ทึ่ง! ช้อนตักปลา กึ๋นไทบ้าน
ได้ปลาโดยไม่ต้องพึ่งเหยื่อล่อ
สองคอนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในเขตตำบลสองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านติดกับแม่น้ำโขง สายน้ำที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์อีกแห่งของโลก และด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านกว่า 300 คนในที่แห่งนี้มีชีวิตผูกพันกับสายน้ำแห่งนี้จนมิอาจขาดจากกันได้
คนภายนอกรู้จักหมู่บ้านแห่งนี้เพราะหาดสลึงและสามพันโบก แหล่งท่องเที่ยวอันงดงามในสายน้ำโขง และพืชริมโขงอย่างถั่วลิสง คุณภาพชั้นเยี่ยมที่ถูกส่งไปขายเลี้ยงชีวิตคนไกลถึงจังหวัดนครราชสีมา
แต่นอกจากสองสิ่งที่กล่าวไปแล้วนั้น ณ หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีเครื่องมือหาปลาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแสดงถึงองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของคนหาปลาลุ่มน้ำโขง ชาวบ้านเรียกเครื่องมือดังกล่าวว่า “ช้อนตักปลา” ซึ่งอยู่คู่กับคนบ้านสองคอนมาหลายทศวรรษ
นายเรืองประทิน เขียวสด อาจารย์โรงเรียนบ้านสองคอนและคนในพื้นที่ เล่าว่า ช้อนตักปลาทำมาจากไม้ไผ่และตาข่าย เป็นเครื่องมือหาปลาที่ไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ แต่อาศัยองค์ความรู้ ที่ต้องใช้เวลาในการสั่งสมจาการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำโขงกับปลา เป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นปู่สังกะสาย่าสังกะสี คนหาปลาที่ใช้ช้อนตักปลาได้นั้นต้องรู้ว่าร่องน้ำตรงหน้าผาหินจุดไหนเป็นเส้นทางการว่ายอพยพของปลา ที่ต้องว่ายตามริมฝั่งเพื่อเลี่ยงความแรงของกระแสน้ำและพยายามว่ายให้ตัวพ้นผิวน้ำ ชาวบ้านเรียกจุดดังกล่าวว่าลวงตักปลา โดยลวงแต่ละลวงจะมีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์การใช้ประโยชน์และหากเจ้าของเดิมเสียชีวิตหรือเลิกหาปลาแล้วกรรมสิทธิ์ดังกล่าวก็ยังคงตกทอดเป็นของลูกหลานต่อไป เป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับคนสองคอนมาอย่างยาวนาน นานจนเป็นมรดกให้ลูกหลาน
ด้วยความผูกพันของคนกับช้อนตักปลา คนบ้านสองคอนจึงได้จัดให้มีประเพณีตักปลาขึ้นในวันที่ 24 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2552 นี้ เป็นการจัดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไป ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีทั้งการแข่งขันตกปลา การประกวดทำอาหารจากริมโขง และการเสียเคราะห์ต่อชะตาให้แก่แม่น้ำโขงสายน้ำแห่งชีวิต เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่จะสืบสานภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาวประมงลุ่มน้ำโขงบ้านสองคอนให้คงอยู่คู่กับคนสองคอนและสายน้ำโขงตลอดไป รวมทั้งคาดหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการบอกเล่าว่าน้ำโขงสำคัญต่อชีวิตของพวกเขา และชีวิตของพวกเขามีความงดงามเพียงใด เป็นความงดงามที่พร้อมให้คนภายนอกได้มองเห็นและร่วมทราบซึ้งกับความงดงามนั้น
ที่มา : ศูนย์ข่าวประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี fm 103.5 mhz
update 22-01-52