‘ธรรมสวัสดี’ ธรรมะง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง
ทุกวันนี้มีฟรีก๊อบปี้ หรือฟรีแมกกาซีนเกิดขึ้นในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ สื่อรูปแบบนี้ แม้จะมีเนื้อหาความรู้ให้อ่าน แต่เน้นการโปรโมทสินค้า หรือไม่ก็แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และที่พัก ฯลฯ ส่วนฟรีก๊อบปี้อีกรูปแบบหนึ่งคือเรื่องราวทางธรรมะ แม้จะมีให้เห็นบ้าง แต่ไม่มากนัก อาทิ นิตยสารธรรมะ‘มุม‘ ในจังหวัดเชียงใหม่ และล่าสุด ธรรมสวัสดี ของเสถียรธรรมสถาน ฟรีก๊อบปี้รายเดือน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554
“ธรรมสวัสดี หมายถึง ขอให้ปลอดภัยโดยธรรม” แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เสถียรธรรมสถาน กล่าวถึงชื่อของฟรีก๊อบปี้ เพื่อเผยแพร่ธรรมะถึงคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ หากถามว่า ฟรีก๊อบปี้ธรรมสวัสดี จะตอบโจทย์ให้สังคมได้มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้แม่ชีศันสนีย์บอกว่า เพราะสังคมทุกวันนี้เร่งด่วน มักจะอ่านเรื่องที่เร็วๆ ง่ายๆ จึงอยากให้คนหันมาอ่านเรื่องธรรมะอย่างไม่รีบร้อน
“ฟรีก๊อบปี้ธรรมสวัสดี จะแจกตามสถานที่คนเดินผ่านแบบเร็วๆ สถานีรถไฟฟ้า โรงหนัง โรงแรม และโรงเรียน ฯลฯ เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่หรือใครก็ตาม ได้อ่านเรื่องทางธรรมที่ง่าย และนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน” แม่ชีศันสนีย์ กล่าว
ธรรมสวัสดี ฉบับแรก ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติด้วยเรื่องของเด็กที่เคยบวชที่เสถียรธรรมสถาน โดยสะท้อนมุมมองของเด็กๆ ได้อย่างน่ารัก และมีบางมุมที่ผู้ใหญ่น่านำไปไตร่ตรอง เด็กๆ ปฏิบัติธรรมด้วยความสนุกสนานและนำธรรมะกลับไปใช้ในชีวิตจริง
เด็กหญิงพอฟ้า พรรณเชษฐ์ วัย 6 ปี เล่าความรู้สึกฉบับแรกใน เสียงแห่งอนาคต ว่า อนาคตอยากเห็นต้นไม้เยอะๆ
ส่วน เด็กหญิงสุปรียา อัมรินทร์ บอกไว้ว่า อนาคตอยากมีสนามกอล์ฟสำหรับคนจนๆ จะได้มีโอกาสเล่นบ้าง
เสียงสะท้อนของเด็กๆ ที่เคยบวชเป็นแม่ชีน้อย อาจทำให้ผู้ใหญ่สะกิดใจและได้เข้าใจว่า ธรรมะเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าเข้าใจและนำมาปฏิบัติ แม้กระทั่งเด็กๆ ก็ทำได้
แม่ชีศันสนีย์ เล่าต่ออย่างอารมณ์ดีว่า ฟรีก๊อบปี้ธรรมสวัสดีของเสถียรธรรมสถาน จะต่างจากฟรีก๊อบปี้ทั่วไป แต่ละฉบับจะมีบรรณาธิการรับเชิญ โดยคนหลากหลายอาชีพ เพื่อนำเสนอมุมมองทางธรรมที่แตกต่าง
ฉบับแรกบรรณาธิการรับเชิญ คือ คุณพันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์ นำเสนอเรื่องเด็กๆ โดยเธอถ่ายภาพเด็กกลุ่มนี้ตั้งแต่อยู่ในโครงการจิตประภัสสรจนบวชเป็นแม่ชี เธอถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี เธอเสนอแนวคิดว่า ถ้าอยากรู้ว่าอนาคตของเด็กจะเป็นอย่างไร คุณต้องมองหัวใจของเด็ก
บรรณาธิการรับเชิญคนต่อไปที่จะมาสร้างสีสันมีประมาณ 30 คน อาทิ วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา, อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์, แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์, นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และป๊อด-โมเดิร์นด๊อก ธนชัย อุชชิน
“บรรณาธิการบางคนบอกแม่ว่า จะหัวเราะให้กับความทุกข์ เราไม่ได้เปิดกว้างแค่คนอ่าน ยังเปิดกว้างสำหรับคนทำงานหลากหลายอาชีพ แม่คิดว่า ธรรมะที่มาจากคนหลากหลายจะสื่อสารกับคนได้กว้างขึ้น แต่ละเดือนบรรณาธิการรับเชิญต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนมาสนใจธรรมะ” แม่ชีศันสนีย์ กล่าว
หากถามว่า ทำไมเสถียรธรรมสถาน ให้ความสนใจการทำสื่อรูปแบบนี้ แม่ชีศันสนีย์บอกว่า กว่า 24 ปีที่เราเสนอตัวเป็นผู้รับใช้สังคม เป็นชุมชนเรียนรู้ที่ปลอดภัยโดยธรรม ที่สังคมพึ่งได้ เราเคยทำนิตยสารสาวิกา มีคนอ่านกลุ่มเล็กๆ จึงอยากขยายคนอ่านให้กว้างขึ้น
“แม่อยากให้ฟรีก๊อบปี้ได้มีโอกาสเข้าถึงคนที่คิดว่า ธรรมะเป็นเรื่องยากและเชย ได้อ่านธรรมะที่ง่าย แม่คิดว่าคนรุ่นใหม่ตกเป็นเหยื่อมากขึ้น เราต้องกรุณาพวกเขา งานของแม่คือ การนำธรรมะมาเผยแพร่สู่มหาชน ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย” แม่ชีศันสนีย์กล่าวถึงสื่อทางเลือกสำหรับคนในสังคมที่เสถียรธรรมสถานนำเสนอในปีนี้
เสถียรธรรมสถาน ใช้สื่อทุกรูปแบบเพื่อเผยแพร่ธรรมะ แม่ชีศันสนีย์ บอกว่า สติปัญญาของแม่มาจากจิตวิญญาณของการเป็นผู้รับใช้ เรารู้แล้วว่า ธรรมะจะใช้กับชีวิตได้อย่างไร
“จิตมนุษย์เปลี่ยนได้ เราก็ต้องฉลาดในการใช้สื่อเพื่อรับใช้พุทธศาสนา ก่อนบวชแม่เคยใช้ประสบการณ์ด้านสื่อฯ เพื่อตัวเองมาก่อน แต่ตอนนี้เป็นการทำเพื่อรับใช้พุทธศาสนา และเยียวยาสังคม” แม่ชีศันสนีย์ กล่าวอย่างเบิกบาน
ธรรมะสวัสดี มีหลายคอลัมน์ชวนคิดทั้งเรื่อง ชีวิต และธรรมะ อาทิ คอลัมน์ ทุกข์ มีไว้ให้เห็น ไม่มีไว้ให้เป็น โดยแม่ชีศันสนีย์ตอบคำถามทางธรรมะ ฉบับแรกนำเสนอตอน “เมื่อลูกเลือกเกิดได้”, จิตประภัสสร ตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์, โรงเรียนพ่อแม่นำเสนอเรื่อง ห้องเรียนห้องแรกของลูก, โรงเรียนพ่อแม่, สาวิกาสิกขาลัย และธรรมชาติบำบัด ฯลฯ
หมายเหตุ: ผู้ใดสนใจฟรีก๊อบปี้ธรรมสวัสดี ขอได้ที่เสถียรธรรมสถาน หรือสอบถามได้ที่ 0-2519-1119 และ 0-2510-6697 และเว็บ www.sdsweb.org
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update : 11-01-54
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน