‘ท้องถิ่นปลอดเหล้า ชุมชนสร้างได้’
ประเพณีท้องถิ่น ตลอดจนงานเลี้ยง งานบุญต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เพียงทำให้ร่างกายผู้ดื่มเสื่อมโทรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม อีกด้วย
‘ท้องถิ่นปลอดเหล้า…เราทำได้’ กิจกรรมดีๆ ที่จัดขึ้นโดย ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมี 4 ชุมชน ต้นแบบท้องถิ่นปลอดเหล้าจาก จังหวัดพิจิตร น่าน เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์การทำงาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการดำเนินงาน ให้กับ 15 ชุมชนท้องถิ่น ที่ต้องการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้ชุมชนของตนปลอดเหล้า
อาจารย์สุรพล เหลี่ยมสูงเนิน ผู้จัดโครงการสร้างสรรค์โอกาสและพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ พูดถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพบต้นแบบ ในครั้งนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ นำองค์ความรู้เดิมของทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาแลกเปลี่ยน แนวทางการดำเนินงาน ประสบการณ์ ตลอดจนเทคนิคและเงื่อนไข ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน ‘ท้องถิ่นปลอดเหล้า’ มาถ่ายทอดให้กับกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่สนใจ ได้นำความรู้ไปพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ไปยังชุมชนของตนได้เอง
บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มต้นด้วย สมชาย สิทธิกา ประธานสภา อบต.น้ำเกี๋ยน จ.น่าน ต้นแบบท้องถิ่นปลอดเหล้า ได้เล่าประสบการณ์การทำงานกับชุมชนว่า เหล้าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว สุขภาพ โรคร้าย และอุบัติเหตุ ตนจึงร่วมกับชาวบ้าน วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ สถานีอนามัย ทำ ‘โครงการท้องถิ่นปลอดเหล้า’ และจัดเวทีชาวบ้านขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเหล้า ระดมชาวบ้านมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตอนแรกก็มีบ้าง ที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่ให้ความสนใจ ผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่สนใจจึงรวมกลุ่มกันในนาม ’42 ขุนศึก’ แกนนำชุมชนเลิกเหล้า เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชาวบ้าน
สมชาย บอกอีกว่า เมื่อมีผู้นำเป็นแบบอย่าง ชาวบ้านก็เริ่มมีความสนใจ และมั่นใจมากขึ้น จึงเริ่มปฏิบัติตาม หลังจากนั้นเวทีชาวบ้านที่จัดขึ้นก็เริ่มมีคนมาร่วมแสดงความคิดเห็น ตำบลเริ่มสร้างกฎเกณฑ์ในชุมชนโดยเกิดจากคนในชุมชนกำหนดเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการร้านค้าปลอดเหล้า งานศพ งานบุญปลอดเหล้า กิจกรรมส่งเสริมการเลิกเหล้า โดยเน้นเยาวชนเป็นหลัก ทั้งกิจกรรมค่ายพักแรม ที่ให้ครอบครัวในชุมชน เข้าร่วมเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และแลกเปลี่ยนแก้ไขปัญหาเรื่องเหล้าร่วมกัน
ประธานสภา อบต.น้ำเกี๋ยน ยังบอกอีกว่า วิสัยทัศน์ของการดำเนินงานให้ตำบลน้ำเกี๋ยนเป็นท้องถิ่นปลอดเหล้า คือ ‘กินอิ่ม นอนอุ่น มีสุขภาพดี’ ซึ่งหมายถึง ความต้องการให้ชาวบ้านมีชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดี ทรัพย์สินปลอดภัย ไม่มียาเสพติด และการพนัน
ด้าน ครูจันทร์ โต๊ะสิงห์ ครูโรงเรียนบ้านเสียว จ.ศรีสะเกษ พูดถึงการขับเคลื่อน ‘บ้านเสียว’ ให้เป็นท้องถิ่นปลอดเหล้าว่า เนื่องจากค่านิยมของชุมชนเกี่ยวกับการจัดงานบุญ อย่างเช่น งานทอดกฐิน งานวัด หรืองานอื่น ๆ เช่น งานศพ ชาวบ้านจะต้องเลี้ยงเหล้า ครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านเสียว รวมทั้งวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงร่วมกันจัดตั้ง “เสียว โมเดล” ขึ้น มีสโลแกนที่ว่า ‘ตำบลเสียว งดเหล้า เข้ากระดูกดำ’
โดยกำหนดจุดเสี่ยงในชุมชน ทำประชาคมกับชาวบ้านเกี่ยวกับงานบุญ งานศพปลอดเหล้า และกำหนดสถานที่สำคัญของชุมชนอย่างเช่น วัด โรงเรียน สถานีอนามัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นสถานที่ปลอดเหล้า นอกจากนี้ยังจัดตั้งโครงการ ‘ร้านค้าคุณธรรม’ โดยขอความร่วมมือกับคนขาย รวมทั้งคนซื้อ ในการกำหนดขายเหล้าเป็นเวลา คือช่วง 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. อีกทั้งห้ามขายวันพระ และห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
ครูจันทร์คนเก่ง ยังบอกอีกว่า จากความตั้งใจจริงของผู้นำและชาวบ้านในชุมชน ทำให้ปัจจุบัน ‘บ้านเสียว’ เป็นชุมชนต้นแบบปลอดเหล้าอย่างแท้จริงและยังคงดำเนินงานต่อไปอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการซักถาม แนะนำ และเสนอแนวทางการดำเนินงานระหว่างผู้เสวนา และผู้ร่วมกิจกรรมอีกด้วย โดย ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก ทิ้งท้ายถึงหลักการดำเนินงานที่สำคัญแก่ผู้อบรมว่า
“ผู้นำชุมชนต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ในการสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่น ชาวบ้านต้องร่วมมือกันทำงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องมีการรณรงค์ผ่านเด็ก เยาวชนและกลุ่มสตรี มีการใช้ทุนทางสังคมโดยให้ พระ ครู เป็นผู้ให้ความรู้ และร่วมสร้างจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชน อีกทั้งยังต้องสื่อสารกับชุมชนอยู่เสมอ รวมทั้งขยายเครือข่ายการร่วมมือ และที่สำคัญคือ ต้องทำ ‘เรื่องปลอดเหล้า’ ให้กลายเป็น ‘วิถีของชุมชน’ ด้วย”
เสมือนกับการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามไว้ใน ‘หัวใจ’ คน เมล็ดพันธุ์นั้นย่อมผลิบานเติบใหญ่อยู่ในหัวใจเขาสืบไป…
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์