“ธนาคารผลไม้” นวัตกรรมเด็กไทยอ่อนหวาน
ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม หลีกไปงานนี้ ผลไม้ไทย อย่างส้มโอ มะละกอ กำลังเข้ายึดครองเต็มพื้นที่หัวใจ เด็กๆ วัยใส หมู่บ้านแม่กึ๊ด ต.ทุ่งงาม อ.เสริมงาม จ.ลำปาง เพราะเด็กๆ ที่นี่ได้รับการปลูกฝังให้รับประทานผักและผลไม้ ด้วยกุศโลบาย “ธนาคารผลไม้” ที่นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ มีสุขภาพดีด้วยโภชนาการสมวัย ยังทำให้เด็กๆ มีนิสัยรักการออมอีกด้วย
วิสัย อุดก้อน เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน โรงพยาบาลเสริมงาม เล่าถึงที่มาของโครงการธนาคารผลไม้เพื่อเด็กไทยอ่อนหวาน ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่กึ๊ด หนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการของชุมชน ภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนงานอาหาร โภชนาการ และสุขภาพแบบบูรณาการสู่งานประจำโดยใช้พลังประชาสังคมเป็นฐานในการพัฒนาว่า จุดเริ่มต้นมาจากปัญหาที่เด็กนำขนมหวานมาทาน และการเกิดโรคฟันผุเพิ่มขึ้นในศูนย์เด็กขึ้นทุกปี โดยที่การห้ามเด็กไม่ให้นำขนมมาทานไม่ได้ผล เพราะเด็กจะร้องไห้โยเย ไม่ยอมมาเรียน ซึ่งกว่าจะทำให้เด็กเลิกกินขนมกรุบกรอบได้ ใช้เวลานาน 1 ปี ในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน เทศบาล ซึ่งขณะนี้โครงการมีอายุได้ 2 ปีแล้ว
วิสัย บอกว่า วิธีการสำหรับกลยุทธ์นี้ คือการ ใช้การฝาก-ถอน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจการทานขนม ใช้กลวิธีการให้แต้มเมื่อนำผลไม้มาทานให้แต้มบวก เด็กนำขนมหวานมาทานให้แต้มลบ และนำเงินค่าขนมแต่ละวันนำมาออมในกระออมสิน สร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการกินผลไม้ ทั้งกระปุก ผ้ากันเปื้อน แก้วน้ำแปรงสีฟัน ผ้าเช็ดหน้า รวมถึงการจูงใจโดยการให้รางวัลทุก 3 เดือน เมื่อเด็กนำผลไม้มาทาน โดยผู้ปกครองเป็นผู้ตัดสิน และจัดหารางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นกิจกรรมตลอดปี
“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กินผลไม้แทนขนมหวาน เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการ เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนขึ้น ก็นำผัก ผลไม้ ที่ปลูกเองที่บ้าน มาปรุงอาหารกลางวันที่โรงเรียน ซึ่งอาหารจะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เช่น ต้มจืดผัดหวาน เป็นต้น”
“โครงการนี้ดีมากๆ เพราะทำให้ละอ่อนรู้จักเลือกรับประทานสิ่งที่มีประโยชน์ เขาจะรู้ว่าอะไรควรกินและไม่ควรกิน จากที่เมื่อก่อนทุกเช้าจะต้องร้องซื้อขนม แต่เดี๋ยวนี้นำเงินมาใส่กระปุก หยอดวันละ 5-10 บาท บางคนมีเงินเก็บหลายร้อยหลายพันบาท” ยายลัพ สีไชย พูดถึงหลานวัยละอ่อนอย่างปลื้มใจ พร้อมกับบอกว่า วันนี้เราสอน ปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้กับเขาได้ ก็หวังว่า เขาก็น่าจะติดนิสัยไปจนโต
ไม่เพียงเท่านี้ ปรีชญา จอมฟอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเสริมงาม เล่าเสริมว่า เมื่อทุกคนในชุมชมรู้ปัญหา และร่วมกันหาวิธีแก้ไขปัญหา จึงมีการทำสัญญาประชาคมในหมู่บ้านด้านอาหารโภชนาการ และสุขภาพ ที่สำคัญมีการนำไปสู่การปฏิบัติในระดับครัวเรือน ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนและวัด เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้การส่งเสริมโภชนาการในหญิงตั้งครรภ์ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เตรียมพร้อมการตั้งครรภในแม่วัยรุ่น มีการนำผักพื้นบ้าน ผักปลอดสารพิษที่ผลิตในชุมชนบริการผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล มีการจัดตั้งคลินิกDPAC เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และมีการติดตามผลเป็นระยะๆ
อ.สง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย มองว่า ทุกวันนี้ แม้แต่ชาวบ้านชนบท การปลูกพืชผักสวนครัว หรือ ผักพื้นบ้านไว้รับประทานเองก็หายไปจากชีวิต แค่ตะไคร้ โหระพา ก็ต้องซื้อที่ตลาด ไม่ต่างจากคนเมือง ทั้งๆ ที่ผักที่ปลูกไว้กินเอง โดยเฉพาะผักพื้นบ้านมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยจากสารเคมี เป็นพืชผักไทยๆ ที่มีวิตามิน ให้คุณค่าทางสมุนไพรบำบัดรักษาโรค และยังเป็นผักที่สดใหม่ ซึ่งให้คุณค่าทางโภชนาการมากว่าผักที่ขายในตลาดที่ผ่านการขนส่ง ส่วนประหยัด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นผลพลอยได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากบ้านของ “ศรี สีขาว” วัย 58 ปี ชาวบ้าน ต.ทุ่งงาม ใช้พื้นที่บริเวณบ้าน ปลูกพืชผักพื้นบ้านไว้กินเอง ไม่ว่าจะเป็นเสาวรส กล้วย พริกขี้หนู และอีกมากมายหลายชนิด โดยที่ป้าศรี บอกว่า ทุกวันนี้ไม่ต้องซื้อผักที่ตลาด ช่วยประหยัดค่ากับข้าวเดือนๆ หนึ่งเป็นพันบาท ที่ซื้อก็มีเพียงเนื้อสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกรับประทานปลา ทุกเช้า เย็น ป้าศรีก็จะเป็นคนดูแลรดน้ำต้นไม้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกวันนี้ ป้าศรีมีสุขภาพดี
ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชื่นชมว่า หมู่บ้านแม่กึ๊ด ต.ทุ่งงาม อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ที่สามารถที่จะช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ในส่วนของนโยบายสสส.ให้ความสำคัญกับอาหารมิใช่เพียงเพื่อบริโภค แต่ช่วยให้เกิดการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง เช่น การไม่ใช้สารเคมี ความมั่นคงทางอาหาร โดยการที่คนสามารถปลูกผักกินเอง เลี้ยงตัวเองได้ การสนับสนุนการจำหน่ายในชุมชน มีตลาดอาหารปลอดภัย ตลาดสีเขียว เป็นต้น โดยเน้นทำงานจับมือกับท้องถิ่น อบต. เทศบาล ขยายไปยังสถานประกอบการ โรงพยาบาล วัด สนับสนุนให้จัดเมนูอาหารปลอดภัยเร่งผลักดันให้เกิดต้นแบบในชุมชนและทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งขณะนี้เรามีตำบลสุขภาวะ 3,000 ตำบล ที่สามารถขยายไปสู่อีก 7,000 ตำบลทั่วประเทศ
อ.สง่า ทิ้งท้ายว่า ปัญหาเด็กไทยมีปัญหาผอม เตี้ย อ้วน โง่ จะหมดไป หากชุมชน สามารถที่จะใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่ลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอการแก้ปัญหาแบบเดิมกำหนดนโยบายมาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียวสำหรับโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ได้มีโครงการนำร่องใน 9 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น เพชรบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ สงขลา ภูเก็ต ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการถอดเป็นบทเรียน เพื่อนำไปใช้เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ที่มา : วรรณภา บูชา Team Content www.thaihealth.or.th