ท่องเที่ยวธรรมชาติ “แม่กำปอง”
สัมผัสลมหนาวหมู่บ้านกลางขุนเขา
เข้าสู่ฤดูหนาวที่ไร สถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวคงหนีไม่พ้นแหล่งท่องเที่ยวทางภาคเหนือ ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวไปเยือนแต่ละจังหวัดของภาคเหนือนับแสนนับล้านคน ด้วยสภาพภูมิประเทศแบบป่าเขาทำให้อากาศหนาวเย็นเป็นที่น่าสัมผัสของใครหลายๆ คน
ห่างออกไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ 50 กิโลเมตร ที่ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งซ่อนตัวอยู่กลางขุนเขา นั่นคือ บ้านแม่กำปอง
บ้านแม่กำปอง ถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี
ประวัติการก่อตั้งบ้านแม่กำปองมีอยู่ว่า กลุ่มคนที่มาตั้งรกราก ณ ที่นี้ คือคนพื้นเมืองจากอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มาหาที่กินบริเวณนี้โดยการเก็บเมี่ยงขาย บ้านแม่กำปองเป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง มีอายุมากกว่า 100 ปี ในอดีตบริเวณใกล้ลำห้วยภายในหมู่บ้านจะพบดอกไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีสีเหลืองแดงผสมกัน ชาวบ้านเรียกชื่อดอกไม้นี้ว่า “ดอกกำปอง” จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านซึ่งเกิดจากการนำเอาชื่อดอกไม้มารวมกับชื่อแม่น้ำ จนได้ชื่อว่า “บ้านแม่กำปอง” และเติบโตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันบ้านแม่กำปองมี 135 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 400 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเก็บใบเมี่ยง เก็บกาแฟ เก็บใบชา และที่เข้ามาเสริมล่าสุดคือรายได้จากโฮมสเตย์
ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีลำธารไหลผ่านหมู่บ้าน และป่าไม้ที่สมบูรณ์ สภาพอากาศที่นี่จึงเย็นสบายตลอดปี ส่งผลให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำใช้ในการบริโภคและทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ปริมาณน้ำยังมีมากพอสำหรับการสร้างฝายกั้นน้ำนำมาปั่นเป็นพลังงาน กระแสไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาตินี้เองทำให้เมื่อไม่กี่ปีก่อนหมู่บ้านแม่กำปองเริ่มมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนอย่างไม่ขาดสาย
นายพรหมมินทร์ พวงมาลา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันคุ้นปากว่า พ่อหลวงพรหมมินทร์ ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านและเป็นผู้นำชุมชน เล่าว่า บ้านแม่กำปองมีจุดเด่นในการท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ ด้านเกษตร ด้านสุขภาพ และด้านวัฒนธรรม แต่เรียกรวมว่า “การท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์” เรามีโฮมสเตย์ ซึ่งถ้านักท่องเทียวเข้ามาหมู่บ้านนี้แล้วก็จะได้มาดูสภาพความเป็นอยู่ของหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มาดูกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มอาชีพ เช่น การทำหมอนใบชา เครื่องจักรสาน และป่าสมุนไพรที่หายาก เป็นต้น โดยเรามีเส้นทางเดินป่า เรียกว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อไปดูสวนเมี่ยง สวนกาแฟ ดูต้นน้ำ และพักผ่อนน้ำตกได้ด้วย
สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะมีอยู่ด้วยกัน 3 เส้นทาง คือ ระยะทางสั้น ใช้ระยะเวลาไม่นานนักประมาณ 2 ชั่นโมงในการเดินทางไป-กลับ ระยะกลางใช้เวลาเดินทางไป-กลับไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง และระยะยาวจะต้องใช้เวลาไป-กลับไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง ซึ่งสามารถเดินไปถึงดอยม่อนล้าน ยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง อย่างสวยงาม
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการผจญภัยที่บ้านแม่กำปองก็มี “flight of the gibbon” หรือการโหนสลิงไว้คอยต้อนรับซึ่งเป็นของเอกชนที่มาเปิดให้บริการ โดยเจ้า gibbon นี้นักท่องเที่ยวจะต้องห้อยโหนสลิงเหนือผืนป่าเพื่อไปยังจุดต่างๆ ที่มีอยู่ต้นไม้ โดยแบ่งเป็นฐานความยากง่าย ความน่ากลัว หวาดเสียว รวมไม่ต่ำกว่า 10 จุด ใช้เวลาเล่นประมาณ 5-7 ชั่วโมง
จุดเด่นการท่องเที่ยวของบ้านแม่กำปอง คือ เรื่องของการบริหารจัดการรวมถึงวิถีชีวิต ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ปกติกลุ่มคนที่อยู่บนที่สูงส่วนมากแล้วมักจะเป็นชาวเขา แต่ที่บ้านแม่กำปองนี้เป็นคนพื้นราบเป็นคนเมือง แต่มาอยู่บนที่สูงได้ ซึ่งผู้ที่มาเยือนก็จะสงสัยว่าเมื่อคนพื้นราบมาอยู่เค้าจะอยู่กันยังไง มีวิถีชีวิตยังไง ทำมาหากินอย่างไร เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่เพียบพร้อม แต่ชาวบ้านแม่กำปองสามารถที่จะจัดการเรื่องนี้ได้และอยู่อย่างไม่เดือดร้อน
ส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริหารจัดการบ้านแม่กำปองแห่งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน นั่นคือการส่งเสริมและสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่ได้นำเอาแนวคิดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ จนประสบผลสำเร็จได้เป็น 1 ใน 20 หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
update: 08-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร