ท้องถิ่นภาคเหนือระดมความเห็น “จัดการทรัพยากรมนุษย์”

 

การจัดประชุม “สมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป: ภาคเหนือ” จัดโดย คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ที่โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3-4 ก.พ.54 ที่ผ่านมาโดยมีนายสมพร ใช้บางยาง กรรมการสมัชชาปฏิรูป ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป เป็นประธานในการประชุม ได้ส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมาก

โดยการแลกเปลี่ยนในหัวข้อ”การจัดการทรัพยากรมนุษย์ในชุมชน และการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับท้องถิ่น (บทบาท)”มีนายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูนจ.นครศรีธรรมราช เป็นประธาน และนางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเกาะคา จ.ลำปาง เป็นรองประธาน โดยมีการตั้งคำถามให้ผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยน 3 ข้อ คือ 1.องค์การปก ครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเป็นกลไกในการสร้างความเป็นพลเมืองของคนในชุมชนได้อย่างไร 2.ชุมชนจะจัดการตนเอง โดย อปท.หนุนเสริมได้อย่างไร และ 3. บทบาทของ อปท.ในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพของเยาวชนท้องถิ่นจะมีบทบาทอย่างไร

น.ส.ธนิชา ธนะสาร ตัวแทนภาคประชาชน จาก อบต.ดอนแก้วอ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เด็กจะมีสำนึกรักชุมชนได้นั้น บทบาทหน้าที่ของ อปท.ควรเป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนส่งเสริม ไม่ใช่นายสั่งว่าต้องทำเรื่องนั้นๆ เพราะถ้าทำเช่นนั้น สิ่งที่เยาวชนทำจะเกิดขึ้น เพราะถูกการสั่งมา จะไม่เกิดผลยั่งยืน การสร้างศักยภาพและพัฒนาคนจะต้องให้เยาวชนพัฒนาจากตัวของเขาเอง ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นแน่นอน เราไม่ใช่นายจ้าง หรือเจ้านาย ไปสั่งเยาวชน แต่ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้เขาเกิดการเรียนรู้ ตั้งแต่ทำงานกับเยาวชนเขาสามารถทำได้ถ้าผู้ใหญ่ไม่ให้โอกาสและเวที ศักยภาพก็ไม่เกิด การเรียนปัจจุบันยังเรียนด้วยครูสอน วิทยากรให้เด็กเรียนเก่ง ไม่ใช่การสร้างสำนึกให้เยาวชนกลับมาดูแลชุมชน ดังนั้น อยากให้ อปท.เป็นกลไกจัดการศึกษาสอนให้คน”เก่ง” และ”ดี”ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษาทางเลือก หรือการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะคนเก่งอย่างเดียว ชุมชนจะแตกแยก เพราะใช้ความเก่งไปเอาเปรียบคนอื่น

ขณะที่ตัวแทนจากเครือข่ายพลังเด็กและเยาวชนเวียงเชียงของอ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมา อปท.ทุกแห่งตั้งสภาเด็ก แต่ต่างคนต่างทำงาน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะผลักดันให้มี 1 สภาเด็ก ต่อ 1 อำเภอเท่านั้น ทั้งนี้ แต่ละตำบลต่างมีเครือข่ายของตัวเอง แต่ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาสภาเด็กในแต่ละแห่งต้องพึ่งพางบประมาณจากภายนอก เช่น สกว. พอช. สสส. เป็นต้น เพราะ อปท. ไม่มีงบทำให้เยาวชนไม่เห็นความสำคัญของ อปท.การทำกิจกรรมของเยาวชนใช้วิธีตั้งกล่องบริจาค ดังนั้น จะดีหรือไม่ หากจะมีสภาเด็กและเยาวชน 1 แห่ง ต่อ 1 อำเภอ แล้ว อปท.ในพื้นที่ตั้งงบประมาณที่แน่นอนสำหรับสภาเด็กและเยาวชนเหล่านั้น โดยที่อำนาจในการพิจารณาโครงการเยาวชน อยู่ที่สภาเด็กเลย ไม่ต้องผ่าน อปท.ทำให้เด็กสามารถขอผลักดันโครงการกับองค์กรของเยาวชนได้โดยตรง ซึ่งจะสามารถผลักดันกิจกรรม ต่างๆ ได้ง่ายกว่าไปพูดกับผู้ใหญ่

นายอานันท์ ศิริภาคโยธิน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตงจ.เชียงใหม่เสนอว่า ผู้นำของ อปท.น่าจะใช้เวลาในการมองงานด้านการพัฒนาเรื่องบุคลากร มากกว่าโครงสร้างพื้นฐาน เพราะโครงสร้างพื้นฐานมีการพัฒนาอย่างชัดเจนแล้ว แต่การพัฒนาบุคลากรต้องใช้จินตนาการ ต้องคิดในเรื่องที่ยากกว่าที่สำคัญการพัฒนาบุคลากร หรือทรัพยากรของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ

ด้านดร.ธรรมพร ตันตรา อาจารย์วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เสนอว่า อปท.จะเป็นกลไกในการสร้างความเป็นพลเมืองในชุมชนได้อย่างไร ต้องย้อนถาม อปท.ว่าท่านเป็นกลไกที่ดีพร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์กรชุมชนหรือไม่ ตราบใดที่เราไม่พร้อมเป็นองค์กรขับเคลื่อนชุมชนพลเมืองที่ดีได้ สิ่งที่จะพูดคุยกันจะเป็นภาพฝันดังนั้น เราต้องสร้างกลไกให้ดีก่อนทั้งผู้บริหาร สมาชิก และพนักงาน อปท.ถ้าเมื่อใด อปท.เป็นกลไกที่เข้มแข็ง เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ชาวบ้านจะรักและเคารพ อปท.เอง

ว่าที่ ร.ต.ธีรภพ ธนะศรี ปลัดเทศบาลตำบลจันจว้า อ.แม่จันจ.เชียงราย กล่าวว่า ท้องถิ่นเริ่มทำงานอย่างเป็นกลไกแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่ ประเทศไทยเอารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดมาเขียน แต่ลืมว่าพื้นฐานวัฒนธรรมเป็นคนศักดินา เหมือนเอาคนป่ามาใส่สูท ดังนั้น ต้องแก้ไขเรื่องการศึกษา ทำให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้เรื่องการใช้อำนาจในส่วนข้าราชการ หรือฝ่ายการเมือง เริ่มต้นเข้าไปทำงานด้วยความตั้งใจ อยากแก้ปัญหา แต่ติดขัดว่ายังมีฐานการเมืองระดับชาติ กลุ่มอิทธิพลทำให้ไม่สามารถนำความคิดตัวเองไปแก้ปัญหาให้ประชาชนเต็มที่ จึงขอเสนอให้แก้ไขระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อขั้นตอนการบริหารงานของ อปท.

น.ส.ภาวิณี เรือนคำเยาวชนจาก อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่เสนอรูปแบบในการจัดการทรัพยากรชุมชนสามข้อ 1.อยากให้มีการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่น มีสภาเด็กและเยาวชนประจำท้องถิ่น ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็งแล้วจะสามารถต่อยอดเป็นสภาเด็กและเยาวชนระดับอำเภอ หรือจังหวัดต่อไป 2.ขอให้มีงบประมาณสนับสนุนที่แน่นอน ไม่ใช่ว่าสภาเด็กอยากทำโครงการ ต้องวิ่งหางบประมาณ 3.เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นๆ เคยพบผู้ใหญ่หลากหลายที่คิดว่าเด็กไม่สำคัญ ผู้ใหญ่คิดว่าตนอาบน้ำร้อนมาก่อน จึงรู้ดีกว่า แต่ผู้ใหญ่ต้องไม่ลืมว่าเด็กในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ถ้าไม่ให้โอกาสในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้าอย่างไร

นายอุดม อิ่นคำ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่คือ อ.ดอยสะเก็ดจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สภาเด็กและเยาวชนอยู่ในกฎหมาย ท้องถิ่นต้องทำองค์การบริหารส่วนตำบลต้องทำ และถ้าเราไม่เตรียมเด็กและเยาวชนไว้จะลำบากเพราะพวกเราอยู่กันอีกไม่ถึง 30 ปี และก็จะไม่ได้ฝึกให้เด็กได้รักท้องถิ่น เด็กที่มาทำงานในตำบล บางคนไม่รู้จักผู้ใหญ่บ้าน หรือสมาชิก อบต. ในชุมชน ความรักชุมชนไม่มี เพราะเด็กเดี๋ยวนี้ตื่นมาก็เดินทางไปเรียนต่างอำเภอ โตขึ้นมาก็ไปทำงานอยู่ในเมือง

ชุมชนเข้มแข็งอยู่ที่สามสิ่งคือ คน กฎหมาย อำนาจ ดังนั้น การกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ต้องลดระเบียบขั้นตอนลงไปอีก อย่างเช่น ทุกวันนี้ผู้บริหาร อปท. ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน แต่เวลาจะยุบจะปลดเป็นอำนาจของนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากนี้ถ้าชุมชนไหนมีการทำประชาคม มีเวทีให้ชาวบ้านได้แลกเปลี่ยนจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งแต่ปัจจุบัน

นี้หลายที่ แม้แต่นายกอปท.กับปลัด อปท.กลับทำงานไม่เข้าขากันไปคนละทิศละทางบางอำเภอนายอำเภอบางคนให้ผู้ใหญ่บ้านกับนายก อปท.ไม่เข้ากัน เพราะผู้ใหญ่บ้านเป็นลูกน้องนายอำเภอ นอกจากนี้ เดี๋ยวนี้ผู้ใหญ่บ้านเลือกกำนัน ไม่ใช่ชาวบ้านเป็นคนเลือก ดังนั้น เอาเหล้าเลี้ยงกันก็ได้เลือกเป็นกำนันแล้ว เพราะประชาชนไม่ได้เลือกกำนันโดยตรง

นายประดิษฐ์ เกษวรภัทรา รองประธานคณะกรรมการศูนย์พัฒนาครอบครัว ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเป็นข้าราชการเกษียณ เห็นว่า อปท.ยังขาดการให้ความรู้ประชาชนเรื่องบทบาทหน้าที่ ว่า อปท. มีบทบาทหน้าที่อะไร ถ้ามีการปรับความเข้าใจกันกับประชาชน จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพราะต่างรู้บทบาทหน้าที่กัน แต่ตอนนี้เหมือนนักมวยที่ตั้งการ์ดต่อกัน โดยเชื่อว่าระหว่างอปท.และประชาชนมีความเข้าใจกันความร่วมมือจะเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว

นายสมบูรณ์ พรหมมินทร์รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เงิน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เสนอว่า น่าจะมีการแก้ไขกฎหมายในการเลือกตั้ง สมาชิก อปท.และผู้บริหาร อปท.โดยแก้ไขกฎหมายในประเด็นที่มาของตัวแทนเหล่านี้ อาจมีแนวข้อสอบภาคความรู้ความสามารถ แทนการเข้ามาดำรงตำแหน่งโดยอาศัยบารมี พวกมากลากไป โดยไม่ได้คำนึงถึงคนที่มีความพร้อม ดังนั้น ต้องมีการคัดกรอง มีเกณฑ์ประเมินความรู้ความสามารถคุณธรรม จริยธรรม นอกจากนี้ ชุมชนควรมีส่วนร่วมจัดทำหลักสูตรสำหรับท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่น รู้จักบทบาทหน้าที่ อปท.

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเสนอในเวที” สมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป: ภาคเหนือ” ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดจะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคมนี้ด้วย

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code