ที่ไม่ทำแท้งก็มีไม่น้อย!!
‘เด็กหญิงแม่‘หลังลอยกระทงเพิ่มอีก ?
กระแสข่าวครึกโครมกรณีมีการพบศพทารกวัยก่อนครบกำหนดคลอดจำนวนมาก และตามมาด้วยการตรวจพบว่ามีที่มาจากการ “ทำแท้ง” นั้น สร้างความสะเทือนใจให้ผู้คนในสังคมในวงกว้าง แล้วก็เช่นเคย…คือตามด้วยกระแสข่าวการจะควบคุมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่สุดเรื่องนี้จะซาหายไปอีกหรือไม่ ก็ต้องรอดู
ที่แน่ๆ กรณีแบบนี้มิใช่มีแค่เรื่องการทำแท้งเท่านั้น…กรณีเด็ก – วัยรุ่นหญิง “ท้องก่อนวัยอันควร” ก็เพียบ!!
ทั้งนี้ จากสถิติของโรงพยาบาลรามาธิบดี ยุคนี้เด็ก – วัยรุ่นหญิงในเมืองไทยมีการตั้งครรภ์หรือท้อง ถึงปีละประมาณ 50,000 ราย หรือคิดเป็น 20 – 30% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ซึ่งในกลุ่ม 20 – 30% หรือประมาณ 50,000 รายต่อปีนี้ ก็เกิดเป็นปัญหายุ่งๆ ตามมา ทั้งกับตัวผู้ท้องเอง ครอบครัว สังคม และยุคนี้ก็มีการเรียกขานผู้ตั้งท้องก่อนวัยอันควรกลุ่มนี้ว่า “เด็กหญิงแม่” ซึ่งเกี่ยวพันถึงเรื่องการเรียนของผู้ตั้งท้องด้วย
กับเรื่องนี้ พลอย พิมพ์ศิริ นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลองตรวจสอบทั้งกับผู้ที่เป็นเด็กหญิงแม่ และเจ้าหน้าที่ที่ทำโครงการด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแม้นี่จะมิใช่ข้อมูลใหม่หรือลงลึกอะไรมากนัก แต่ก็นับว่ามีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง ซึ่งทุกๆ ฝ่ายน่าจะได้ลองพิจารณา…”มีเพศสัมพันธ์กับแฟนครั้งแรกตอนอายุ 16 และไม่ได้มีการป้องกัน เพราะเชื่อใจแฟนว่าจะไม่หลั่งใน จนเวลาผ่านไป 4 เดือน จึงรู้ว่าตั้งครรภ์ แฟนก็ขอเลิก ต้องลาออกจากโรงเรียนมาเลี้ยงลูก”
…นี่เป็นคำบอกเล่าของ อ้อย (นามสมมุติ) ซึ่งเธอเป็นเด็กที่จัดได้ว่าเรียนดี และก็อยู่ในครอบครัวที่มีสถานะดี แต่กระนั้นก็มิได้ทำให้เธอคนนี้สามารถรอดพ้นจากปัญหาในลักษณะดังกล่าวนี้
นอกจากนี้ นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้สัมภาษณ์วัยรุ่นหญิงอีก 2 คน ซึ่งก็มีช่วงวิกฤตชีวิตเช่นเดียวกับอ้อย โดยทั้ง 2 รายหลังนี้บอกคล้ายๆ กัน ประมาณว่า…การที่ท้องในวัยเรียนนั้น นอกจากการที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ แล้ว อีกปัจจัยสำคัญคือ “ตามเพื่อน” “เพราะวัยเราเป็นวัยที่จะทำอะไรก็มักจะทำตามเพื่อนไว้ก่อน เพื่อนมีแฟนก็ต้องมีตามเพื่อน แล้วถ้าเพื่อนมีเพศสัมพันธ์กับแฟนก็ต้องมีบ้าง เพื่อนจะเข้ามามีอิทธิพลมาก”
ถามถึงเรื่องการป้องกัน การคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัย ซึ่งก็เกี่ยวพันถึงเรื่องโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ด้วย คำตอบที่ได้รับคือ…ในกลุ่มเด็ก – วัยรุ่นนั้นมีจำนวนมากที่เชื่อว่าการที่ผู้ชายสวมถุงยางอนามัยจะเป็นอุปสรรคต่อจังหวะรัก ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเชื่อกันเช่นนี้ และดีที่สุดคือ “ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร” “มีความเชื่อแบบผิดๆ ที่ว่า ถ้าใช้ถุงยางอนามัยแล้วเนื้อจะไม่แนบเนื้อ ไม่มีอารมณ์ร่วมระหว่างมีสัมพันธ์ หรือไม่กล้าที่จะซื้อถุงยางอนามัย หรือกลัวแฟนจะเข้าใจว่าเป็นคนที่ช่ำชองในเรื่องทางเพศ ซึ่งได้พยายามรณรงค์ว่าการซื้อถุงยางอนามัยไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือน่าอับอาย”
…นี่เป็นการระบุของ พรรณอุมา สีหะจันทร์ เจ้าหน้าที่โครงการก้าวย่างอย่างมั่นใจ ของกรมการแพทย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่โครงการรายนี้ยังบอกอีกว่า…ทางโครงการได้หาวิธีการ ได้พยายามที่จะให้ทุก “โรงเรียน” ทั้งสามัญและอาชีวะ มีหลักสูตรการเรียนการสอนในเรื่องเพศศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งนอกจากจะสอนเรื่องเพศแล้วยังเน้นในเรื่องของการ “รักนวลสงวนตัว” สอนเรื่องสังคมและวัฒนธรรมที่ดีงามไปด้วย และที่สำคัญคือสอนเด็กวัยรุ่นหญิงถึงทักษะการปฏิเสธ ให้รู้วิธีปฏิเสธเมื่อคู่รักขอมีเพศสัมพันธ์ ปฏิเสธแบบไม่ให้เสียน้ำใจ
อย่างไรก็ตาม มองในอีกมุมหนึ่งกับปัญหาทางสังคมปัญหานี้ การแก้ปัญหาที่ทำๆ กันอยู่ของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยังมีแนวโน้มอยู่ที่ปลายเหตุ คือปัญหาเกิดขึ้นมาก่อนแล้วจึงหาทางแก้ไขซึ่งหากมองให้ลึกจะพบว่าการที่เด็กวัยรุ่นหญิงตั้งท้องนั้น เกี่ยวพันถึงสถาบัน “ครอบครัว” ที่ทุกคนต้องผูกพันอยู่ อย่างมีนัยสำคัญครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่ต้องอบรมสั่งสอน เป็นสถาบันแรกที่จะป้องกันปัญหาการท้องก่อนวัยอันควร
“การมีเพศสัมพันธ์แม้จะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับการสอนให้เด็กหญิงรักนวลสงวนตัว วางตัวดีและให้ความสำคัญกับการสอนให้เด็กชายรู้จักความเป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญกับการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ขณะเดียวกันแทนที่จะพร่ำบอกลูกว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องลามก ก็ควรเปลี่ยนเป็นเน้นให้เข้าใจเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสมตามวัย สถานภาพ รวมถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ถูกวิธี”…พรรณอุมาระบุทิ้งท้ายทั้งนี้ แว่วๆ ว่าตอนนี้ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านทางองค์กรเอกชนที่ชื่อว่า องค์การแพธ ก็กำลังมีโครงการรณรงค์ลดการเกิด “เด็กหญิงแม่” หรือ “คุณแม่วัยใส” โดยจะมีการทำกิจกรรมในโรงเรียนในเบื้องต้น 33 จังหวัด ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าติดตามสัมฤทธิผล กับการแก้ปัญหา “ท้องก่อนวัยอันควร” ที่กำลังรุนแรง
ปัญหาที่เมื่อผ่าน “คืนลอยกระทง” ก็คงเพิ่มระดับขึ้นอีก?? เพราะก็มีการเรียกขานว่าเป็น “คืนเสียตัว”ไปแล้ว????
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update : 19-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก