเสี่ยงต่อการติดเชื้อรับเชื้อร่วมกันและสามารถแพร่สู่คนเดียวได้
นกพิราบ ภาษาอังกฤษเรียก Rock pigeon หรือ Rock dove เป็นนกที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่การเลี้ยงเพื่อความสวยงาม เลี้ยงเพื่อการสื่อสาร และเพื่อทำเป็นอาหาร ปัจจุบันพบว่า นกพิราบมีประชากรในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาหาร และแหล่งอาศัยในแถบชนบทถูกจำกัด ทำให้นกพิราบส่วนใหญ่บินเข้าหาอาหาร และอาศัยในเขตเมือง เพราะเป็นแหล่งที่มีอาหารมาก หาได้ง่าย รวมทั้งมีอาคารที่สามารถใช้เป็นแหล่งอาศัยได้ดี
นกพิราบ ชอบกินเศษอาหาร-ขนมปัง อาหารนกพิราบที่พบในเขตเมือง ได้แก่ เศษขนมปัง และเศษอาหาร อาหารเหล่านี้จะกระตุ้นการขยายพันธุ์ของนกพิราบ ทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น และพบว่าเมื่อนกพิราบบินเข้ามาในเขตเมืองจะไม่ค่อยบินกลับไปยังรังเดิมที่อาศัย ซึ่งทำการสร้างรังตามอาคารสูงที่มีซอกแคบๆ คล้ายกับหน้าผา หรือโขดหินตามธรรมชาติ
นกพิราบมีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป เอเชียตะวันตก และแอฟริกาเหนือ ปัจจุบันพบแพร่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในแหล่งเมือง หรือชุมชน ซึ่งส่วนมากที่พบเห็นจะเป็นนกพิราบป่า มีจุดเด่น คือ มีขนสีเทาอ่อน
นกพิราบป่ามีลักษณะทั่วไปคล้ายนกเขา แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่า โดยรูปแบบของขน และสีของลำตัวจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในแต่ละทวีป
นกพิราบตัวผู้มีนิสัยก้าวร้าว นกพิราบมีรูปร่างลำตัวมีขนสีเทาอมฟ้า ปีกแต่ละข้างมีแถบสีดำสองแถบแทรก ขา และเล็บสีแดง เพศผู้มีรูปร่าง ขนาดใหญ่ ตัวสูง มีหัวกะโหลกขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย นิสัยก้าวร้าว ทะเลาะกับตัวผู้ในฝูง แต่ไม่รังแกตัวเมีย ตัวเมียเมื่อยืนอยู่บนพื้นราบเรียบจะเห็นสันกระดูกตรงยาวกว่าตัวผู้ รักความสงบ ยกเว้นช่วงทำรัง และวางไข่ที่มักก้าวร้าวจากการแย่งพื้นที่ทำรัง
อาหารของนกพิราบ คือ เมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว เมล็ดงา เมล็ดทานตะวัน และกินแร่เสริมหรือวัสดุช่วยย่อยเป็นเปลือกหอยหรือกรวดขนาดเล็ก
นกพิราบ รักเดียวใจเดียว นกพิราบตามธรรมชาติจะชอบทำรังอาศัยตามซอกของผาหินหรือโขดหิน สร้างรังบนพื้นแข็งตามชอกต่างๆ ไม่ชอบสร้างรังบนต้นไม้ มีอายุเจริญพันธุ์พร้อมผสมพันธุ์ ประมาณ 6-8 เดือน มีคู่ครองตัวเดียว ไม่จับคู่หลายตัว และไม่ยอมจับคู่แม้ว่าคู่จะตายไปแล้วก็ตาม เพศเมียออกไข่ได้ทั้งปี ครั้งละ 2-3 ฟอง ฟองไข่มีสีขาว ทั้งเพศผู้และเพสเมียจะช่วยกันดูแลไข่ หรือลูกนก
นกพิราบสามารถบินออกหาอาหารได้ระยะทางไกลระยะประมาณ 100-1000 กิโลเมตร/วัน ความเร็ว 80 ถึง 94.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยการบินของนกพิราบจะไม่ใช้แรงลมแต่ใช้หัว และหาง บังคับทิศทาง นอกจากนี้ ยังใช้ตำแหน่งอาทิตย์ แสงอาทิตย์ รวมทั้งตำแหน่งของดวงจันทร์ จดจำทิศทาง และกำหนดทิศทาง จึงเปรียบเสมือนภายในตัวมีนาฬิกาเปรียบเทียบตำแหน่งของดวงอาทิตย์ คอยบอกมุมของอาทิตย์ อีกทั้ง นกพิราบมีสายตาที่ดี มองเห็นภาพในมุมมองกว้าง 340 องศา ไกลถึง 50 กิโลเมตร ประมวลข้อมูลภาพเร็วกว่ามนุษย์ 3 เท่า
ประโยชน์นกพิราบ
1. นกพิราบใช้เลี้ยงเพื่อความสวยงาม และฟังเสียงขัน เพราะนกพิราบบางชนิดมีลำตัว และสีขนสวยงาม เช่น นกพิราบแฟนซี รวมถึงมีเสียงขันไพเราะคล้ายเสียงนกเขา
2. นกพิราบใช้เลี้ยงเพื่อการแข่งขันความสามารถ อาทิ แข่งขันการบินไกล บินทน บินกลับรัง เป็นต้น ซึ่งนิยมมากในปัจจุบัน
3. นกพิราบเลี้ยงเพื่อการสื่อสารที่เลี้ยงกันมาตั้งแต่สมัยโบราณของจีน แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้ว
4. นกพิราบเลี้ยงเพื่อรับประทานเนื้อ อาทิ พันธุ์ king และพันธุ์ roman เป็นต้น
5. นกพิราบถูกใช้เป็นสัตว์ตัวแทนแห่งสันติภาพ โดยเฉพาะนกพิราบสีขาว
ข้อเสียนกพิราบ
1. นกพิราบเป็นพาหะนำโรค cryptococcosis ในคนที่เกิดจากเชื้อ C. neoformans.ที่มาจากนกพิราบ มักเกิดกับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ทำให้ปอด และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่หากเกิดในสัตว์อื่น เชื้อโรคจะทำให้ระบบหายใจผิดปกติ มีอาการไอ จาม มีเลือดออกจากจมูก และมักเกิดก้อนเนื้อนูนที่จมูก
2. นกพิราบส่วนใหญ่เข้าอาศัยในเมือง สร้างรังตามซอกอาคารหรือหลังคา ถ่ายมูลกระจายทั่วจนเป็นที่น่ารังเกียจ และเกิดความสกปรก
3. นกพิราบบางส่วนในชนบทมักลงกินเมล็ดข้าวของชาวนาหลังการหว่านข้าว สร้างความเสียหายจนต้องหว่านใหม่
ทั้งนี้ การให้อาหารนกมีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ปรับ 2,000 บาท และมีความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย