ทีพีบีเอส ความแตกต่าง หรือ เงาช่อง 11
คำถามที่รอการพิสูจน์???
ผู้ชมหลายคนคงกำลังจดจ่อกับผังรายการของทีวีสาธารณะแห่งใหม่ด้วยใจจดจ่อ เพราะในช่วงนี้เห็นแต่สารคดีเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดความคิดสงสัยว่า และรายการใหม่เหล่านั้นจะเป็นอย่างไร รายการจะน่าสนใจหรือไม่ และคำถามยอดฮิตคือ แล้วจะแตกต่างจากช่อง 11 ที่เป็นสถานีที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ ที่อยู่ในการดูแลของรัฐบาลหรือไม่
คำถามนี้ชักก้องดังขึ้นเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงทีพีบีเอสแห่งนี้ก็ไม่ได้ทำงานภายใต้หน่วยงานใดทั้งสิ้น เพราะมีกฎหมายและงบประมาณเป็นสัดส่วน มิได้กำหนดขึ้นตามอำเภอใจของรัฐบาลนั้นๆ
ผู้ที่มาไขข้อข้องใจได้ดีที่สุดระหว่างความแตกต่างของทีพีบีเอสและช่อง 11 ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.วิลาสินี อธิบายว่า ก่อนอื่นสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเท่ากับว่ารัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งก็ไม่อยากเรียกว่าทีพีบีเอสเป็นของรัฐเหมือนกัน ความต่างประการแรกคือ รัฐทำหน้าที่ในการจัดสรรทุนผ่านการเก็บภาษีสรรพสามิตที่เก็บได้จาก บุหรี่ สุรา ฯลฯ จำนวน 1.5% ของภาษีทั้งหมดมาส่งให้กับองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งภารกิจหนึ่งคือทีพีบีเอส
“แต่ช่อง 11 ต้องทำเรื่องขอเบิกจ่ายงบประมาณ อยู่ภายใต้การทำงานของกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี สถานะเป็นเหมือนกรมหนึ่งๆ ที่แต่ละปีงบประมาณต้องเสนอของบประมาณ และรัฐบาลก็ต้องอนุมัติงบให้เป็นรายปี ซึ่งทีพีบีเอสรัฐบาลไม่ได้เข้ามาดูแลลักษณะนี้ เพียงแต่กระทรวงการคลังตัดงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตมาให้ ไม่ใช่ต้องมาอภิปรายของบประมาณ เพียงเท่านี้ก็ถือว่ามีความต่างกันแล้ว”
จากข้อมูลของ ผศ.ดร.วิลาสินีที่ได้ให้ว่า เท่ากับว่าแหล่งเงินทุนมาจากแหล่งที่ต่างกัน จึงสิ่งตอกย้ำว่า ทีพีบีเอสจะไม่เหมือนกับช่อง 11 อย่างน้อยการปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐบาลอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ เพราะไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ให้เงิน อย่างน้อยก็สามารถตัดแรงเสียดทานปัจจัยหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งใหม่แห่งนี้ได้ในอีกประการหนึ่ง เนื่องจากใครมีอำนาจชี้ขาดเรื่องเงิน ย่อมมีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายด้วยเช่นกัน
ความต่างที่ 2 ที่ ผศ.ดร.วิลาสินีได้ ให้ความรู้ไว้คือ องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยมีโครงสร้างที่เป็นอิสระ เพราะมีคณะกรรมการนโยบายจำนวน 9 คน ซึ่งถือว่าแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ที่ไม่มี โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้การบริการสถานีเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดูแลให้มีการทำมาตรฐานรายการและข้อกำหนดจริยธรรม รับฟังความคิดเห็นและเรื่องร้องเรียนจากประชาชนตรวจสอบและประเมินผลสถานี และรายงานให้ประชาชนทราบ ฯลฯ
“นับว่าเป็นการออกแบบเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเหมือนกับช่อง 11 บุคลากรของทีพีบีเอสจึงเป็นพนักงานขององค์กรมหาชน เช่นเดียวกับสสส. ไม่ใช่ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด”
ผศ.ดร.วิลาสินี อธิบายต่อถึงในส่วนของเนื้อหาที่มีความแตกต่างเช่นกันว่า ตาม พ.ร.บ.องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้กำหนดมาตั้งแต่แรกแล้วว่า เนื้อหาจะต้องเป็นอย่างไร ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายฯ และจะต้องเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค มีรายละเอียดถึงสัดส่วนของรายการข่าวว่าจะต้องมีน้ำหนักกี่เปอร์เซ็นต์คุณภาพของรายการข่าวเป็นอย่างไร ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงให้ความเห็นอย่างรอบด้าน
“จากโครงสร้างที่เป็นอิสระนี้ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า คุณภาพรายการน่าจะเป็นเรื่องที่ดี และรายการที่ผู้ชมจะได้ชมจะแตกต่างจากช่อง 11 เพราะมุ่งเน้นในการพัฒนาสติปัญญา การเรียนรู้ของผู้ชมทุกวัย จากเดิมที่รายการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอาจไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรในสถานีเชิงพาณิชย์ แต่สำหรับทีวีสาธารณะแล้วสามารถดำเนินได้ โดยไม่ต้องสนใจเรื่องของงบประมาณ”
บทสรุปของทีพีบีเอสในมุมมองของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนท่านนี้ ฟันธงเลยว่า อย่างน้อยก็ถือว่ามีพื้นที่สาธารณะในจอแก้วสำหรับประชาชนมากขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างกับช่อง 11 อย่างสิ้นเชิง
แม้ว่าจากข้อมูลขณะนี้มีความแตกต่างของทีพีบีเอสกับช่อง 11 ดูเป็นเส้นขนานที่ไม่สามารถเทียบชิดกันได้ แต่เมื่อทีวีสาธารณะแห่งนี้ได้แพร่ภาพอย่างเต็มร้อยแล้ว ผู้คร่ำวอดในวงการสื่อสารมวลชนท่านนี้ก็ได้ตั้งคำถามไว้เหมือนกันว่า เรื่องคุณภาพก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิสูจน์เช่นกันว่าจะเป็นอย่างไร
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 29-08-51