ท้องถิ่นร่วมพัฒนา ศพด. ชูเอกลักษณ์เด็ก

   /data/content/26447/cms/e_eilmotuwxz58.jpg


    ภายในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ มีวาระหลักในการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยครั้งใหญ่ คือการกระจายระบบและรูปแบบการศึกษาไปให้ท้องถิ่นดูแลและรับผิดชอบมากขึ้น โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ควบคุมนโยบายทั้งหมดเป็นผู้ตรวจสอบสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ 


     ขณะนี้ก็มีหลายพื้นที่ในประเทศไทยเริ่มจะขานรับแนวทางดังกล่าวแล้ว และมุ่งเน้นพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัยขึ้นไปเพื่อวางรากฐาน โดยเน้นความรู้ ควบคู่ทักษะชีวิตและคุณธรรม เพื่อเป็นกำลังหลักของชาติในสภาวะที่ประเทศไทยกำลังเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน และต้องไม่ละทิ้งบ้านเกิดอีกด้วย


     หากนึกภาพไม่ออก ก็ขอให้ลองดูการทำงานของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ดำเนินโครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กวัย 2-5 ปี พื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้โครงการ COACT ได้ร่วมกิจกรรมการประกาศ “ปฏิญญาปฐมวัยเพื่อลูกหลานตำบลศรีษะเกษ” ที่เทศบาลตำบลศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน 1 ใน 6 แห่งที่ขอเป็นศูนย์เรียนรู้ปฐมวัยใน จ.น่าน จากการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ร่วมทำงานแบบบูรณาการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ ไม่เพียงแค่เด็ก ยังรวมไปถึงครูและผู้ดูแลต้องเข้าใจวิถีของเด็กด้วย


     นายสมอาจ ภมรพล นายอำเภอนาน้อย จ.น่าน กล่าวว่า การบริหารจัดการที่ดีถือเป็นจุดสำคัญที่ครอบคลุมไปทุกระบบที่จะนำสู่เป้าหมายความสำเร็จที่วางไว้ อีกทั้งการพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ตามบริบท โดยนำขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสอดแทรกในการจัดประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย มีความพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อกลับมาพัฒนาพื้นที่ตำบลเทศบาลศรีษะเกษในอนาคตให้เกิดความเจริญรุ่งเรื่องและน่าอยู่ ถือเป็นเป้าหมายที่ถูกต้อง โดยผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์และมีความต้องการที่จะยกฐานะให้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เรียนรู้ที่มีมาตรฐานระดับประเทศ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุน


     “การจะสร้างคนของ อ.นาน้อย ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของคนทั้งชุมชนที่ร่วมกันรับผิดชอบ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องดูแลเด็กปฐมวัยให้เติบโตเป็นคนนาน้อยที่มีคุณภาพ ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลขณะนี้ ดังนั้น ศพด.ภายใต้การบริหารของเทศบาลจึงมีแนวนโยบายที่จะปลูกฝังเด็กและเยาวชน โดยเน้นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรม วิถีชุมชน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นวิถีที่ยั่งยืน”


     “โดยปี 2558 จะเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งมี 3 เสาหลักคือ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จึงต้องให้เด็กรู้เสาหลักของสังคม วัฒนธรรมที่แท้จริงของประเทศ โดยเริ่มจากเด็กปฐมวัยเรียนรู้ตัวเองก่อนที่จะไปเรียนรู้ของคนอื่น เพราะหากไม่รู้ว่าเสาหลักสังคมและวัฒนธรรมที่แท้จริงคืออะไร เมื่ออาเซียนเข้ามา ซึ่งมีสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของต่างชาติเข้ามา แล้วเราจะรักษาสังคมและวัฒนธรรมของเราได้หรือไม่” นายสมอาจ กล่าว


     ด้าน นางอวยพร เทพเสนา นายกเทศมนตรีตำบลศรีษะเกษ กล่าวว่า การประกาศปฏิญญาปฐมวัยเพื่อลูกหลานตำบลศรีษะเกษ ต้องดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ ร่วมกันพัฒนา ศพด.ตำบลศรีษะเกษให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักวิชาการใน 5 ระบบ คือ ระบบบริหารจัดการ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์เรียนรู้ ระบบการดูแลสุขภาพ และระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน


     ข้อ 2 ร่วมกันดำเนินการตามข้อเสนอที่ระบุไว้ในท้ายปฏิญญานี้ และจะรายงานผลให้ประชาคมศรีษะเกษทราบภายใน 1 ปี ข้อ 3 ร่วมกันทบทวนและจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนา “ศพด.เทศบาลตำบลศรีษะเกษ” และเด็กปฐมวัยในตำบลศรีษะเกษร่วมกันทุกปี และข้อ 4 จะตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการและติดตามผลตามปฏิญญาต่อไป โดยมุ่งหวังว่าปฏิญญานี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกหลานของเทศบาลศรีษะเกษมีการเจริญเติบโต มีพัฒนาการสมวัย และมีสติปัญญาที่ดี


    ความสำเร็จทุกอย่างเกิดจากการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ถือเป็นจุดเด่นในเรื่องแรก จุดเด่นที่ 2 คือผู้บริหารมีพื้นฐานในด้านการจัดการศึกษาอย่างดี ดังนั้น การจัดการศึกษาปฐมวัยจึงไม่ใช่เรื่องยาก เราสามารถมองปัญหาออก ทำให้ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้หมด ทุกคนพร้อมที่จะเข้ามาร่วม เพราะเป็นการทำเพื่อลูกหลานของชุมชนเอง จะเห็นได้ว่าการรวม ศพด. 14 แห่งที่มีอยู่ในแต่ละหมู่บ้าน ให้เป็น 1 ศพด. ทั้งหัวหน้า ศพด. และครู/ผู้ดูแลเด็กมาทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สัดส่วนครูและนักเรียนเป็น 1 ต่อ 11 คน ฉะนั้น ตราบใดที่ครูเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เด็กก็จะเรียนรู้ตามธรรมชาติแบบมีความสุข


 /data/content/26447/cms/e_ejkmqrsuxz78.jpg   ส่วน นายกฤตพงษ์ โรจนวิภาค ผอ.รพ.นาน้อย กล่าวว่า บทบาทของ รพ.ชุมชนที่สำคัญคือการทำงานร่วมกับ รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอ และคณะกรรมการประสานงานสุขภาพระดับอำเภอ หรือที่เรียกว่าเครือข่ายสุขภาพ อ.นาน้อย ซึ่งมีการประชุมพูดคุยทำแผนร่วมกันทุกเดือนในเรื่องเด็กวัย 0-5 ปี


     ซึ่งเป็นจุดเน้นสำคัญอย่างหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศออกมาตั้งแต่ปี 2556 แบ่งการพัฒนาตามกลุ่มวัย ซึ่งวัยเด็กจะมีประเด็นสำคัญที่เป็นการบริการแบบปฐมภูมิ โดย รพ.สต. และกลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวที่รับผิดชอบด้านปฐมภูมิเชื่อมมาสู่ทุติยภูมิ ช่วยประเมินเด็ก เมื่อพบปัญหาที่เกินกำลังก็จะถูกส่งต่อมายังโรงพยาบาล


     ทั้งนี้ ระบบส่งต่อคนไข้เด็ก จ.น่าน ค่อนข้างมีความพร้อมในเรื่องหมอเด็ก หมอเฉพาะทางจิตเวชเด็ก แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือ ปัญหาฟันผุ สูงถึงร้อยละ 50 ซึ่งพบว่าเด็กที่อยู่กับปู่ย่าตายายไม่ยอมแปรงฟันก่อนนอน ปัญหาต่อมาคือผอม เตี้ย อ้วน โง่ ก่อนเข้าชั้นอนุบาลต้องลดน้อยลง 


     ปัญหาที่ 3 คือครูหรือผู้ดูแลต้องมีความเข้าใจเป้าหมายในการทำ ไม่ได้ทำตามหน้าที่ ตามเอกสาร แต่ต้องเข้าใจวิถีของเด็กแต่ละคน ดังนั้นครูต้องสื่อสารกับผู้ปกครองเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่รู้หนังสือ ซึ่งเป็นประเด็นที่ รพ.จะช่วยขับเคลื่อนได้ในเชิงเป้าหมาย และ 4.พัฒนาการ ร้อยละ 3-4 ถือว่ายังน้อยสามารถแก้ไขได้ทันภายใน 3 เดือนที่โรงพยาบาลลงไปประเมินเด็กที่ ศพด.


     “โจทย์ของ จ.น่าน มีต้นทุนที่ดีมากมีเทศบาลที่เข้มแข็งที่จะเป็น ศพด.เรียนรู้ต้นแบบ โดยมีเป้าหมายก้าวต่อไป ต้องมองเชิงการวัดผล โดยทำให้ผู้บริหารและครู/ผู้ดูแลเด็กรู้ว่ากระบวนการจะต้องไม่ดำเนินการตามรูปแบบเดิมตลอดทุกปี แต่จะต้องเกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์และบริบท โดยมีการติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ และมีระบบการประเมินผลลัพธ์ก่อนส่งต่อเด็กไปยังชั้นที่สูงขึ้นไป" นายกฤตพงษ์กล่าว


     นี่คือรูปแบบการศึกษารูปแบบใหม่ที่ทุกภาคส่วนในชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตัวเอง


 


 


       ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


       ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


       ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ